ในปี 2019 ได้เพิ่มกันมากี่กิโล…(เมตร)


Total Run 2019


ในปี 2019 ได้เพิ่มกันมากี่กิโล…(เมตร) 

บันทึกชวนพูดคุย-สรุปปีที่ผ่านมากับการวิ่งทั้งในและนอกสนาม ทั้งที่เอาจริงบ้างไม่เอาจริงบ้าง
(แต่พักหลังน่าจะเป็นวิ่งเพื่อความบันเทิงซะส่วนใหญ่) 555

จากเป้าหมายของปีที่แล้ว ตั้งใจว่าอยากจบฟูลมาราธอนให้ได้สักครั้ง แต่พอมาดูสรุปทั้งปีกลับซัดไป 4 ฟูลในปีเดียว บ้าบอ!
...ซึ่งในระยะ 42.195k ก็มีทั้งฟูลตะคริว และฟูลที่พัง-ปัง ปนๆกันไป 

และอีกรายการที่ไม่เคยได้ลองก็ได้ลอง คือวิ่งเทรล #เทรลแรกที่เกือบไม่รอด 555 ขอบคุณเพื่อนๆในทีมที่ช่วยพาลากกันไปจนจบ
ส่วนเป้าหมายในปี 2020 คือ
1.วิ่งเพื่อสุขภาพ
2.วิ่งให้สนุก
3.อยากทำ Half marathon Sub 2 ให้ได้อีกครั้ง (เคยทำได้เมื่อต้นปี 2018 แล้วก็ไม่เคยทำได้อีกเลย T_T)

จริงๆเป้าหมายและหน่วยวัดที่ดีที่สุดอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับระยะทางหรือความเร็ว แต่โดยส่วนตัวเราวัดเป็น”ความสนุก”
#หน่วยวัดอะไรของเมิงง 555 ที่ได้จากการวิ่งซะมากกว่า

สนุกที่ได้ตั้งเป้าหมาย
สนุกที่ได้วางแผน
สนุกที่ได้ลงมือทำ...ซึ่งลงมือทำแล้วอาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ตะคริวกินบ้าง เจ็บไปบ้าง
แต่ก็ยังเป็นความสนุกและบทเรียนให้เรากลับมาแก้มือได้ใหม่อีกเรื่อยๆ 


จริงๆเป้าหมายข้อ 1-2 เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มวิ่ง เมื่อ 5 ปีก่อน... ความเปลี่ยนแปลงที่ได้ในด้านรูปร่าง-ร่างกายอาจจะแทบไม่แตกต่าง
มีแค่ผอมลงไปบ้าง แต่ในด้านจิตใจและวิธีคิด เปลี่ยนไปมากกกกกกจริงๆ (ให้อธิบายเป็นคำพูดคงพูดและเขียนกันไม่หมด)
แต่พอจะเล่าสรุปจากสิ่งที่ได้จากการวิ่งได้ตามนี้

เริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายให้ดูเล็ก จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
แน่นอนว่าเราต้องมีเป้าหมายที่ใหญ่ที่อยากทำให้ได้ แต่การเอาเป้าหมายใหญ่มาซอยแยกย่อยให้ดูเล็กลง
แล้วลงมือทำมันมีเปอร์เซนต์ที่เราจะทำสำเร็จได้สูงขึ้น เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เราค่อยๆเก็บความสะสมความภูมิใจ
จากความสำเร็จเล็กๆน้อยๆไปเรื่อยๆในระหว่างระยะทางที่ยาวไกล…

มีหนังสือที่เล่มหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้ โดยบอกว่า แค่วิดพื้นวันละ 1 ครั้ง ถ้าอยากมีหุ่นที่ดีให้ใครๆอิจฉา!! 
ฟังดูเหมือนขี้โม้เนอะ แต่พอไปอ่านเนื้อหาแล้วคือจริงเลยทีเดียว หนังสือเล่นนั้นชื่อว่า “คิดให้เล็กลงแล้ว ลงมือทำซะ” เขียนโดย สตีเฟน ไกส์

โดยหนังสือแนะนำเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายแบบเล็กๆ เปรียบเทียบกับการตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ๆ ยกตัวอย่าง เรื่องการออกกำลังกาย 
หากเริ่มต้นเราตั้งเป้าหมายว่าจะออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที ทุกวัน!! หากเป็นผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย 
อาจจะดูเป็นเรื่องยากและมีโอกาสที่จะทำไม่ได้สูงทีเดียว แต่หากเป็นการตั้งเป้าที่เล็กจนดูน่าตลก เช่น ฉันจะวิดพื้นแแค่วันละ 1 ที!! 
การตั้งเป้าหมายแบบนี้มีโอกาสมากที่เดียวที่เราจะทำได้สำเร็จ เป็นการ”สร้างแรงจูงใจ” ให้เราอาจจะทำต่อได้ 
โดยที่ไม่กลัวว่าการวิดพื้นครั้งต่อๆไปจะล้มเหลวรึเปล่า… เพราะเราได้ทำสำเร็จตั้งแต่การวิดพื้นในครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว
.
.
.
ความสม่ำเสมอและวินัย หัวใจของความสำเร็จ
แต่ก่อนเราเป็นคนที่ไม่อินกับคำว่าวินัยสักเท่าไหร่ เป็นคำที่ฟังแล้วรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ อยู่ในกฎเกณฑ์จนเกินไป 
ต้องทำอะไรๆเป็นรูทีนอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆ เราเลยไม่ค่อยชอบ

แต่พอเริ่มจะลงวิ่งรายการที่อยากท้าทายตัวเองมากขึ้น ไอ้คำว่าวินัยมันจึงมีผลต่อรางวัลความสำเร็จที่เราตั้งไว้มากทีเดียว 
ไม่ซ้อมก็ไม่ได้ มีหวังได้เดี้ยงคาสนามแน่นอน(ซึ่งเดี้ยงและยางแตกมาก็บ่อยอยู่เหมือนกัน 555) 
เรียกได้ว่าเป็นการตั้งเป้าหมายเชิงบังคับไปในตัว คล้ายกับการโยนสัมภาระข้ามกำแพงสูงไปอีกฝั่ง แล้วค่อยหาวิธีข้ามกันไปทีหลัง

แต่การซ้อมของเราไม่ได้ซีเรียสเหมือนนักกีฬาที่จะไปแข่งล่ารางวัล เราแค่ตั้งใจว่าในแต่ละสนามที่ลงจะวิ่งยังไงให้สนุกและจบแบบไม่เจ็บซะมากกว่า

หากแบ่งการซ้อมภายใน 1 อาทิตย์(7 วัน) เราจะซ้อมให้ได้อย่างน้อย 4 วัน คือมากกว่าครึ่งนึง เพื่อช่วยให้เกิดความชิน 
และความสม่ำเสมอเกิดขึ้นจนค่อยๆได้เพื่อนใหม่ชื่อว่า”วินัย”ตามมา
.
.
.
การวิ่งคือการวางแผน
ในตอนที่เริ่มลงฮาล์ฟมาราธอนปีแรกๆ จะมีอยู่ช่วงหนึ่งในระยะ 21k ที่เรารู้สึกเหมือนวิ่งแล้วดีด-โคตรสนุก แล้วก็อัดซะเต็มที่ ในใจก็คิดว่าได้ New PB(สถิติที่ดีที่สุด)แน่นอน... แต่สุดท้ายยางแตกจ้า ได้เดินเอา จาก Personal Best กลายเป็น Personal Bad ทันที 555 

และจากบทเรียนในหลายๆสนามที่ยางแตก ทำให้เราเข้าใจการวางแผนวิ่งมากขึ้น การรักษาเพซวิ่งของตัวเอง 
ไม่ไปตามอารมณ์หรือวิ่งตามเพซวิ่งของนักวิ่งสาวๆขาแรง ก็ทำให้เรายังอยู่ในเกมส์ของเรา เข้าใจสภาพร่างกายตัวเองมากขึ้น 
ว่าในแต่ละกิโลเมตรเรารู้สึกยังไง ยังไหวหรือควรจะเก็บแรงเอาไว้ เพื่อที่จะให้เรายืนระยะได้จนจบ
.
.
.
สวนสาธารณะคือสถานที่สร้างทัศนะคติเชิงบวก 
ในช่วงแรกๆที่เราวิ่ง เรามักเอาความง่ายเข้าว่า ก็วิ่งซิตี้รัน วิ่งทางฟุตบาทแถวๆที่พักไปเรื่อย จนรู้สึกว่าเริ่มเบื่อ 
อยากหาที่วิ่งใหม่ เลยไปสวนสาธารณะดู เท่านั้นแหละ!! ซิตี้รันแทบจะไม่ค่อยได้เจอกันอีกเลย 555 

เราพบว่าสวนสาธารณะเป็นสถานที่สร้างแรงบวกโดยที่เราไม่รู้ตัว ทุกคนในสวนดูเหมือนเป็นเพื่อนที่ร่วมกันออกมาเพื่อออกกำลังกาย
หรือพักผ่อนก็ตามแต่... เจอบางคนที่วิ่งสวนกันบ่อยๆก็ยิ้มให้กันโดยอัตโนมัติ มันรู้สึกเหมือนมีโครงข่ายที่ช่วยให้เราคิดบวกอยู่ตลอดเวลา 
ถึงแม้ว่าในครั้งนั้นเราจะไปวิ่งคนเดียวก็ตาม


สนามแข่งคือสถานที่เสริมแรงบวก
ลุงที่วิ่งข้างๆเราเมื่อกี๊ทำไมนำเราไปไกลแล้ววว ดูแกดิ!! ป้าแกไปนู๊นแล้ววว...555+ 
บางทีก็ต้องยอมใจกับนักวิ่งขาแรงและปล่อยให้แกแซงไปโดยที่เราก็ได้แต่มองตาม 

และบ่อยครั้งที่ในสนามแข่งที่ต้องเจอแรงกดดันตั้งแต่ยังไม่ปล่อยตัว ทั้งกดดันว่าจะจบได้รึเปล่า
โหลดคาร์บมาพอไหม ตะคริวจะกินตอนไหน หรือแม้กระทั้งเจอนักวิ่งดูท่าทางขาแรงๆกันทั้งนั้น

แต่ทุกอย่างคือความกดดันบนความสนุกที่เป็นเชื้อเพลิงที่ช่วยให้เรารีดศักยภาพ ความเร็ว 
หรือพลังอะไรก็ตามที่เราคิดว่าถ้าวิ่งปกติแล้วเราไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้เลย

น่าแปลกที่เราส่งต่อพลังนี้ให้กันขณะวิ่ง(ทั้งที่มันเป็นการแข่งขัน) เชียร์อัพกันตลอดเวลาวิ่งสวนกัน ปรบมือให้กับนักวิ่งที่นำอยู่ 
แม้กระทั่งช่วยเหลือกันเวลาเป็นตะคริว หรือไปต่อไม่ไหว ทุกอย่างล้วนเป็นพลังบวกที่เกิดขึ้นในสนามแข่งที่เราได้เจอ 
ทุกคนต่างมีแรงและทัศนคติเชิงบวกในการทำเป้าหมายของตัวเองให้สำเร็จ แล้วส่งต่อความรู้สึกนี้เวลาได้ลงสนามจริงๆ

สุดท้ายก่อนจะยาวไปกว่านี้ สรุปปี 2019 (รวมทั้ง 5 ปี) กับการวิ่งต่างมีเรื่องให้เล่าเยอะพอสมควร หากมีเวลาจะได้มาเขียนบันทึกกันอีกที 

หากใครมีตั้งเป้าหมายในปีนี้ไว้ว่ายังไง ทำสำเร็จไปบ้าง? แล้วปีหน้าตั้งเป้าหมายอะไรไว้ ร่วมแชร์ข้อคิดเห็นได้นะครับ 
เผื่อเป็นเชื้อเพลิงให้อยากทำตามบ้าง ยิ้ม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่