ท้องอืด แน่นท้อง... ต้องระวังนิ่วในถุงน้ำดี



ท้องอืด แน่นท้อง...  ต้องระวังนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) ในประเทศไทยพบผู้ป่วยร้อยละ 5-10 ของประชากรโรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่ว นิ่วจากคอเลสเตอรอลพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า และพบมากในคนวัย 40 ปีขึ้นไปหรือวัยกลางคน พบมากในคนอ้วน และคนที่ชอบทานอาหารที่มีไขมันสูง



ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะขนาดเล็กอยู่ในช่องท้อง ลักษณะรูปร่างคล้ายผลแพร์ อยู่ใต้ตับบริเวณชายโครงขวา ทำหน้าที่เป็นแหล่งพักของน้ำดีที่สร้างจากตับดูดน้ำและเกลือแร่จากน้ำดี เพื่อให้เข้มข้นขึ้น สามารถย่อยอาหารประเภทของทอด ของมัน ด้วยปริมาณน้อยอย่างมีประสิทธิภาพในลำไส้เล็กได้
 
น้ำดีที่สร้างจากตับมีส่วนผสมของคอเลสเตอรอล บิลลิรูบิน และเกลือน้ำดีในสัดส่วนที่พอเหมาะให้คงสภาพสารละลาย แต่เมื่อใดที่องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ผิดปกติไป เช่น มีการเพิ่มขึ้นมากเกินไปของคอเลสเตอรอล หรือบิลลิรูบิน เกลือน้ำดีลดลง ร่วมกับการหดตัวน้อยลงของถุงน้ำดี ก็จะทำให้เกิดการตกตะกอนของสารละลายกลายเป็นเม็ดนิ่วเกิดขึ้นในถุงน้ำดี และนิ่วอาจหลุดไปอยู่ในที่อื่นๆ เช่น ท่อน้ำดีหรือลำไส้เล็ก ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นกับร่างกาย



ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีมักไม่มีอาการแสดงใดๆ ในคนที่มีอาการอาจจะมีเพียงอาการท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย หรือบางคนอาจมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ หลังทานอาหารที่เป็นของทอด ของมัน อาจปวดตื้อๆ หรือท้องเกร็ง ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ระยะหนึ่งแล้วจึงค่อยๆ ปวดน้อยลง เป็นๆ หายๆ ช่วงละ 15-30 นาที อาจปวดร้าวไปหลังหรือบริเวณสะบักหลังหรือหัวไหล่ขวา อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยในคนที่นิ่วอุดตันท่อน้ำดีอาจทำให้มีไข้สูง หนาวสั่น และตาเหลืองได้
 
ปัญหาของผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีก็คือผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจไปตรวจ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร จึงไปซื้อยาลดกรดหรือยารักษาโรคกระเพาะมาทานเอง เมื่อมาพบแพทย์ก็อักเสบและมีอาการรุนแรงมากแล้วนิ่วในถุงน้ำดีหากไม่รีบรักษาจะทำให้นิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดีตกไปในท่อน้ำดี กลายเป็นนิ่วในท่อน้ำดี ทำให้มีความยุ่งยากในการรักษาและเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต
 
หากใครที่มีอาการปวดท้องผิดปกติที่ชวนสงสัย ”นิ่วในถุงน้ำดี” ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาการอาจรุนแรงเกิดภาวะแทรกซ้อน และยากต่อการรักษาได้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่