...บัณเฑาะก์...

กระทู้คำถาม
คำว่า "บัณเฑาะก์" เป็นคำหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากในหมู่นักภาษาศาสตร์โดยเฉพาะในโลกตะวันตก   ชาวตะวันตกที่สนใจและเชียวชาญด้านภาษาตะวันออกโดยเฉพาะบาลีและสันสกฤต    ต่างก็ยังลงความเห็นได้ไม่ชัดเจนนักว่าความหมายแท้ที่จริงของคำว่า "บัณเฑาะก์" คืออะไร?   

ก่อนอื่นผม (วัชรานนท์) อยากจะอธิบายการตีความหมายของชนิดของคำไว้สั้นๆ ตรงนี้ว่า   คำบางคำมีความหมายในตัวของมันโดยสมบูรณ์คือพูดปุ๊บก็รู้ปั๊บไม่ต้องคิดไม่ต้องทวนมาก   เราจัดคำพวกนี้เป็นคำที่ใช้ "มโนทัศน์เดี่ยว" เช่นคำว่า กลม  ดำ แดง ฯลฯ    ส่วนคำที่ต้องใช้ความคิดหลายชั้นหรืออาศัยความจำเพื่อที่จะเข้าใจหรือตีความหมายของคำนั้นๆ เราจัดเข้าเป็นประเภท "มโนทัศน์รวม"   เช่นคำว่า  ควาย (บางคนอาจจะบอกว่าคือสัตว์สี่เท้าที่มีเขา สีดำก็มี สีเผือกก็มี  ชอบนอนในโคลน ฯลฯ )  อย่างนี้เป็นต้น   และคำว่า "บัณเฑาะก์" ก็จัดเข้ากลุ่มที่ต้องใช้ "มโนทัศน์รวม" ในการตีความหมาย   จะแปลว่า กะเทย หรือ เพศที่สามอะไรนั้น  ผมมองว่าแล้วแต่คนจะตีความ

คำว่า "บัณเฑาะก์" ปรากฏในพระไตรปิฏกโดยไม่ต้องสงสัยซึ่งอยู่ในหมวดพระวินัยปิฏก    และเป็นที่คำปรากฏอยู่ในศาสนาเชน (คนละอย่างกับลัทธิเชนในญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นศาสนาที่มีอายุไล่เลี่ยหรืออาจจะมากกว่าศาสนาพุทธในอินเดีย   ซึ่งในศาสนาเชนตีความหมายคำว่า "บัณเฑาะก์" ว่าคือบุคคลผู้ไม่มีเพศ (นปุงสก)   ปราชญ์ด้านภาษาบาลีในเมืองไทยอย่างท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต ปธ.๙) และ เจ้าคุณพระมหาโพธิวงศาสจารย์ (ทองดี สุรเตโช ปธ.๙)  ต่างก็ตีความหมายพร้องกันว่า "กะเทย"  (อนึ่ง คำว่า "กะเทย" เองก็ต้องใช้มโนทัศน์รวมตีความหมายลงไปอีกชั้นหนึ่ง คหสต)

ด้วยความเคารพในตัวท่านเจ้าคุณประยุทธ์ในฐานะที่ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนผมที่มหาวิทยาลัยสงฆ์มาก่อน  แม้ผมจะเห็นด้วยแต่ก็อยากจะเพิ่มเติมต่อพระเดชพระคุรท่านว่า   "กะเทย" น่าจะเป็นหนึ่งในความหมายหรือประเภทของบุคคลของคำว่า "บัณเฑาะก์"   การที่จะบอกว่า "บัณเฑาะก์" คือกะเทยหรือกะเทยคือบัณเฑาะก์ในเชิงอนุโลมปฏิโลมนั้นเห็นจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียวในมุมมองของผม

คำว่า "บัณเฑาะก์" ถ้าจะให้แจกแจงรากศัพท์นั้นอาจจะยาวและเข้าใจยากมากหากใครไม่มีพื้นฐานด้านบาลีไวยาการณ์มาก่อน  ขอรวบรัดสั้นๆ  มาจากคำว่า ปณฺ + ฑ+ ก = ปณฺฑก  แปลว่า "ผู้เปลี่ยน", "ผู้บกพร่อง", "ผู้เป็นไปตามนั้น"   ในอดีต  สมัยที่ผมเรียนบาลีใหม่ๆ และร้อนวิชาเคยเขียนจดหมายทักท้วงสำนักงานราชบัณฑิตยสถานที่แปลคำว่า "วิหค" ว่าคือนกนั้นไม่ถูกต้อง    "วิหค" (มาจากคำว่า เวหา+คม = วิหค)   คำแปลจริงๆ ก็คือ "ผู้เดินทางไปในอากาศ" (ยุง แมลงหวี่  แมงปอ ผีเสื้อ  สัตว์เหล่านี้ก็คือวิหค   ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าเป็นนกเพียงอย่างเดียว)   คำว่า "บัณเฑาะก์" นี้ก็มีทำนองคล้ายๆ กันว่าจะแปลว่า กะเทยเสียทีเดียวนั้น   ก็มีส่วนถูกเพียงส่วนหนึ่ง

สมาคมบาลีปกรณ์ที่ประเทศอังกฤษที่มีนักภาษาบาลีระดับศาสตราจารย์เองยังไม่กล้าฟันธงหรือหาคำจำกัดความทีตรงกับคำว่า"บัณเฑาะก์" (Pandaka) ไม่ได้  มีบทความชิ้นหนึ่งเขียนเอาไว้อย่างน่าสนใจ  เขาพยายามค้นหาคำว่า "บัณเฑาะก์" ว่าเริ่มเอ่ยถึงครั้งแรกเมื่อใด?   แล้วโยงเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นในอินเดียยุคเดียวกันว่าให้คำจำกัดความอย่างไร? มีคำอื่นที่ใกล้เคียงกันและใช้ในบริบทเดียวกันอย่างไร?   บทความเขาเขียนไว้ที่นี่ https://samita.be/en/2019/05/29/the-meaning-of-pa%E1%B9%87%E1%B8%8Daka-in-light-of-the-vedic-and-jain-scriptures/

ในฐานะที่เคยบวชเรียนมาบ้างและรู้เห็น "วงใน" มา  อยากจะแสดงความเห้นส่วนตัวว่า  กะเทยที่เข้ามาบวชส่วนใหญ่ก็มักจะวางตนไม่เหมาะกับสมณสารูป (พระอื่นๆ ที่ไม่ใช่กะเทย  ก็วางตัวไม่เหมาะเช่นกันก็เยอะ)

บัณเฑาะก์  เขียนอย่างนี้ (มีก. ไก่การันต์)  มีอีกคำที่เขียนคล้ายกันคือ "บัณเฑาะว์" (ว.แหวนการันต์)  ซึ่งแปลว่า "กลองขนาดเล็ก"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่