ผมมีความเห็นเกี่ยวกับที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษบน BTS/MRT ดังต่อไปนี้

จากการที่นั่งไปทำงานด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสประมาณสามวันต่อสัปดาห์ สิ่งที่ผมเห็นก็คือความแปลกประหลาดสำหรับเก้าอี้เบอร์นี้ บางครั้งมันก็ว่าง บางครั้งมันก็ไม่ว่าง บางครั้งมันก็มีคนที่ไม่ควรไปนั่งดันไปนั่งแช่ตรงนั้น คิดอยู่สักพักผมขอเสนอความเห็นดังต่อไปนี้นะครับ โดยที่กำหนดให้เก้าอี้พิเศษเป็นเบอร์1 ส่วนเบอร์ 2,3,จนถึง 4 คือเก้าอี้ปกติถัดมา (เบอร์สี่คือตัวตรงกลางขบวน)

โจทย์ของผมคือบุคคลพิเศษ จะเรียงตาม Priority ในความคิดคิดของผมดังต่อไปนี้
หญิงตั้งครรภ์ > ผู้พิการ > เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองด้วยการยืนไม่ได้ (อายุน้อยกว่า สามขวบ โดยประมาณ และจะ assume ว่าเด็กวัยนี้ย่อมมีผู้ใหญ่ติดตามมาด้วยอยู่แล้ว) > คนแก่ > พระ นักบวช

1. ถ้าคุณเป็นคนแก่ เข้ามาในบีทีเอสในช่วงที่ยังมีเก้าอี้ว่างโดยเฉพาะเก้าอี้เบอร์หนึ่ง ต่อให้คุณคิดว่าใจคุณไม่แก่แต่อายุและสภาพของร่างกายมันสะท้อนออกมา อย่าไปนั่งเบอร์ 2,3,4 เลยครับ นั่งไปเลยครับเบอร์หนึ่ง เพราะเค้าทำมาเพื่อคุณในวัยคุณครับ ที่นั่งริมสุดสะดวกในการเข้าออกมากที่สุดและมีราวจับให้ท่านลุกเหินได้ง่ายขึ้น การที่คุณเข้ามาในขบวนแล้วเห็นเก้าอี้เบอร์หนึ่ง แล้วคุณไม่ยอมไปนั่งแต่กลับไปนั่งที่เก้าอี้เบอร์อื่น นั่นเท่ากับว่าเก้าอี้เบอร์หนึ่งจะมีที่ว่าง และคนปกติอื่นๆก็จะไม่ไปยอมนั่งเพราะเค้ามองว่าเก้าอี้ตัวนี้ไม่ได้สงวนสิทธิ์มาเพื่อฉัน อารมณ์กึ่งเกรงใจ ทำให้เกิดการเสียเปล่าในจำนวนเก้าอี้และเพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่ยืนอย่างไม่จำเป็น ช่วยรบกวนไปนั่งด้วยเถอะครับ

2. สมมติคุณเป็นผู้หญิงที่กำลังนั่งเก้าอี้เบอร์หนึ่ง ข้างๆคุณคือเก้าอี้เบอร์สอง ถัดไปคือผู้ชายสักคนที่นั่งเก้าอี้เบอร์สาม บังเอิญมีพระเข้ามา ถ้าพระท่านนั้นไม่ใช่พระหนุ่มแต่เป็นพระที่มีอายุ ผญ.ที่นั่งเบอร์หนึ่ง รบกวนลุกออกนะครับ แต่นั่นทำให้ ผญ.เก้าอี้เบอร์สองต้องลุกออกเช่นกันเพราะกฎของศาสนา ไม่อนุญาตให้สีกานั่งข้างพระใช่ไหมครับ ดังนั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ พระจะได้นั่งที่เก้าอี้เบอร์หนึ่ง แต่จะเกิดที่ว่างตรงเก้าอี้เบอร์สอง ถ้าท่านเป็นผู้ชายที่นั่งอยู่ที่เก้าอี้เบอร์สามหรือสี่หรือเป็นผสด.ผู้ชายที่กำลังยืนอยู่ ถ้าเห็นเหตุการณ์นี้รบกวนนั่งหรือเสียสละย้ายตัวเองไปนั่งข้างพระตรงเก้าอี้เบอร์สองในทันทีเลยจะได้ไหมครับ เพื่อที่ว่าจะให้ผญ.ที่เพิ่งลุกได้นั่งที่เบอร์สามหรือสี่ซึ่งเป็นลำดับเก้าอี้ที่ห่างพระแล้วแน่นอน จะได้ไม่ทำให้เหตุการณ์นั้นรู้สึกแปลกประหลาดต่อทั้งพระและคนที่ลุก และช่วยลดความเบียดเสียดในพื้นที่ยืนครับ

3. ถ้าท่านเป็นผู้หญิงนั่งอยู่เก้าอี้เบอร์หนึ่ง ส่วนเก้าอี้เบอร์สองและเบอร์สามคือผู้ชาย มีสตรีตั้งครรภ์เดินเข้ามา ผู้หญิงที่นั่งเก้าอี้เบอร์หนึ่งต้องเป็นคนลุกออกเพื่อให้สตรีตั้งครรภ์เป็นคนนั่งนะครับ!!  ไม่ใช่ให้ผู้ชายเก้าอี้เบอร์สองหรือสามเป็นคนลุกเพราะเค้านั่งของเขามาดีๆถูกที่ของเขาอยู่แล้ว ผมเห็นเคสนี้บ่อยมากๆๆๆๆๆๆๆครับ มีคนท้องเข้ามา แต่ผู้หญิงวัยทำงานที่นั่งเก้าอี้เบอร์หนึ่ง กลับนั่งเพิกเฉย เล่นเกมเก็บผักอย่างไม่สนใจคนท้อง มีอยู่ครั้งนึงเจอเหตุการณ์แบบนี้เวลาเจ็ดโมงเช้า ผู้หญิงที่นั่งเก้าอี้เบอร์หนึ่งถึงสาม กลับไม่มีใครลุกให้เลย ทั้งที่ๆผญ.ที่นั่งเก้าอี้เบอร์หนึ่งควรจะเป็นคนลุกก่อนคนแรก กลับกลายเป็นว่าชายวัยกลางคนที่นั่งอยู่ตรงกลางขบวน (เก้าอี้เบอร์สี่) ต้องยอมลุกให้คนท้องนั่ง คนท้องก็เบียดตัวเข้ามา ผู้ชายสูงอายุท่านนั้นก็พยายามลุกให้ เป็นภาพที่น่าเวทนาครับ เพราะมีผู้หญิงที่นั่งบนเก้าอี้เบอร์หนึ่งซึ่งไม่มีสำนึกยอมลุกให้คนท้องนั่ง 

ถ้าท่านเป็นผู้หญิงนั่งอยู่เก้าอี้เบอร์หนึ่ง จำไว้นะครับ หน้าที่คุณคือลุกออกเมื่อบุคคลพิเศษเดินเข้ามา ไม่ใช่นั่งแช่และส่ง signal หรือใช้สายตาอาฆาตส่งสัญญาณให้ผู้ชายที่เค้านั่งบนเก้าอี้ตัวปกติเป็นคนลุก 

4. ข้อนี้สั้นๆครับ ถ้าคุณเข้าไปในขบวนแล้วมีเฉพาะเก้าอี้เบอร์หนึ่งว่าง คุณมองไปรอบตัวแล้วไม่มีใครที่เข้าข่ายบุคคลพิเศษ รบกวนไปนั่งครับถ้าคุณอยากนั่ง ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดอะไรเลยครับ เก้าอี้มันว่างและไม่มีคนใช้ก็เชิญนั่งครับ แต่ถ้าคุณนั่งไปสักพักแล้วมีบุคคลพิเศษเข้ามา รบกวนลุกให้พวกเขาเหล่านั้นนั่งต่อครับ แค่นั้นเอง

5. ถ้าหากมีผู้พิการเข้ามา เช่น คนขาหักพันเฟือก ไม่ว่าเก้าอี้เบอร์หนึ่งจะมีใครนั่งมาก่อน คนที่นั่งบนเก้าอี้เบอร์หนึ่ง รบกวนลุกออกทันทีครับ ถ้าคุณเป็นคนแก่ ขอให้พิจารณาตัวเองดูครับว่ายังพอยืนไหวไหม ถ้าไหวก็ลุก ถ้าไม่ไหว อาจจะขอรบกวนให้คนที่นั่งบนเก้าอี้เบอร์ถัดไปเป็นคนช่วยลุกครับ หรือถ้าท่านเป็นผู้ปกครองของเด็กที่นั่งอยู่บนเก้าอี้เบอร์หนึ่ง ขอให้พิจารณาดูด้วยครับว่าคุณพอจะเสียสละอุ้มลูกให้คนที่เค้าบาดเจ็บหรือพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ได้นั่งแทนได้หรือไม่ 

6. ถ้าท่านมีลูกที่ยังเล็กมากๆ ถ้าคุณเข้าไปในขบวนแล้วไม่มีคนปกติคนไหนลุกให้ไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม รบกวนใช้สิทธิ์ของตัวเองแจ้งเตือนคนที่นั่งบนเก้าอี้เบอร์หนึ่งอย่างสุภาพครับ เพราะคุณกำลังอุ้มอีกชีวิตนึงอยู่ บีทีเอสไม่ได้ราบรื่นตลอดการเดินทาง มีเบรกกระทันหัน อยู่ตลอดเวลา ความเสี่ยงที่ท่านจะบาดเจ็บหรือทำให้ลูกบาดเจ็บนั้นมีอยู่นะครับ ไม่ต้องทำตัวว่าแข็งแรง ฉันยืนอุ้มลูกได้ รบกวนไปนั่งครับ เคสนี้รวมถึงคนที่รู้ว่าตัวเองท้องด้วยนะครับ

7. แต่ถ้าท่านมีลูกที่โตแล้ว ยืนได้ด้วยตัวเองและรู้ประสาชีวิตรอบกายแล้ว รบกวนอบรมลูกๆของท่าน ไม่ให้ซนหรือส่งเสียงดังในขบวน ถ้ามีคนใจดีลุกให้ไม่ว่าจะเก้าอี้เบอร์ไหน (โดยเฉพาะเบอร์หนึ่ง) รบกวนสอนลูกตรงนั้นให้รู้จักหัดพูดคำว่า ขอบคุณ กับคนที่เค้าลุกให้ด้วยนะครับ ถ้าสอนแล้วลูกไม่ยอมพูด ตัวคุณเองก็พูดแทนได้เพื่อเป็นแสดงออกถึงการขอบคุณต่อผู้เสียสละ และถือเป็นการสอนลูกให้เห็นเป็นตัวอย่างอีกวิธีนึงครับว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ดีควรทำอย่างไร

ขอบคุณที่อ่านจนจบนะครับ 
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
คนท้องนี่พูดยากจริงๆค่ะ ถ้าไม่ใช่ท้องใหญ่แบบสังเกตเห็นได้ชัดนี่ไม่ค่อยอยากเสี่ยง

เพราะบางคนแค่อ้วนเฉยๆ ถ้าเราลุกให้นั่งมีกระอักกระอ่วนกันเลย

ส่วนเด็ก ถ้าวิ่งได้แล้วเราไม่ลุกให้นั่งค่ะ. สุขภาพแข็งแรงกว่าผู้ใหญ่ซะอีกค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่