เนื้องอกมดลูก โรคร้ายใกล้ตัวผู้หญิง

เนื้องอกมดลูก โรคร้ายใกล้ตัวผู้หญิง 
รู้สึกไหมครับว่าในช่วง ‘วันนั้นของเดือน’ คุณผู้หญิงหลายๆ คนจะมีอาการหงุดหงิด ปวดศีรษะ ท้องอืด หน้าอกขยาย หิวง่าย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ รวมถึงปวดท้องระหว่างมีประจำเดือนด้วย โดยทั่วไปก็จะเป็นอยู่ซักประมาณ 3 – 8 วัน ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตกไข่ 
แต่อาการผิดปกติในช่วงที่มีประจำเดือนบางกรณีก็อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยของ ‘เนื้องอกในมดลูก’ ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัยประมาณ 30 - 40 ปี และพบมากถึง 20 – 25%เลยทีเดียว แต่...ไม่ต้องตกใจครับ เพราะเนื้องอกชนิดนี้ไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งถ้าตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ก็มีวิธีการรักษาได้ไม่ยาก เพียงแต่เราอาจจะต้องทำความรู้จักกับโรคนี้อีกซักหน่อย
 
‘เนื้องอกมดลูก’ คือเนื้องอกธรรมดาที่อาจพบที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของตัวมดลูกก็ได้ โดยจะมีขนาดแตกต่างกันออกไป อาจจะเป็นก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ การเจริญเติบโตก็ไม่เท่ากัน เพราะบางชนิดก็โตช้า บางชนิดก็โตเร็ว ถ้าเป็นเนื้องอกขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ และอาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป็นเนื้องอกขนาดใหญ่หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆก็ควรจะรีบมาพบแพทย์ดีกว่านะครับ
 
ปัจจัยเสี่ยง 
การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุแน่ชัดของการเกิดเนื้องอกมดลูกได้ แต่ปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้อาจจะไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกได้ 
· ระดับฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือเอสโตรเจน และโปรเจนเตอโรน อาจจะไปกระตุ้นให้ก้อนเนื้องอกโตขึ้น 
· ผลกระทบจากยา โดยเฉพาะยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนต่างๆ   
· กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวเคยเป็นเนื้องอกในมดลูก  ถือเป็นปัจจัยเพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกมดลูกมากขึ้น
· อาหาร  การรับประทานเนื้อแดง หรืออาหารไขมันสูง  รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้มีความเสี่ยง มากกว่าคนปกติ
· สุขภาพร่างกาย ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนวัย   หรือการขาดวิตามินบางชนิด ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงภาวะเนื้องอกมดลูกมากขึ้นเช่นกัน  
 
สัญญาณเตือน
• ประจำเดือนออกมากและนานกว่าปกติ 
• ปวดหน่วงๆ ที่ท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
• มีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
• ท้องผูกเรื้อรัง  
• ปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย หรือปัสสาวะขัด
• คลำพบก้อนที่ท้องน้อย หรือท้องโตคล้ายคนท้อง
 
การรักษา
· การใช้ยา ถ้าอาการไม่รุนแรงหรือก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็ก แพทย์ก็จะให้รับประทานยาแก้ปวด หรือยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยควบคุมอาการปวด แต่สำหรับคนที่ประจำเดือนมามากผิดปกติ แพทย์ก็อาจให้รับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง 
· การใช้ฮอร์โมน (gonadotropin releasing hormone) ซึ่งจะมีผลทำให้เนื้องอกฝ่อลง รวมถึงบรรเทาอาการต่างๆ แต่การใช้ฮอร์โมนดังกล่าว อาจส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงด้วย ดังนั้น คุณผู้หญิงอาจมีอาการร้อนวูบวาบและช่องคลอดแห้ง  รวมถึงอาจเกิดเนื้องอกขึ้นอีกได้หลังจากหยุดใช้ฮอร์โมน
· ยาจำเพาะเจาะจง ปัจจุบันประเทศไทยได้นำเข้ายาชนิดรับประทานจากยุโรป ซึ่งเป็นตัวแรกและตัวเดียวที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อตัวรับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Selective Progesterone Receptor Modulator – SPRM) โดยฤทธิ์ของยาจะช่วยลดอาการปวด ทำให้เซลล์เนื้องอกตายและก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง โดยจะใช้เพื่อลดอาการก่อนการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาแบบเป็นคอร์สโดยไม่ต้องผ่าตัดก็ได้ นอกจากนั้น ยังช่วยหยุดเลือดประจำเดือนที่ออกมามากได้อย่างรวดเร็วด้วย
· การผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ และไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาหรือฮอร์โมนแล้วเท่านั้น  
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยมีเนื้องอกมดลูกก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ตัดมดลูกออกเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ และอาจมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอกและความรุนแรงของอาการ และแม้ว่าเนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดปริมาณมาก หรือบางชนิดก็ทำให้มีบุตรยาก ยิ่งถ้าเป็นขณะตั้งครรภ์ ก็จะเพิ่มความอันตรายและทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทำให้ทารกในครรภ์มีปัญหาในการเจริญเติบโต หรือถึงขั้นแท้งได้
 
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่การสังเกตความผิดปกติของประจำเดือนก็สามารถช่วยบอกถึงภาวะเนื้องอกมดลูกได้ ซึ่งมีหลักการง่ายๆ ให้สังเกตอยู่ 4 ข้อด้วยกัน คือ
 
· สี โดยปกติในช่วงวันแรก ประจำเดือนจะมีสีแดงคล้ำเล็กน้อย และจะกลายเป็นสีแดงสดในวันถัดมา หรือบางคนก็อาจเริ่มด้วยสีแดงสดและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นในช่วงวันท้ายๆ แต่ถ้ามีสีจางมากๆ หรือสีคล้ายน้ำเหลือง ควรรีบไปพบแพทย์เลยนะครับ
· ปริมาณ  ส่วนใหญ่จะมามากในช่วงวันแรกๆ แล้วก็ค่อยๆลดลงจนหมดไป สังเกตง่ายๆก็คือ ถ้าผ้าอนามัยเปียกชุ่มและต้องเปลี่ยนทุกๆ 2 - 3 ชั่วโมง  ถือว่าปกติ  แต่ถ้าต้องเปลี่ยนทุกชั่วโมงและเป็นแบบนี้ตลอดช่วงที่มีประจำเดือน หรือมีนานเกิน 8 วันขึ้นไป หรือมีแบบกะปริดกะปรอยตลอดทั้งเดือน ถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติแล้วนะครับ 
· อาการปวดท้อง กว่า 70% ของผู้หญิงมักจะต้องเผชิญกับอาการปวดท้องทั้งแบบปวดบีบและปวดเกร็ง ซึ่งมีที่มาจากการหลั่งสารโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน โดยจะก่อตัวขึ้นบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกในช่วงที่มีประจำเดือน ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร ถ้าร่างกายหลั่งสารดังกล่าวออกมามากๆก็จะยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น หรืออาจมีอาการคลื่นไส้และท้องเสียร่วมด้วย แต่ถ้าปวดรุนแรงบ่อยๆ หรือเกือบทุกครั้งที่มีประจำเดือน ก็อาจจะเกิดจากเยี่อบุมดลูกเจริญผิดที่หรือมีเนื้องอกในมดลูกได้เช่นกัน
· รอบประจำเดือน  ประจำเดือน หมายความว่า มีเลือดออกจากช่องคลอดเดือนละ 1 ครั้ง  หรือห่างกันประมาณ 28 + 7 วัน โดยแต่ละรอบ ควรจะมาในเวลาใกล้ที่เคียงกัน หรือห่างกันไม่เกิน 7 – 9 วัน   กรณีที่ประจำเดือนขาดบ่อยครั้ง หรือมาเดือนละ 2 – 3 ครั้ง อาจเป็นได้ว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลหรือเกิดโรคภายในอวัยวะสืบพันธุ์  
 
โรคร้ายบางชนิดก็สามารถป้องกันและรักษาได้ ซึ่งนอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว การหมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองบ่อยๆ และไม่ละเลยสัญญาณผิดปกติต่างๆก็ช่วยได้เช่นกัน ที่สำคัญ ต้องไม่คาดเดาอาการเอาเองและปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป แต่ควรจะรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดทั้งเวลา ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย  
 
ดูแลตัวเองและรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ ด้วยรักและห่วงใยจากพี่หมอ ❤ ❤ ❤  
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 1
เนื้องอกมดลูก ไม่ใช่โรคร้าย
ผู้หญิง 70% มีเนื้องอกมดลูก โดยไม่แสดงอาการ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่