The Two Popes – เรื่องจริงกับจินตนาการ จาก Netflix

The Two Popes – เรื่องจริงกับจินตนาการ (ตอนที่ 1)


Photo: Netflix

ช่วงนี้ Netflix กำลังมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งออกฉายและเกี่ยวข้องกับชาวคาทอลิกนั่นคือ The Two Popes หรือชื่อไทย“สันตะปาปาโลกจารึก” ภาพยนตร์เรื่องนี้ “มีเค้าโครงจากเรื่องจริง” เขียนแบบนี้หมายความว่า บางฉากในหนังเป็นเรื่องจินตนาการหรือแต่งขึ้นนั่นเอง
 
เนื้อเรื่องในหนัง นอกจากจะเป็นเรื่องการเลือกตั้งพระสันตะปาปาในปี 2005 และ 2013 ยังเล่าถึงการยื่นจดหมายลาเกษียณอายุของคาร์ดินัลแบร์โกโญ่ แต่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ปฏิเสธจะรับไว้ เล่าถึงข่าววิกฤติบาดหลวงคาทอลิกล่วงละเมิดทางเพศหลายภาคส่วนของโลกในปี 2012 นอกจากนี้ ยังย้อนไปถึงชีวิตของคาร์ดินัลฆอร์เค่ แบร์โกโญ่สมัยที่ทำงานในอาร์เจนตินาอีกด้วย
 
โดยสรุปแล้วเพื่อป้องกันการสปอยล์ บทความนี้จะไม่เล่าเรื่องมากไปกว่านี้ แต่จะอธิบายรายละเอียดเป็นตอนๆ ไปว่าเรื่องจริงกับเรื่องที่ถูกจินตนาการขึ้นมาในหนัง The Two Popes มีอะไรบ้างละกัน
 
เรื่องแรก “จริงหรือที่ คาร์ดินัลฆอร์เค่ แบร์โกโญ่ เป็นคนที่ได้รับคะแนนเสียงสูสีกับคาร์ดินัลโยเซฟ รัตซิงเงอร์ ในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาปี 2005”
 
อันนี้เป็น “เรื่องจริง” 
 
ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน 2005 (6 เดือนให้หลังที่ศาสนจักรคาทอลิกมีพระสันตะปาปาองค์ใหม่นาม “เบเนดิกต์ ที่16” ซึ่งได้รับเลือกวันอังคารที่ 19 เมษายน 2005) “ลูโช่ บรูเนลลี่” นักข่าวสายวาติกันได้เขียนบทความลงในนิตยสารลิเมส เนื้อหาในนั้นเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก เพราะมันคือการนำ “ไดอารี่” ที่คาร์ดินัลคนหนึ่งบันทึกระหว่างเข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่มาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน


ลูโช่ บรูเนลลี่/ Photo: https://www.avvenire.it/attualita/pagine/brunelli-informazione-come-testimonianza

ไดอารี่นี้บอกเล่าผลคะแนนในการหย่อนบัตรเลือกตั้งแบบละเอียดยิบ ถ้าจะถามว่า ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยนั้นถูกต้องหรือไม่ นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะวาติกันไม่เคยออกมาคัดค้าน อีกอย่าง บรูเนลลี่ เป็นเหยี่ยวข่าวอาวุโสที่บรรดานักข่าวสายวาติกันให้ความเคารพเป็นอย่างสูง เรื่องความถูกต้องของข้อมูลจึงไม่มีใครออกมาแย้ง จะมีแค่เสียงวิจารณ์ว่าคาร์ดินัลคนที่เอาเรื่องนี้มาเปิดเผยเป็นใคร และทำแบบนี้ถือเป็นการทำผิดร้ายแรงต่อคำสาบานเรื่องการเก็บความลับจากการเข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปา (ข้อมูลแบบนี้ เราได้เห็นอีกครั้งจากบทความของ Pope Report ที่ชื่อ “ถ้าพระเลือกแล้ว ไม่ช้าก็เร็ว ก็ได้ทำงานให้พระแน่นอน” เนื้อหาในนั้นมาจากหนังสือ The Election of Pope Francis: An Inside Account of the Conclave That Changed History เขียนโดย เจราร์ด โอคอนเนล นักข่าวสายวาติกันชื่อดังซึ่งมีความสนิทสนมอย่างมากกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส)
 
ในไดอารี่ดังกล่าว ระบุอย่างชัดเจนว่า การเลือกตั้งพระสันตะปาปาปี 2005 มีการลงคะแนนทั้งหมด 4 ครั้ง รายละเอียดมีดังนี้
 
ครั้งที่หนึ่ง วันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2005 เวลา 18.00 น.
- คาร์ดินัลโยเซฟ รัตซิงเงอร์ อธิการสภาคาร์ดินัล 47 คะแนน
- คาร์ดินัลฆอร์เค่ แบร์โกโญ่ อาร์คบิช็อปแห่งบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา 10 คะแนน
- คาร์ดินัลคาร์โล มารีอา มาร์ตินี่ อาร์คบิช็อปกิตติคุณแห่งมิลาน อิตาลี 9 คะแนน
- คาร์ดินัลคามิลโล รุยนี่ อุปบิช็อปแห่งโรม 6 คะแนน
- คาร์ดินัลอันเจโล่ โซดาโน่ อดีตเลขาธิการนครรัฐวาติกัน 4 คะแนน
- คาร์ดินัลออสการ์ โรดริเกซ มาราเดียก้า อาร์คบิช็อปแห่งเตกูซิกัลป้า ฮอนดูรัส 3 คะแนน
- คาร์ดินัลดิโอนิจี้ เต็ดตามันซี่ อาร์คบิช็อปแห่งมิลาน อิตาลี 2 คะแนน
- ที่เหลือคละกันไป
 
ครั้งที่สอง วันอังคารที่ 19 เมษายน 2005 เวลา 9.30 น.
- คาร์ดินัลโยเซฟ รัตซิงเงอร์ 65 คะแนน
- คาร์ดินัลฆอร์เค่ แบร์โกโญ่ 35 คะแนน
- คาร์ดินัลอันเจโล่ โซดาโน่ 4 คะแนน
- คาร์ดินัลดิโอนิจี้ เต็ดตามันซี่ 2 คะแนน
 
ครั้งที่สาม วันอังคารที่ 19 เมษายน 2005 เวลา 11.00 น.
- คาร์ดินัลโยเซฟ รัตซิงเงอร์ 72 คะแนน
- คาร์ดินัลฆอร์เค่ แบร์โกโญ่ 40 คะแนน
** ถึงตรงนี้ คาร์ดินัลรัตซิงเงอร์ ต้องการอีกแค่ 5 คะแนน ก็จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ (ปี 2005 มีคาร์ดินัล 115 คนที่เข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ตามกฎแล้ว ใครได้คะแนน 2 ใน 3 จะได้เป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ซึ่ง 2 ใน 3 คือ 77 คะแนน)
 
ครั้งที่สี่ วันอังคารที่ 19 เมษายน 2005 เวลา 16.30 น.
- คาร์ดินัลโยเซฟ รัตซิงเงอร์ 84 คะแนน
- คาร์ดินัลฆอร์เค่ แบร์โกโญ่ 26 คะแนน
 
จากไดอารี่นี้ เราจะเห็นได้ว่า คาร์ดินัลแบร์โกโญ่ เป็นคนที่ได้คะแนนตีคู่มากับคาร์ดินัลรัตซิงเงอร์มาตลอด สาเหตุที่คาร์ดินัลแบร์โกโญ่ได้คะแนนเช่นนี้ มาจาก 2 เรื่องหลักๆ
 
หนึ่งคือเป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มสภาบิช็อปคาทอลิกในลาตินอเมริกา ทุกคนรู้ดีว่า คาร์ดินัลแบร์โกโญ่มีชื่อเสียงมากในการอภิบาลคนยากจนและความเรียบง่ายติดดิน
 
อีกเรื่องที่ทุกคนประทับใจคือช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 (วินาศกรรม 11 กันยายน 2001) คาร์ดินัลแบร์โกโญ่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าผู้บรรยายซึ่งต้องกล่าวสรุปการประชุมซินน็อต (การประชุมสมัชชาบิช็อปคาทอลิกที่วาติกัน) แทนที่ คาร์ดินัลเอ็ดเวิร์ด อีแกน อาร์คบิช็อปแห่งนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่ต้องบินด่วนกลับประเทศเพื่ออภิบาลชาวอเมริกันหลังเกิดเหตุก่อการร้าย การทำหน้าที่ “มวยแทนซึ่งได้รับเลือกแบบกระชั้นชิด” กลายเป็นเวทีให้คาร์ดินัลแบร์โกโญ่ได้แสดงศักยภาพและความประทับใจให้ทุกคนเห็น ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 รวมทั้งบรรดาคาร์ดินัลที่ร่วมประชุม ต่างประทับใจการบรรยายสรุปที่สั้น แต่กระชับและเนื้อหาครบถ้วน เรียกได้ว่า หน้าที่นี้เป็นหนึ่งในการเปิดตัวคาร์ดินัลแบร์โกโญ่ต่อคนในวาติกันก็ว่าได้
 
ข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบไทม์ไลน์
- 21 กุมภาพันธ์ 2001 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 แต่งตั้ง แบร์โกโญ่เป็นคาร์ดินัล
- กันยายน 2001 คาร์ดินัลแบร์โกโญ่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าผู้บรรยาย (General Relator) ในการประชุมซินน็อตที่วาติกัน
- เมษายน 2005 คาร์ดินัลแบร์โกโญ่ เข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปา และได้รับคะแนนเป็นลำดับที่สอง
- ปี 2011 คาร์ดินัลแบร์โกโญ่ ยื่นจดหมายของลาเกษียณจากตำแหน่งอาร์คบิช็อปแห่งบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา แต่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ให้ทำหน้าที่ต่อไป
- 13 มีนาคม 2013 คาร์ดินัลแบร์โกโญ่ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ และเลือกนามว่า “ฟรานซิส” 
 
สำหรับตอนต่อไป เราจะมาไขข้องข้องใจเนื้อหาในภาพยนตร์ที่ว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 บอกแผนการลาออกจากตำแหน่งพระสันตะปาปา ให้ คาร์ดินัลแบร์โกโญ่ ทราบเป็น “คนแรก” จริงหรือไม่ โปรดรอติดตามกันได้

CR. : https://www.fyicatholic.com/post/20191215_01
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่