โรคยอดฮิตเมื่ออายุมากขึ้น และการดูแล ป้องกัน

     พอดีได้ไปเจอบทความเกี่ยวกับสุขภาพใน Facebook ของคุณอัครภิทย์ตา มีชัยวงค์ มา เห็นว่าน่าสนใจดีเลยขอเอามาฝากให้อ่านกันค่ะ
------------------------------------------
ไม่กี่วันก่อน มีโอกาสไปเยี่ยมเพื่อนที่โรงพยาบาล เนื่องจากเพื่อนอุบัติเหตุเล็กน้อย แต่ต้องพักดูอาการ ทันทีที่เข้าไปในโรงพยาบาล ก็ต้องตกใจที่จำนวนคนเข้ารักษา แออัดจนแทบไม่มีทางเดิน ได้มีโอกาสคุยกับคนที่เข้ามารักษาบางส่วน ส่วนใหญ่ก็มารักษาด้วย “โรคประจำตัว” คล้ายๆ กันหมด จนรู้สึกว่าคนไทยมี “โรคยอดฮิต” ทั้งเบาหวาน ความดัน และโรคสุขภาพอื่นๆ ที่ตามมาจากการละเลยการดูแลตัวเอง
แม้ดิฉันจะแข็งแรงไม่ได้มีโรครุมเร้า แต่ก็อยากบอกเล่าส่งต่อเรื่องการดูแลสุขภาพ ไว้ในเพจของส่วนตัวดิฉันเอง เผื่อคนรู้จักจะได้รับประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งค่ะ

โรคข้อเข่าเสื่อม
ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ช่วงวัยที่พบมากที่สุดคือ 60 ขึ้นไป แต่บางคนเริ่มเป็นได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี รวมถึงปัจจัยแวดล้อมเช่น น้ำหนักตัวมาก การใช้งานร่างกายหนักเกินไป ประสบอุบัติเหตุ หรือกรรมพันธุ์ อาการคือ มีอาการปวดหรือเสียวเข่า เวลาลุกหรือเดิน และปวดมากตอนเดินขึ้นหรือลงบันได วิธีการดูแลร่างกายโรคข้อเข่าเสื่อม ทางที่ดีที่สุดคือ ดูแลก่อนที่เข่าจะเสื่อมจะดีที่สุด เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารบำรุง แต่เมื่อเป็นแล้วก็ต้องเปลี่ยนการดูแลรักษาเป็น หลีกเลี่ยงท่านั่งที่กระเทือนเข่า พับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได

โรคเบาหวาน
เกิดจากการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากอินซูลินไม่พอ ร่างกายจึงนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่ควบคุมอาหาร อ้วนเกินเกณฑ์ กรรมพันธุ์ ความดันสูง ขาดการออกกำลังกาย อาการคนเป็นเบาหวานคือ หิวน้ำบ่อย อ่อนเพลีย ตาพร่า ชาปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า อาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามอวัยวะร่างกายอื่นๆ ได้
การดูแลร่างกายคนเป็นเบาหวาน ควบคุมอาหาร ถ้าเลี่ยงกินรสหวานไม่ได้ให้ใช้น้ำตาลหญ้าหวานแทน ออกกำลังกายเบาเพื่อช่วยร่างกายเผาผลาญน้ำตาล กินข้าวไม่ขัดสี โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งยังไม่มีทางรักษาให้ขายขาด การรักษาจึงเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงเกณฑ์ปกติให้มากที่สุด

โรคตา
เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวของดิฉัน มีหลายคนเป็นโรคเกี่ยวกับ ต้อกระจก ต้อหิน เยอะมาก เพราะใช้งานสายตาอย่างหนักมาในช่วงวัยหนุ่มสาว บวกกับความเสื่อมถอยของดวงตา อาการของ โรคต้อกระจก คือ เลนส์ตาขุ่นจนแสงที่เข้ามาในตาลดลง ทำให้มองเห็นไม่ชัด ตามัว เห็นภาพซ้อน รักษาด้วยการผ่าตัดสลายต้อแทนที่ด้วยเลนส์เทียม

ส่วน โรคต้อหิน เกิดขึ้นได้น้อยกว่า เกิดจากความดันลูกตาสูงจนไปทำลายประสาทตา อาการคือ มองไม่ชัด และวงในการมองเห็นแคบเล็กลงเรื่อยๆ รักษาด้วยการใช้ยา เลเซอร์ หรือผ่าตัดตามแต่กรณี วิธีดูแลและข้อควรระวัง ทั้งก่อนเป็นและหลังเป็น คือ ไม่ใช้สายตาเยอะ หาแว่นกรองแสงจากหน้าจอโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ กินอาหารที่ช่วยบำรุงรักษาดวงตา

โรคความดัน
ความดันโลหิตสูง เกิดได้จากหลายปัจจัย อันตรายจะอยู่ที่โรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง แต่มีสาเหตุหลักๆ คือ พฤติกรรม และ กรรมพันธุ์ ด้านพฤติกรรม คือ กินอาหารที่มีความเสี่ยงให้เกิดความดันสูง ขาดการออกกำลังกาย ไม่ได้ควบคุมน้ำหนักให้ใกล้เคียงเกณฑ์ กินอาหารรสจัด เค็ม หวาน มัน เพียงปรับการใช้ชีวิตให้ ลด ละ เว้น สิ่งที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้ความดันสูง และเพิ่มโอกาสในการบำรุงดูแลร่างกาย เช่น เลือกรับประทาน ออกกำลังกาย ทำจิตใจให้เบิกบาน

โรคหัวใจขาดเลือด
อาการนี้คิดว่าผู้สูงอายุหลายคนอาจจะเคยเจอกับตัวเองมาบ้าง เช่น อาการแน่นหน้าอก หายใจไม่คล่อง รู้สึกอัดอัดร่างกายอย่างบอกไม่ถูก ใจสั่น หน้ามืด ผลมาจากการที่หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจลดลง หรือไม่มีเลย พฤติเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอล เอช ดีแอล (ดี) ต่ำ เป็นเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง มีภาวะเครียด หงุดหงิดง่าย มีประวัติการเป็นเบาหวาน และกรรมพันธุ์

ทั้งหมดนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ประสบพบเจอกับคนใกล้ตัว รวมกับการหาข้อมูลทางออนไลน์ ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกท่าน สิ่งใดขาดตกบกพร่อง ดิฉัน นาง "อัครภิทย์ตา มีชัยวงค์" ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ โรคนี้ถ้าเป็นแล้วไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมได้ นอกเหนือจากการรีบพบแพทย์รักษาอาการแล้ว ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดสามารถดูแลร่างกายตัวเองได้อีกทาง เช่น ออกกำลังกายเบา ควบคุมน้ำหนัก งดกินของมันของทอด ดูแลความดันโลหิตและโรคเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ฝึกนั่งสมาธิเพื่อบริหารจิตใจและบริหารการหายใจ
---------------------------------------

credit : คุณอัครภิทย์ตา มีชัยวงค์ https://www.facebook.com/akarapitta/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่