อาหารเสริมทำเสี่ยง ‘หัวใจเต้นผิดจังหวะ’

อาหารเสริมทำเสี่ยง ‘หัวใจเต้นผิดจังหวะ’ 
         
ในยุคนี้ที่ผู้คนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น พี่หมอคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยนะครับ เพราะการดูแลนั้นทำได้ง่ายกว่าการรักษาและยังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าด้วย แค่เราเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง รวมถึงอาจจะใช้อาหารเสริมเป็นตัวช่วยบ้างในบางกรณี ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว อาหารเสริมยังช่วยชะลอวัยและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกด้วย 
         แต่ก่อนที่จะตัดสินใจซื้ออาหารเสริมมากิน พี่หมอแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะถ้าเรากินอาหารเสริมที่ไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย หรือไปซื้ออาหารเสริมที่ไม่ได้มาตรฐานมากินก็อาจเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายได้ ซึ่งหนึ่งในอาการผิดปกติที่แพทย์มักจะตรวจพบจากผู้ที่กินอาหารเสริมก็คือ ‘ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ’
         ไม่น่าเชื่อเลยใช่มั้ยล่ะครับว่า แค่อาหารเสริมจะทำให้หัวใจของเราเต้นผิดจังหวะได้ ส่วนรายละเอียดของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร มีอาหารเสริมประเภทไหนบ้างที่เราควรหลีกเลี่ยง พี่หมอจะเล่าให้ฟัง หลังจากที่เราทำความรู้จักกับ ‘ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ’ กันก่อนนะครับ 
 
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
         ปกติอัตราการเต้นของหัวใจคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที คนที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะก็คือหัวใจอาจจะเต้นเร็วหรือช้าไป ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของการนำกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง และอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้ โดยอาการที่สามารถสังเกตได้ก็คือ หน้ามืด ตาลาย วิงเวียน ใจสั่น หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลม หรือบางรายอาจถึงขั้นหมดสติได้ครับ
 
สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มาจาก 2 ปัจจัยคือ  
     ·      ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สภาพแวดล้อม สภาพอากาศที่ร้อนจัด ความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การกินอาหารเสริมที่ส่งผลต่อหัวใจ
     ·      ปัจจัยภายใน ได้แก่ อายุที่มากขึ้น โรคประจำตัว เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคไหลตาย เป็นต้น 
กลุ่มอาหารเสริมที่ส่งผลให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ มีหลายกลุ่ม เช่น 
     ·      อาหารเสริมลดความอ้วน เช่น ยาลดความอยากอาหาร (กลุ่ม Fenfluramine) ที่ทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้น ยาลดความอยากอาหารและเร่งการเผาผลาญ (กลุ่ม Sibutramine) ซึ่งจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง ใจสั่น เจ็บหน้าอก นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้อีกด้วย ยาไทรอยด์ (Thyroxine) ส่งผลให้ภาวะไทรอยด์ทำงานหนัก ความดันสูง ใจสั่น และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มาเตหรือชาบราซิล (Maté) ก็ทำให้ใจสั่นและหัวใจเต้นเร็วได้เช่นกัน 
     ·      ยาเพิ่มสมรรถนะทางเพศ เช่น ยากลุ่มกระตุ้นการแข็งตัวขององคชาต (Sildenafil, Vardenafil, Tadalafil acetildenafil, Hydroxyacetildenafil, Hydroxyhomosildenafil, Piperidenafil) ซึ่งจะทำให้ร้อนวูบวาบตามเนื้อตัว มึนงง ใจสั่น และความดันตก
     ·      ยาเพิ่มสมรรถนะร่างกายในนักกีฬา เช่น ยาสังเคราะห์กลุ่มฮอร์โมนเพศชาย (19‐Norandrosterone, Metandienone, Stanozolol, Testosterone) ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
 
         ดังนั้น ก่อนที่จะซื้ออาหารเสริมมากิน ควรศึกษาข้อมูลและตรวจสอบแหล่งผลิตของผลิตภัณฑ์นั้นให้ดีๆ เพราะถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เราจะได้บอกคุณหมอที่ทำการรักษาได้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเพื่อความปลอดภัย 
         แถมท้ายวันนี้ด้วยเรื่องการตรวจวินิจฉัยและการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าเรารู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ครับ

วิธีการตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 
         การตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้นสามารถทำได้จากการตรวจกราฟหัวใจหรือที่เรารู้จักกันดีว่า EKG หรือ ECG (Electrocardiography) ซึ่งก็พอจะบอกได้คร่าวๆ ว่า หัวใจของเรายังเต้นปกติดีหรือไม่  สำหรับคนที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เวลาที่มาตรวจร่างกาย แพทย์ก็จะแนะนำให้ตรวจอยู่แล้ว แต่ถ้าหากหัวใจไม่ได้เต้นผิดจังหวะในช่วงที่ตรวจด้วยเครื่อง ECG ก็มีความเป็นไปได้ที่จะตรวจไม่พบ ดังนั้น สำหรับคนที่เริ่มมีอาการใจสั่น หน้ามืด เป็นลม มึนงง หรือวิงเวียนบ่อยๆ พี่หมอแนะนำว่าควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้เร็วที่สุดเลยนะครับ ห้ามชะล่าใจโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจที่ละเอียดกว่า ECG นั่นคือการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitor) เพื่อดูความผิดปกติของกราฟหัวใจ หรืออาจจะใช้วิธีการตรวจที่เรียกว่า EP Study (Electrophysiology Study) ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ โดยวิธีนี้จะช่วยหาตำแหน่งของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถกำหนดแนวทางการรักษาได้ง่ายขึ้นด้วยครับ   

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
        ในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุและความรุนแรงของโรค เช่น ผู้ที่เป็นไทรอยด์ฮอร์โมนตํ่าหรือเป็นพิษ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถ้ารักษาอาการต้นเหตุนี้หายแล้ว ก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ แต่สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือกินยาบางชนิด แพทย์ก็จะแนะนำให้ลดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายเหล่านี้ หรือให้หยุดยาชนิดนั้นไปเพื่อรักษาอาการ ส่วนในรายที่อาการไม่รุนแรงมาก แพทย์ก็อาจจะเพียงแค่ให้ยามากินและติดตามผลต่อไป
        นอกจากนี้ ยังมีการรักษาโดยการจี้ไฟฟ้า (Radiofrequency Ablation) ซึ่งเหมาะสำหรับการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็วและกลุ่มโรคหัวใจเต้นพลิ้ว (AF)  โดยการรักษาจะเข้าไปถึงหัวใจ โดยการเจาะเส้นเลือดที่ขาหนีบ หลังจากนั้นจะนำสายที่ใช้ในการจี้กระแสไฟฟ้าไปวางไว่ในห้องหัวใจตามตำแหน่งที่เหมาะสม  วิธีการนี้ใช้เวลาหลายชั่วโมงแล้วแต่ชนิดของโรค ใช้เวลานอนพักฟื้น ในโรงพยาบาลเพียง 1-2 คืน เท่านั้น 
อีกวิธีหนึ่งเป็นการรักษาโดยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Permanent Pacemaker) เข้าไปในช่องอก โดยเครื่องจะทำหน้าที่คอยส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจทำให้หัวใจเต้นได้ปกติเเละช่วยลดอาการจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้น ซึ่งวิธีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจทำโดยใส่สายกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Leads) เข้าไปในห้องหัวใจผ่านทางเส้นเลือดดำใหญ่และติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pulse Generator) เข้ากับสายกระตุ้นเเละฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก ซึ่งถือว่าเป็นการผ่าตัดเล็ก นอนพักใน รพ.1-2 คืนเท่านั้นครับ
         แม้ว่าภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะการลดความเสี่ยงสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มกาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงความเครียด นอกจากนี้ การกินอาหารที่มีประโยชน์ กินผักให้มากกว่าเนื้อสัตว์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจร่างกายเป็นประจำก็ช่วยลดโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้แล้วครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่