ขั้นตอนการทำกบไสไม้เอาไว้ใช้เองด้วยไม้ท่อนเดียว_Siam Woodworker

ภาพขั้นตอนการทำกบไม้ถ่ายจากศูนย์ฝึก Woodworking Thai เป็นคอร์สสอนทำกบไม้ของ อ.เชน


 
 
ถ้าใครพอรู้จักช่างไม้ระดับโลกอย่าง James Krenov และพอได้อ่านหนังสือ และเห็นผลงานของเขามาบ้าง ก็จะแอบเห็นว่าแกใช้กบไม้ที่ทำด้วยตัวเองตลอด เพราะพื้นผิวของไม้ที่ผ่านการเสียดสีกับไม้ด้วยกันเอง (อ้างอิงจากบทความของ Krenov) จะให้ผิวสัมผัสที่มันวาวสวยงาม แบบไม่มีอะไรเทียบเคียงได้ ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะในความเป็นจริงสำหรับผู้ใช้กบเหล็กไสไม้ ถ้าได้ลองเอาเศษขี้เลื่อยมาลองถูขัดลงบนพื้นผิวหลังจากเพิ่งไสกบเสร็จ ก็จะได้พื้นผิวที่มันวาวแบบเดียวกับการใช้กบไม้เลย เพราะฉะนั้นการใช้กบไม้ก็เป็นการขัดถูผิวไม้ให้เกิดความันวาวไปในตัวโดยที่ไม่ต้องทำงานสองขั้นตอนนั่นเองครับ
 
สำหรับภาพขั้นตอนการทำกบไม้ที่จะเขียนเนื้อหาลงในบทความอาจจะเป็นเหมือนภาพรวมคร่าวๆ คงไม่ได้ลงขนาดที่ชัดเจนมากครับ เพราะในความเป็นจริงการสร้างกบไม้ใช้เองเป็นเรื่องส่วนบุคคล ขนาดสำหรับท่านหนึ่งก็อาจจะไม่เหมาะกับอีกท่านหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราควรจะลองคิดคำนวนหาขนาดของเราเอง ในบทความนี้พอที่จะถ่ายทอดขั้นตอนการทำคร่าวๆ และเกร็ดเล็กๆน้อยๆในแต่ละส่วนที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เริ่มต้นครับ



ชุดคิทใบกบและชุดปรับใบจาก Veritas เป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับผู้เริ่มต้น เพราะมีหลากหลายขนาดให้เลือกใช้ คุณภาพเนื้อเหล็กที่สมดุลดีๆอย่าง PM-V11 ที่สามารถลับได้คมจัด และคงทนความคมได้นาน ช่วยให้กบไม้ที่เราทำเองมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นครับ สนใจสั่งซื้อชุดคิทกบไม้ของ Veritas กรุณากดไปที่ลิงค์ https://www.siamwoodworker.com/wooden-plane-kit


 
ขั้นตอนที่ 01 : จะเอากบไปทำอะไร
 
เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือจะเอากบไปทำอะไรกันแน่ เพราะกบมีด้วยกันหลายการใช้งาน เราพอจะแบ่งหน้าที่ของกบออกเป็นสี่แบบคร่าวๆได้ดังนี้ครับ
 
01. กบขนาดเล็กเทียบเท่าได้กับ Block Plane หรือกบที่ท้องสั้นที่สุด เอาไว้ทำงานเล็กๆน้อยๆอย่างการลบมุม หรือไสเก็บหน้าไม้หรือชิ้นส่วนเล็กๆ

02. กบในกลุ่ม Jack Plane หรือกบอเนกประสงค์ที่มีความยาวประมาณ 14-15 นิ้ว ใช้เป็นกบครอบคลุมการใช้งานได้หลากหลาย เหมาะกับท่านที่ยังตัดสินใจไม่ได้ชัดว่าจะทำอะไรดีครับ

03. กบในกลุ่ม Jointer Plane หรือกบบรรทัด ที่มีความยาวประมาณ 20-24 นิ้ว ใช้เพื่อปรับหน้าโต๊ะใหญ่ๆให้เรียบเสมอกันครับ

04. กบในกลุ่ม Smoothing Plane หรือกบเก็บผิวที่ใช้แทนกระดาษทราย ในการเก็บผิวในขั้นตอนสุดท้าย ความยาวของท้องกบอยู่ที่ 9-10 นิ้วครับ
 
พอเราได้รูปแบบของกบทีเราต้องการเราก็จะพอกำหนดสัดส่วนความยาวของกบที่เราต้องการจะทำได้อย่างคร่าวๆ ว่าควรจะมีท้องยาวประมาณเท่าไรครับ ในตัวอย่างนี้ผมจะใช้ความยาวประมาณ 10 นิ้วซึ่งมีหน้าที่เป็นเหมือน Smoothing Plane ใช้ในการเก็บผิวชิ้นงานโดยเฉพาะ เพราะข้อเสียของกบไม้คือยังไงชิ้นส่วนที่มีการเสียดสีและจะสึกไปก่อนก็คือไม้ การเอาของที่มีสิทธิเสียหายได้ง่ายไปทำงานหนักๆ อาจจะไม่เหมาะเท่าไร เพราะฉะนั้น Smoothing Plane หรือ Block Plane ก็เป็นทางเลือกที่ดีมากๆในการสร้างกบไม้ตัวแรกครับ


 
ขั้นตอนที่ 02 : เลือกไม้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
 
มาถึงขั้นตอนในการเลือกไม้ที่จะนำมาใช้ทำกบ ซึ่งเราควรจะเลือกใช้ไม้เนื้อแข็งมากที่สุดเท่าที่เราจะพอหาได้ครับ ถ้าเป็นอย่างกบไทยมาตรฐานก็พวก ตะแบก ชิงชัน มะค่า หรือถ้าไม้ฝรั่งก็พวก เมเปิ้ล หรือโอ๊คก็สามารถใช้งานได้อย่างดี (กบญี่ปุ่นใช้ไม้โอ๊คเป็นหลักเลย) ในขั้นตอนการสร้างกบเราจะใช้โครงสร้าง และวิธีการแบบประกบฝาข้างสองด้าน เนื่องจากมีวิธี และขั้นตอนในการทำงานที่ไม่ซับซ้อนมาก และมือใหม่ก็สามารถทำได้โดยง่าย ไม่เหมือนกับวิธีการเจาะปากกบ อย่างกบธรรมศักดิ์ กบช่างแก่ หรือกบของ อ.ประพัฒน์ ที่ต้องใช้ความชำนาญในการทำมากกว่าครับ
 
ในขั้นตอนการเลือกไม้ ถ้าเราผ่าฝาประกับด้านข้างเอาไว้แล้ว ก็ควรจะเลือกวางตำหน่งของฝาข้างให้ทิศทางของเสี้ยนไม้วิ่งไปในแนวทางเดียวกันจากหัวถึงท้ายด้วย โดยควรจะเลือกวางเสี้ยนไม้เวลาไสไม่ให้ท้องกบวิ่งสวนเสี้ยน ให้เสี้ยนไม้วิ่งไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะได้ลดแรงต้านเวลาไสให้น้อยที่สุด และช่วยลดความเสียหายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 


ขั้นตอนที่ 03 : ทำเตียงวางใบกบ และเจาะรูวางกลไกปรับชุดใบ
 
มาถึงขั้นตอนในการทำส่วนของฐานรับชุดใบกบ ซึ่งในตัวอย่างนี้เราจะใช้ฐานที่เอียงตามกบมาตรฐาน 45 องศา โดยเวลาวางใบลงบนตัวฐานใบ เราจะวางให้ส่วนของ Bevel หรือหน้าใบคว่ำลง และให้ท้องใบหงายขึ้นครับ ซึ่งกบลักษณะนี้จะเรียกว่า Bevel Down ที่พบเห็นได้จากกบเหล็กมาตรฐานตั้งแต่เบอร์ 1 - 8 นั่นเอง อีกสาเหตุที่ต้องเลือกองศาของฐานใบ 45 องศา เพราะถ้าจะทำกบในรูปแบบองศาต่ำ (ฐานวางใบอยู่ที่ 12 องศา และวางหน้าใบ Bevel หงายขึ้น และเอาท้องใบคว่ำลง) ถ้าหากใช้ไม้ทำ อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของความแข็งแรง และอาจจะแตกหักเสียหายระหว่างการใช้งานได้ครับ
ที่เหลือก็ทำการ Mark ตำแหน่งและตัดขวาง 45 องศาที่ด้วย Miter Saw ได้เลย หลังจากนั้นก็ตกแต่งพื้นผิวที่ตัดให้เรียบสนิทจริงๆ ถ้าเครื่องขัดกระดาษทรายก็ง่ายหน่อยครับ หรือไม่งั้นก็ใช้กบแต่งเอา หรืออย่างที่มีอุปกรณ์น้อยสุดก็กระดาษทรายแปะลงบนพื้นผิวเรียบๆแล้วก็ออกแรงขัดเอาครับ
 


เครื่องมืออย่าง Disc Sander มีประโยชน์มาก สำหรับการตกแต่งท้องกบให้เรียบ หรือจะใช้กบไสไม้ก็ทำงานได้เหมือนๆ กันครับ
 


หลังจากเราได้ฐานวางชุดใบที่เรียบสนิทแล้วก็เอาไปเจาะเพื่อที่จะทำร่องให้ชุดปรับใบเสียบลงไป โดยลักษณะของร่องจะเป็นทรงแคปซูลยาวๆ เราสามารถใช้ดอกสว่านคว้านเจาะหัวท้ายและใช้สิ่วแกะส่วนที่เหลือเอาครับ ในขั้นตอนที่เราเจาะ จะสะดวกขึ้นมากถ้าได้สว่านแท่นเข้ามาช่วยงาน เพราะเราต้องเจาะรูให้ได้ฉาก 90 องศากับฐานรองใบกบ ซึ่งทำมุม 45 อยู่แล้วกับท้องกบ การใช้สว่านแท่นจะมีพื้นที่เรียบๆให้เราสามารถทำจิ๊กเพื่อประคองไม้ท่อนนี้ให้ฐานรองใบ วางทำมุม 90 องศากับดอกสว่านพอดิบพอดี

 

ขั้นตอนที่ 04 : ประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกัน
 
หลังจากเจาะส่วนของฐานใบเสร็จก็เอาชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกันครับ ขั้นตอนนี้ใช้กาวและปากกาจับไม้บีบอัดเข้าด้วยกัน และทิ้งให้แห้ง 1 คืน เพื่อให้กาวแห้งสนิทจริงๆ ในส่วนของปากกบต้องทดลองเอาใบมาลองวางคร่าวๆ และบีบไม้ชิ้นหน้าให้แคบเข้ามามากที่สุด (หลังจากประกอบเสร็จแล้วค่อยมาขัดให้ปากกว้างออกเองทีหลัง ดีกว่าให้ปากกว้างออกมาตั้งแต่แรก เพราะสำหรับกบที่ใช้เป็น Smoothing Plane ต้องมีปากแคบที่สุดเท่าที่จะทำได้)



หลังจากกาวแห้งแล้วก็ได้เวลาถอดปากกาออกและนำไปขัดตกแต่งทุกๆด้านให้ได้ฉากครับ

 

ขั้นตอนที่ 05 : ติดตั้งฮาร์ดแวร์ และทำไม้ประกับล๊อคระบบปรับใบ
 
หลังจากขัดตกแต่งตัวกบแล้ว ก็เอาเศษไม้ที่เหลือมาตัดตามขนาดให้พอดีๆ ร่องกบส่วนกลาง เพื่อใช้ทำเป็นไม้สำหรับล๊อคประกับตัวระบบปรับใบ ส่วนของฮาร์ดแวร์ในส่วนนี้จะมีแถมมาในชุดของ Veritas เลยครับ พอทำส่วนของฝาประกับไม้เสร็จแล้ว เราก็ทำการเจาะตัวกบและติดตั้งฮาร์ดแวร์ในส่วนอื่นๆ อย่างเพลาตันที่เป็นเหมือนคานงัดช่วยล๊อคชุดใบ และใส่จานกลมเพื่อใช้เป็นที่รองจุดหมุนของชุดปรับใบกบ
 
หลังจากฮาร์ดแวร์ทุกๆส่วนเข้าที่แล้ว ก็ทดลองหมุนปรับใช้งาน และค่อยปรับแต่งจนใช้งานได้ครับ
 


ขั้นตอนที่ 06 : ลับคมและทดลองไสไม้ได้แล้วครับ
 
พอตัวกบประกอบเสร็จสมบูรณ์ก็ได้เวลาจับเอาใบออกมาลับคม และทดลองใช้งานได้แล้วครับ สำหรับกบไม้หลักการในการลับก็เหมือนๆกับกบทั่วๆไป คือคมแรกน่าจะมาจากโรงงานที่ 25-30 องศา เราก็ลับที่คมสองให้กระดกขึ้นมาซัก 1-2 องศา จะช่วยให้ลับได้ไวขึ้นครับ



หลังจากลับคมเสร็จก็ทดลองไสไม้ได้แล้วครับ ถ้ากบทำงานได้ปรกติไม่มีปัญหาอะไร เราก็สามารถลง Wax หรือลงน้ำมันรักษาเนื้อไม้และนำไปใช้งานได้เลย สำหรับรูปทรงของกบ เราสามารถลบมุมลบขอบ และสร้างรูปทรงได้ตามใจชอบถ้าเราไม่ไปรบกวนชิ้นส่วนหลักๆที่ส่งผลต่อการทำงาน ก็ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ครับ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่