ธปท.ส่งสัญญาณบาทเริ่มอ่อนค่า - ยันกองทุนฟื้นฟูฯ กอดหุ้น BAM แน่น

กระทู้คำถาม
ธปท.เผยเงินบาทเริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า หลังนักลงทุนมองบาทแข็งค่าเกินพื้นฐาน - ไม่ใช่ Safe haven แถมเจอมาตรการคุมเข้ม แนะผู้นำเข้าทำประกันความเสี่ยง ยันกองทุนฟื้นฟูฯ กอดหุ้น BAM แน่น 46-49% หวังนำผลตอบแทนล้างหนี้
   ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน เปิดตัว Thailand’s Integrated Database for Economics (TiDE) โดยมีนาย นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย มาเปิดงาน
   โดยนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบัน ว่า ค่าเงินบาทเริ่มเคลื่อนไหว 2 ทิศทาง และมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะนำเข้าจะต้องทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพื่อป้องกันความเสียหายและความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
   สำหรับสาเหตุที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้น เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์เริ่มปรับตัวแข็งค่า นักลงทุนเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อค่าเงินสกุลภูมิภาค และค่าเงินบาท จากเดิมที่ซื้อเคยล่วงหน้า (Long Position) มาเป็นขายล่วงหน้า (Short Position) ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของทิศทางค่าเงินบาทในช่วงต่อไป
   นอกจากนี้ ยังเป็นผลจาก นักลงทุนโลกมองว่า ค่าเงินบาทไม่ใช่ Safe haven อีกต่อไป เนื่องจากปัจจุบันพบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน
   ขณะเดียวกัน แรงกดดันจาก current account เริ่มลดลง เพราะการเกินดุลมีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง แม้ว่าอาจจะไม่มีผลต่อค่าเงินบาทโดยตรงก็ตาม นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึง Yield Curve เมื่อเทียบกับสหรัฐอาจจะต่ำเกือบที่สุดในอาเซียน ซึ่งทำให้แรงดึงดูดเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินน้อยลง
   นายเมธี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทในบางช่วง เพื่อไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป รวมถึงในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการผ่อนคลายด้านการนำเข้าเงินเข้ามาของผู้ส่งออก เปิดให้คนไทยที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนต่างประเทศได้
   ขณะเดียวกัน ทองคำ ถือ เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย ซึ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาทองคำปรับลดลงค่อนข้างเยอะ การขายทองคำลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้แรงกดดันจากการขายทองคำที่รับเงินตราต่างประเทศลดลง จึงได้หารือกับผู้ค้าทองคำ โดยเปิดให้สามารถซื้อขายเป็นดอลลาร์ได้
   “ธปท.ไม่ได้สบายใจในช่วงที่ค่าเงินแข็งค่า ซึ่งธปท.ได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อชะลอการแข็งค่า ทั้งการเข้มงวดในการที่จะติดตามเงินที่ไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไร เรื่องออกมาตรการ เรื่องบัญชีเงินฝากของผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ การที่จะให้รู้ตัวตนที่ชัดเจนของผู้ลงทุนของ Nonresident แม้ว่าค่าเงินจะเริ่มอ่อนค่าแล้วแต่เรายังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”นายเมธี กล่าว
   ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. พอใจหลังจากที่นักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหุ้น บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM จำนวนมาก โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ 32,000 ล้านบาท จะนำเงินไปชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน
   สำหรับปัจจุบัน หนี้คงเหลือของกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ที่ 8.03 แสนล้านบาท จากหนี้ทั้งหมด 1.13 ล้านล้านบาททั้งนี้ เชื่อว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะช่วยส่งเสริมให้ BAM มีความเข้มแข็ง และสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น และสามารถบริหารจัดการงานได้คล่องตัวมากขึ้น เงินจาก IPO จะมาลดหนี้ได้อีกประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระหนี้จะเหลือประมาณ 7 แสนลบ.
   อย่างไรก็ตาม ธปท.ยืนยันว่ากองทุนฟื้นฟูฯ จะคงนโยบายถือหุ้น BAM ในสัดส่วน 46-49% เพื่อนำผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนไปชำระหนี้กองทุนฯต่อไป
   " หลัง BAM เข้าตลาดสัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงจากเดิมที่ 50% เหลือราว 46-49% ซึ่งต้องดูกรีนชูก่อนว่าจะมีคนใช้แค่ไหน แต่ยืนยันเรายังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะเราต้องการปันผลมาลดภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟู "
  สำหรับในวันนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) ได้จัดทำเว็บไซต์ศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจไทย หรือ Thailand’s Integrated Database for Economics (TiDE) เพื่อเป็นแหล่งรวมสืบค้นข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่ครอบคลุมข้อมูลกว่า 25,000 series ใช้งานได้ง่ายขึ้น และเปิดให้สาธารณชนใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ข้อมูลที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นคือ https://tide.pier.or.th                                                            https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=L3A1eUlXNTJ6T289  
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่