วันมหาปวารณา (วันว่ากล่าวตักเตือนกันและกัน)

วันมหาปวารณา (วันว่ากล่าวตักเตือนกันและกัน)
มหาปวารณา (วันที่พระภิกษุสงฆ์สามารถว่ากล่าวตักเตือนกัน) หมายถึง การที่ภิกษุผู้จำพรรษาร่วมกันในอาวาสเดียวกันตลอดสามเดือน สามารถว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้ ด้วยเหตุสามประการ คือ ๑. ต้องได้เห็น ๒. ต้องได้ยิน ๓. ต้องสงสัย มิใช้ว่ากล่าวตักเตือนปราศจากหลักฐาน หรือไร้เหตุผล แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาติให้ภิกษุสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนพระองค์ได้ ภิกษุสงฆ์จะปวารณาในวันสุดท้ายของการจำพรรษา คือ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ตามพุทธบัญญัติ ก่อนวันตักบาตรเทโวโรหนะ ๑ วัน
สาเหตุการทำมหาปวารณาในวันออกพรรษา
ในสมัยหนึ่ง พระภิกษุจำพรรษาในแคว้นโกศล ได้ตั้งกฏกติกาไม่ให้พระภิกษุที่จำพรรษาพูดคุยกัน ให้ใช้วิธีเพียงบอกใบ้ หรือใช้ภาษามือแทนการพูด ครั้งพระพุทธเจ้าทรงทราบก็ตำหนิติเตียนกฏกติกาของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุทำการปวารณาต่อกัน เพื่อที่จะนำคำที่มีประโยชน์เหล่านั้นไปปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาตนเอง ไม่เว้นแม่แต่พระองค์เองที่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนพระองค์เองได้ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยหลักฐานสามลักษณะดังที่กล่าวมาแล้ว
คำปวารณาออกพรรษา
สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทันตุ มัง อายัส๎มันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ, ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ.
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปวารณาสงฆ์ ขอท่านทั้งหลายโปรดอาศัยความอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้า ด้วยความผิดพลาดที่ได้เห็นก็ดี ที่ได้ยินก็ดี ด้วยความรังเกียจสงสัยก็ดี ข้าพเจ้าเห็นความผิดพลาดนั้นอยู่จักกระทำคืน”

วัตถุประสงค์การปวารณา
๑. เป็นวิธีการลดหย่อยผ่อนคลายความคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัยกันและกันให้หมดไป
๒. เป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกัน ให้มีโอกาสกลับคืนดีด้วยการให้โอกาส และปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน
๓. เป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์
๔. เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิด รวมถึงสามารถว่ากล่าวตักเตือน ให้คำแนะนำได้โดยไม่คำนึงถึงยศ พรรษา และอายุ
๕. ทำให้เกิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ ความรู้สึกเป็นมิตร มีความปรารถนาดี มีเอื้อเฟื้ออาทรต่อกัน ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงาม
ประโยชน์ของการปวารณา
๑. ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ในเพศบรรพชิต ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นการคลายความสงสัย ความระแวงให้หมดสิ้นไป
๒.พระภิกษุทุกรูปจะรู้ข้อบกพร่องของตนเอง และนำข้อบกพร่องไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
๓.พระภิกษุทุกรูปจะได้ขอขมากันและกัน เพื่อที่จะไม่ถือโทษโกรธเคืองกันในภายหลัง ส่งผลให้อยู่ร่วมกันในหมู่คณะอย่างผาสุก
๔.เป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดในหมู่สงฆ์เหล่านั้น
๕. ทำให้คณะสงฆ์มีความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การถูกทำลาย
ฉะนั้น วันมหาปวารณา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาติให้พระภิกษุว่ากล่าวตักเตือน แนะนำกันและกันได้ ด้วยหลักฐาน ๓ ประการ คือ ๑. ต้องด้วยได้เห็น ๒. ต้องด้วยได้ยิน ๓. ต้องด้วยสงสัย ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธองค์เอง เพื่อให้พระภิกษุนำคำที่มีประโยชน์เหล่านั้นไปปรับปรุงพัฒนาตนเองให้ได้บรรลุผลตามเป้าหมายของพระพุทธศาสนา

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่