วิธีนี้สามารถทำให้บรรลุธรรมได้ไหมครับ

ยิ้ม
         ในขณะนั้น ผู้ปฏิบัติไม่สามารถจะให้ความรู้สึกนึกคิดน้อมไปทางไหนได้ทั้งนั้น ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องคอยจนกว่าจิตมันจะออกมาจากสภาพเช่นนั้นแล้ว ถอยมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิ คือจิตมีลักษณะสว่างและรู้อยู่ในบริเวณกว้างๆ สามารถที่น้อมเอาอารมณ์อื่นๆ มาเป็นเครื่องพิจารณาได้ ในตอนนี้เราก็รีบหยิบยกเอาสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมาพิจารณา คือพิจารณา รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์โดยการน้อมนึกคิดพิจารณาเอา อย่างที่เราเคยเรียนเคยรู้มาจากตำรับตำรา เช่นว่า รูปํ อนิจจัง รูปไม่เที่ยงเวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เราก็นึกเอา 

          ทีนี้ในเมื่อเรานึกเอาเช่นนั้นแล้ว บางทีในขณะที่ เรากำลังนึกกำลังพิจารณาอยู่นั้น จิตทำท่าจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปล่อยให้มันสงบลึกลงไป ในเมื่อมันสงบลึกลงไปแล้ว บางท่านก็ไปสงบนิ่งอยู่เฉย และบางท่านเมื่อจิตสงบไปแล้ว จิตปฏิวัติ ตนไปสู่ความรู้ความเห็นซึ่งผุดขึ้นโดยอัตโนมัติ นี้เรียกว่า ปริยัติภายในมันเกิดขึ้น ในเมื่อความรู้ความเห็นมันผุดขึ้นเป็นระยะๆ เช่นนั้น ผู้ปฏิบัติก็ตั้งสติ กำหนดจิตรู้ตามอาการเหล่านั้น มันจะเป็นไปอย่างไรก็ตาม ถ้าหากมันอยู่ในสายความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติ ก็ปล่อยให้จิตมันดำเนินไปตามวิถีทางแห่งความรู้ซึ่งมันผุดขึ้น แต่ในเมื่อรู้แล้วอย่าไปหลงในความรู้ เห็นแล้วอย่า ไปหลงในความเห็น เพียงแต่กำหนดจิตรู้ตามสิ่งที่ปรากฏขึ้นหรือความรู้ที่ปรากฏขึ้น ถ้าหากว่าจิตมันจะไปหลงเพลิดเพลินในสิ่งนั้นจนเกินไป ก็สำนึกว่ารู้ก็สักแต่ว่ารู้ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน อันนี้สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยย่อมปฏิบัติได้ง่ายอย่างนี้ 

          ถ้าหากผู้มีอุปนิสัยอ่อนลงมาหน่อย ในเมื่อใช้ความคิดพิจารณาตามที่กล่าวแล้ว จิตไม่สามารถให้เกิดความรู้อย่างนั้น ก็หยุดพิจารณาเสีย แล้วบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะเอาคำว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา” มาบริกรรมภาวนาจนกว่าจิตจะสงบนิ่งลงไปเป็นอัปปนาสมาธิ แล้วจิตถอนจากความเป็นอัปปนาสมาธิมานิดหน่อย แล้วจะเกิดผุดรู้ผุดเห็นเป็นอัตโนมัติ 

         ตามที่กล่าวมาแล้ว อันนี้แล้วแต่ความฉลาดของนักปฏิบัติจะใช้ความสังเกตดูที่จิตของตัวเอง ซึ่งบางทีความรู้ความเห็นความเป็นภายในจิตนั้นอาจจะไม่ตรงกันกับตำรับตำราที่เราเคยเรียนมาก็ได้เพราะว่าสิ่งใดซึ่งเป็นสัจธรรม สิ่งนั้นย่อมเป็นของจริง จริงอย่างที่ใครๆ เรียกชื่อหรือบัญญัติศัพท์ที่จะเรียกชื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกก็มี หรือแล้วแต่วาสนาบารมีของใคร 

          เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้กันด้วยจิตด้วยใจตามที่กล่าวอธิบายมานี้ ท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจได้แล้วกระมังว่า การบำเพ็ญจิตเกี่ยวกับสมณธรรมนั้นสมถะกับวิปัสสนามันพรากจากกันไม่ออก 

ในช่วงที่จิตไม่สงบนั้นเราก็ใช้อารมณ์มาพิจารณา ตามที่กล่าวมาแล้ว 
ในช่วงที่จิตมันจะสงบ เราก็ปล่อยให้มันสงบไปเราพิจารณาไปก่อนที่มันจะรู้จริงเห็นจริงอย่างแท้จริงนั้น จิตจะต้องหยุดนิ่งเข้าสู่อัปปนาสมาธิบ้างเพียงนิดหน่อยพอสมควร พอได้กำลังแล้วจึงจะมีอาการแวบขึ้นมาแล้วก็รู้จริงขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร 

https://sites.google.com/site/chamcharat2/anapanasati
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่