** ฌานที่ ๔ นี้ก็เป็นที่สุดของฌานทั้ง ๔ นี้คือสัมมาสมาธิความตั้งจิตมั่นชอบ - สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

มรรค ๘ เอโกมรรคโค

มรรคมีองค์ ๘ นี้ พึงเข้าใจว่าไม่ใช่หมายถึง ๘ ทาง แต่ว่าเป็น เอโกมรรคโค คือเป็นทางอันเดียว 
ซึ่งประกอบด้วยองค์คุณ หรือองค์สมบัติ ๘ ประการ รวมเป็นเอโกมรรคโคคือทางอันเดียว

ข้อแรก 
สัมมาทิฏฐิ 
ความเห็นชอบ ก็ได้แก่ ญาณ คือความหยั่งรู้จักทุกข์ ความหยั่งรู้จักทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ 
ความรู้จักทุกขนิโรธความดับทุกข์ ความรู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 
สำหรับ ๓ ข้อแรกคือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ได้แสดงมาแล้วโดยลำดับ ในข้อมรรคมีองค์ ๘ ที่กล่าวในวันนี้ 
ก็เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่ตรัสสอนไว้นี้คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ 
ความดำริชอบ ก็ได้แก่ เนกขัมมะสังกับโป ความดำริออก คือออกจากกาม 
ออกจากเครื่องข้องขัดทั้งหลาย ก็คือกามนั้นเอง อัพยาปาทสังกัปปะความดำริไม่ปองร้าย อวิหิงสาสังกัปปะ 
ความดำริไม่เบียดเบียน นี้คือสัมมาสังกัปปะความดำริชอบ

สัมมาวาจา 
เจรจาชอบก็ได้แก่ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน เว้นจากพูดคำหยาบ 
เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล นี้คือสัมมาวาจาเจรจาชอบ

สัมมากัมมันตะ 
การงานชอบก็ได้แก่ เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ 
เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย หรือเว้นจากอพรหมจริยกิจ กิจที่มิใช่กิจของพรหมจรรย์ 
นี้คือสัมมากัมมันตะการงานชอบ

สัมมาอาชีวะ 
เลี้ยงชีวิตชอบ ก็คือเว้นจากมิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตในทางผิด สำเร็จชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ 
อาชีวะที่ถูกชอบ นี้คือสัมมาอาชีวะ (เริ่ม ๑๘๕/๒)

สัมมาวายามะ 
เพียรชอบ ก็คือเพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว 
เพียรยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ ไม่เสื่อมตกต่ำแต่ให้ทวียิ่งขึ้นจนบริบูรณ์ 
นี้คือสัมมาวายามะเพียรชอบ

สัมมาสติ 
ระลึกได้ชอบก็ได้แก่สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ ตั้งสติพิจารณากาย ตั้งสติพิจารณาเวทนา 
ตั้งสติพิจารณาจิตใจ ตั้งสติพิจารณาธรรมะคือเรื่องในจิตใจ นี้คือสัมมาสติระลึกได้ชอบ

สัมมาสมาธิ 
ตั้งใจมั่นชอบ ก็ได้แก่ความทำจิตให้เป็นสมาธิ คือตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว 
อย่างสูงก็ถึงฌานทั้ง ๔ คือความเพ่งทั้ง ๔ คือทำจิตให้สงบระงับจากกามทั้งหลาย สงบระงับจากอกุศลธรรมทั้งหลาย 
เข้าถึงปฐมฌาน ฌานที่ ๑ ที่มี วิตก ความยกจิตขึ้นสู่สมาธิ วิจาร ความประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธินั้น 
ปีติ ความอิ่มใจ สุข ความสบายกายสบายใจ อันเกิดจากวิเวกคือความสงบสงัด

องค์ฌาน
ปฐมฌาน นี้จึงมีองค์ ๕ อันได้แก่ วิตก ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ วิจาร ความประคองจิตไว้ในอารมณ์ของสมาธิ 
ปีติ ความอิ่มใจ สุขะ ความสบายกายสบายใจ และ เอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว นี้เป็นฌานที่ ๑
........เมื่อได้ฌานที่ ๑ แล้ว ทำสมาธิต่อไปก็เลื่อนขึ้นเป็นฌานที่ ๒ คือ สงบระงับวิตกและวิจาร เข้าถึง ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ 
ซึ่งมีความผ่องใสแห่งใจในภายใน มีธรรมะอันเอกคืออันเดียวผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร แต่มี ปีติ มี สุข อันเกิดจากสมาธิ
ฌานที่ ๒ จึงมีองค์ ๓ คือละวิตกวิจาร มีแต่ ปีติ สุขและ เอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว นี้เป็นทุติยฌาน ฌานที่ ๒
.........เมื่อทำสมาธิต่อไป ก็เลื่อนขึ้นเป็นฌานที่ ๓ คือสงบปีติคือความอิ่มใจเสียได้ มีอุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ 
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายกล่าวไว้ว่า มีอุเบกขา มีสุข อยู่เป็นสุข ดั่งนี้ เข้าถึงตติยฌาน ฌานที่ ๓ ซึ่งมีลักษณะดั่งนี้ ฌานที่ ๓ 
จึงมีองค์คือมี สุข และเอกัคคตา รวมเป็น ๒ นี้เป็นฌานที่ ๓

...........เมื่อทำสมาธิต่อไปก็เลื่อนขึ้นเป็นฌานที่ ๔ ละสุขละทุกข์ได้ มีโสมนัสและโทมนัสดับไป เข้าถึงฌานที่ ๔ 
ซึ่งไม่มีสุขไม่มีทุกข์ มีสติที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ฌานที่ ๔ นี้จึงมีองค์ ๒ คือมี เอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว 
และ อุเบกขา ความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ นี้เป็นฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้ก็เป็นที่สุดของฌานทั้ง ๔ 
นี้คือสัมมาสมาธิความตั้งจิตมั่นชอบ

.....................................................
อมยิ้ม33
เนื้อหาบางส่วนจาก
ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ - สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช 
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-280.htm


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่