“ไตรภูมิ” คัมภีร์จักรวาลวิทยาแห่งสยามประเทศ

ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง “เทพเทวดา” มีอยู่ทุกมุมโลก แม้คนยุคใหม่บางกลุ่มจะพากันปฏิเสธว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางมีอยู่จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนที่เชื่อและศรัทธาเรื่องราวเหล่านี้อยู่อีกมากมายในปัจจุบัน ซึ่งสำหรับคนไทยอย่างพวกเรานี้ ได้รับความเชื่อเรื่องเทพเทวดามาจากศาสนาแห่งปัญญา นั่นคือ “ศาสนาพุทธ”

โดยชาวพุทธแบบเถรวาทอย่างคนไทย มีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเทวดาที่แตกต่างไปจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ค่อนข้างชัดเจน คือ ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าเทพเจ้าจะคอยควบคุมความเป็นไปของชีวิตสรรพสิ่งต่างๆ และโลก ทำให้คนวิงวอนขอให้ช่วยดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ดีแก่ตน และปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป เทพเจ้าจึงดูเหมือนจะเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวฮินดูเป็นอย่างมาก ต่างจากความเชื่อของศาสนาพุทธแบบไทยเรา (เถรวาท) เชื่อเพียงว่าเทพเทวดาคือสิ่งมีชีวิตในภพภูมิต่างๆ เท่านั้น ที่เกิดจากการสะสมบุญบารมี ถึงแม้ชื่อเทพของศาสนาพุทธจะพ้องกับชื่อของเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูบางองค์ก็ตาม แต่หากศึกษากันดีๆ แล้วจะพบว่าเป็นคนละองค์กัน เช่น พระอินทร์
พระอินทร์ หรือ ท้าวสักกะ

พระอินทร์ของพุทธสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้น “ดาวดึงส์” ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา แล้วชื่อของ “พระอินทร์” หรือ “ท้าวสักกเทวราช” นี้  ได้มีปรากฏอยู่ใน “พระไตรปิฎก” หลายพระสูตรด้วยกัน จึงถือได้ว่าพระอินทร์นี้ เป็นจอมเทพที่มีชื่อเสียงอย่างมาก และมีบทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนาหลายประการเลยทีเดียว

ต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล

“โลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?” เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ยามแหงนหน้ามองท้องฟ้าที่มีหมู่ดาวดารานับพัน คนไทยโบราณก็ไม่ต่างไปจากเราเท่าไหร่ พวกเขาต่างก็เคยสงสัยในความลับนี้ และได้ส่งต่อแนวคิดเกี่ยวกับการกำเนิดของสรรพสิ่งได้อย่างพิสดาร และน่าอัศจรรย์ใจเอาไว้ให้เราคนรุ่นหลังได้เรียนรู้

โดยตามคติพุทธเล่าว่า แรกเริ่มก่อนที่จะมาเป็นจักรวาลอย่างที่เราเห็นนั้น จักรวาลนี้เต็มไปด้วย “น้ำ” มีความมืดมนอนธการจนไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้ ซึ่ง ณ เวลานั้น จักรวาลยังไม่มีดวงอาทิตย์ ไม่มีดวงจันทร์ หรือหมู่ดาวน้อยใหญ่ มีเพียง “สัตว์” จำพวกหนึ่งอาศัยอยู่ในภพที่เรียกว่า “อาภัสสราพรหม” ซึ่งเป็นพรหมชั้นที่ ๖ หรือ “อาภัสสราภูมิ” สัตว์นั้นมีรัศมีเรืองรอง ไม่มีเพศ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ มีวิมานวิจิตรตระการตาเป็นที่พำนัก และมีอายุขัยยืนยาวนาน
สัตว์ในชั้น “อาภัสสราพรหม”

เมื่อสัตว์จุติลง (ตาย) ก็ได้ท่องเที่ยวไปมาในอากาศ แต่ยังมีวิมานและรัศมีเรืองรองออกจากกาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับโลกเก่าได้พินาศลง และกำลังค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ พร้อมกับการปรากฏขึ้นของ “ง้วนดิน”

“ง้วนดิน” ที่ว่ามีลักษณะคล้ายเนยข้นหรือเนยใสอย่างดี มีกลิ่นหวานหอม และรสชาติยั่วยวน สัตว์ที่เพิ่งจุติ (อาภัสสราพรหม) จึงลิ้มลองง้วนดินนั้น พอได้ชิมก็เกิดความอยาก พยายามจะกินมากขึ้น จากนั้นรัศมีที่เรืองรองรอบกายก็หายไป ด้วยเหตุนี้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ กลางวัน กลางคืน และฤดูกาลจึงปรากฏ
นี่คือการอธิบายจุดเริ่มต้นของจักรวาลในคติพุทธ ที่สรุปได้ว่าจักรวาลถือกำเนิดมาจาก  “ความอยาก” หรือ “กิเลส”


“มนุษย์” ถือกำเนิดมาจาก “พรหม”
หลังจากสูญเสียรัศมีจากกาย สัตว์เหล่านั้นยังคงเพลิดเพลินกับการกินง้วนดินอย่างต่อเนื่อง จน “กายหยาบ” เริ่มปรากฏ มีผิวพรรณงามบ้าง ไม่งามบ้าง และเกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามกัน

ความทะนงในผิวพรรณ ทำให้ง้วนดินหายไป เกิดเป็นอาหารทิพย์ชนิดใหม่ที่มีความหยาบมากขึ้นตามลำดับ พร้อมกับความต่างของผิวพรรณและความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้น

จนถึงลำดับสุดท้ายคือ “ข้าวสาลี” ซึ่งเป็นต้นข้าวทิพย์ ไม่มีเปลือก ไม่มีแกลบ ไม่มีรำ และเมื่อถูกเก็บเกี่ยว ก็จะงอกกลับคืนใหม่อีกครั้ง

และพร้อมกันนั้น เพศหญิงชายก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก แรงดึงดูดระหว่างเพศทำให้สัตว์เหล่านั้นเกิดกำหนัด และลักลอบเสพเมถุนตามมา

แรกเริ่ม “การเสพเมถุน” ถือเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เหล่าสัตว์เสพเมถุนกันมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติสามัญ และสัตว์เหล่านั้นก็เริ่มสร้างบ้านเรือนเพื่อปิดบังกิจกรรมดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นที่อุจาดตา

เรื่องเพศนั้น เพศสูงสุดคือ “เพศพรหม” คือไม่มีเพศ ต่อมาเพศชายเกิดก่อน แลเพศหญิงตามมา ส่วนเพศชายผสมหญิงหรือหญิงผสมชาย หรือที่เรียกว่า “เพศที่สาม” นั้น เกิดทีหลังสุด

ด้วยเหตุนี้ทำให้สวรรค์จะมีแต่ชายกับหญิง สูงกว่านั้นคือพรหมก็จะไม่มีเพศ นี่คือเหตุผลว่าทำไมไม่มีเทพหรือเทพีที่เป็นเพศที่สามปรากฏในตำนานต่างๆ ของคติพุทธเลย

ต่อมาเมื่อมีบ้านเรือนอยู่อาศัย ความขี้เกียจก็ตามมา เริ่มมีการกักตุนอาหาร จากที่กักตุนวันต่อวัน ก็กลายเป็นสะสมนานวันขึ้น จนในที่สุดข้าวสาลีทิพย์ที่งอกได้เอง ก็ไม่งอกขึ้นมาใหม่ ทำให้เหล่าสัตว์ต้องเพาะปลูกเอง ทำให้เวลาต่อมาเรียกสัตว์จำพวกนี้ว่า “มนุษย์”
กล่าวคือ “อาภัสสราพรหม” คือ พรหมที่จุติมาเป็นสัตว์พวกแรกในช่วงกำเนิดจักรวาล ก่อนจะกินง้วนดินเพราะเกิดความอยาก จนกระทั่งกลายเป็น “มนุษย์” ในเวลาต่อมานั่นเอง


จักรวาลกว้างเพียงไร ?

จาก “จูฬนีสูตร” ระบุว่า “หน่วยพื้นที่” ขนาดใหญ่ที่สุดเรียกว่า “โลกธาตุขนาดใหญ่” มีขนาดเท่ากับ “แสนโกฏิ” จักรวาล หรือเท่ากับ “ล้านล้าน” จักรวาลรวมกัน

ซึ่งตามคติพุทธ “จักรวาล” หมายถึง ขอบเขตที่พระอาทิตย์และพระจันทร์สามารถโคจรหรือเปล่งแสงไปถึง ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็น่าจะมีขนาดใกล้เคียงกับอาณาเขตของระบบสุริยะ ๑ ระบบ

แต่อย่างไรก็ตาม “จักรวาล” ตามคติพุทธและความเข้าใจของคนในยุคปัจจุบันไม่เหมือนกัน ดังนั้นคำตอบที่ว่า จักรวาลกว้างแค่ไหน ? จึงตอบได้ไม่ชัดเจน แต่เข้าใจได้ว่าน่าจะกว้างใหญ่เกินจินตนาการเลยทีเดียว

ซึ่งใน ๑ จักรวาลประกอบไปด้วย พระอาทิตย์ ๑ ดวง พระจันทร์ ๑ ดวง เขาพระสุเมรุ ๑ แห่ง ทวีป ๔ ทวีป ได้แก่ ชมพูทวีป อมรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป ต่อไปมีมหาสมุทร ๔ แห่ง พร้อมกับมี “ท้าวมหาราชทั้ง ๔” หรือ “ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔" กอปรกับสวรรค์อีก ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี โดยสุดท้ายคือพรหมโลก ๑ แห่ง
เขาพระสุเมรุ สูงได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ จมลงไปในน้ำ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หนาได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ กลมรอบปริมณฑลได้ ๒๕๐,๐๐๐ โยชน์ และบนยอดเขาพระสุเมรุนั้นมี “ปราสาทไพชยนต์” ตั้งอยู่ใจกลางเมืองดาวดึงส์ กว้างได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ภายใต้เขาพระสุเมรุนั้นเป็นเมืองอสูร กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ มีเขา ๓ ลูก เหมือนก้อนเส้ารองรับเชิงเขาพระสุเมรุ ชื่อว่า “เขาตรีกูฏ” (เขา ๓ ยอด) แต่ละยอดสูง ๔,๐๐๐ โยชน์ ภายใต้เชิงเขาตรีกูฏนั้นเป็นแผ่นดินเมืองอสูร ซึ่งอยู่ระหว่างเขา ๓ ลูกนี้
สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิสาม โดยภูมิหนึ่งชื่อว่า “กามภูมิ” (กามาวจรภูมิ) ภูมิสองชื่อว่า “รูปภูมิ” (รูปาวจรภูมิ) ภูมิสามชื่อว่า “อรูปภูมิ” (อรูปาวจรภูมิ)

ใน “กามภูมิ” นั้นยังแยกย่อยออกเป็น ๑๑ ภูมิ ซึ่งจัดเป็น ๒ ภูมิใหญ่ คือ “อบายภูมิ ๔” และ “สุคติภูมิ ๗” 

อบายภูมิ ๔ นั้น ได้แก่ นิรยภูมิ (ดินแดนนรก) เปรตวิสัยภูมิ (ดินแดนเปรต) อสุรกายภูมิ (ดินแดนอสูร) และติรัจฉานภูมิ (ดินแดนสัตว์เดรัจฉาน)

สุคติภูมิ ๗ ได้แก่ มนุสสภูมิ ๑ (ดินแดนมนุษย์) และเทวภูมิ ๖ (ดินแดนเทพยดา)
ใน “รูปภูมิ” หรือ “พรหมภูมิ” อันเป็นดินแดนของรูปพรหมนั้นยังแยกย่อยออกเป็น ๑๖ ภูมิ ซึ่งจัดเป็น ๔ ภูมิชั้นใหญ่ๆ ดังนี้ คือ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ และจตุตถฌานภูมิ ๗

ปฐมฌานภูมิ ๓ นั้นได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปาริสัชชา ภูมิชั้นพรหมปุโรหิตา ภูมิชั้นมหาพรหมา

ทุติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปริตตาภา ภูมิชั้นพรหมอัปปมาณา ภูมิชั้นพรหมอาภัสสรา

ตติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปริตตสุภา ภูมิชั้นพรหมอัปปาณสุภา ภูมิชั้นพรหมสุภกิณหา

จตุตถฌานภูมิ ๗ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมเวหัปผลา ภูมิชั้นพรหมอสัญญีสัตตา ภูมิชั้นพรหมอวิหา ภูมิชั้นพรหมอตัปปา ภูมิชั้นพรหมสุทัสสา ภูมิชั้นพรหมสุทัสสี ภูมิชั้นพรหมอกนิฏฐา

ตั้งแต่ภูมิชั้นพรหมอวิหาจนถึงพรหมอกนิฏฐา รวม ๕ ชั้น เรียกว่า “ปัญจสุทธาวาส”

สำหรับ “อรูปภูมิ” นั้นยังแยกย่อยออกเป็น ๔ ภูมิ ได้แก่ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

ภูมิใหญ่ทั้ง ๓ ที่แยกย่อยเป็น ๓๑ ภูมินี้ รวมเรียกว่า “ไตรภูมิ”
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่