--- ข่าวจากโฆษกประจำสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรณี คณะสงฆ์ไทยไม่อาจรับรองการบวชภิกษุณี --- เพื่อทราบและเป็นข้อมูลใน..

กระทู้สนทนา
เพื่อทราบและเป็นข้อมูลในการพิจารณา กรณีนี้ ครับ


---------------- พอดีได้พูดคุยกับบางท่าน กรณีผุ้จัดรายการทีวี  ให้ความเห็นกรณีเกี่ยวกับการบวชสตรี  ได้ค้นหาข้อมูล  
                            พบข่าว  ในเพจของสำนักงานพระพุทธศาสนา ดังนี้ครับ



http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=9958:2014-12-12-12-40-39&catid=170:2014-11-20-15-55-13&Itemid=422
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

คณะสงฆ์ไทยไม่อาจรับรองการบวชภิกษุณี

ข่าวจากโฆษก พศ.

ภิกษุณีหมายถึงหญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔) ในสมัยพุทธกาลพระนางมหาปชาบดีโคตมี (พระน้านาง) ถือเป็นภิกษุณีองค์แรกที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชสตรีเป็นภิกษุณี  แต่กว่าที่พระนางจะได้บวชพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสห้ามเสีย ๓ ครั้ง  เมื่อพระอานนท์ไปขอต่อพระพุทธเจ้าพระนางจึงได้รับอนุญาตให้บวชในพระพุทธศาสนา  โดยก่อนอุปสมบทพระนางจะต้องรับครุธรรม ๘  ข้อ  คือ

๑.  ภิกษุณีที่อุปสมบทแล้วต้องกราบไหว้พระภิกษุ
๒.  ภิกษุณีจะต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุ
๓.  ภิกษุณีจะต้องเข้าฟังโอวาทจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔.  ภิกษุณีออกพรรษาพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย คือ
พระภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์  
๕.  ภิกษุณีเมื่อต้องอาบัติหนักต้องอยู่กรรม ๑๕ วัน  ในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
๖.  สตรีที่ศึกษาอยู่ในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี (กล่าวคือรักษาศีล ๑๐ ของสามเณร ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๖  โดยไม่ขาดตลอดเวลา ๒ ปี) เรียกว่า นางสิกขมานา เมื่อได้ศึกษาแล้ว ดังนี้จึงอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายได้
๗.  ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุโดยปริยายใด ๆ
๘.  ภิกษุทั้งหลายสั่งสอนห้ามปรามภิกษุณีทั้งหลายได้ แต่ภิกษุณีทั้งหลายจะสั่งสอนห้ามปรามภิกษุทั้งหลายไม่ได้

ถึงแม้นว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชสตรีเป็นภิกษุณีได้  แต่ด้วยการที่ต้องรับครุธรรม ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับปัญหาเรื่องสวัสดิภาพของภิกษุณีทั้งการอยู่อาศัยในป่า  การอยู่อาศัยร่วมกับบุรุษทำให้ภิกษุณีค่อย ๆ หมดไป  ภายหลังพุทธปรินิพพานไปแล้ว

สำหรับประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  การศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาไม่ปรากฏมีการกล่าวถึงภิกษุณี  กระทั่งยุคปัจจุบันได้มีการจัดพิธีอุปสมบทภิกษุณีและบรรพชาสามเณรีกันขึ้นมา  มีคณะภิกษุณีสงฆ์และคณะภิกษุสงฆ์จากศรีลังกามาเป็นอุปัชฌาย์

คณะสงฆ์ศรีลังกานับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทเช่นเดียวกับประเทศไทยและพระพุทธศาสนาสายเถรวาทนั้น รับรองกันว่าภิกษุณีสงฆ์ได้ขาดสูญไปนานแล้ว  มิอาจกระทำการอุปสมบทสตรีขึ้นเป็นภิกษุณีได้อีก  เพราะไม่มีภิกษุณีมาทำหน้าที่อุปัชฌาย์  ในประเทศศรีลังกาก็เช่นกัน  คัมภีร์มหาวงศ์บันทึกไว้ว่า

ใน พ.ศ. ๑๕๖๐  ทมิฬโจฬะจากภาคใต้ของอินเดียได้เข้ายึดครองเมืองอนุราธปุระแล้วบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจนกระทั่งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ขาดสูญไปจากประเทศศรีลังกา  ต่อมากษัตริย์ศรีลังกาพระนามว่าพระเจ้าวิชัยพาหุสามารถขับไล่ทมิฬโจฬะออกไปจากประเทศได้สำเร็จ เมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๙  แล้วทรงฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีในศรีลังกาด้วยการอาราธนาคณะภิกษุสงฆ์จากประเทศพม่าไปเป็นผู้ดำเนินการ แต่การอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์ไม่ได้รับการฟื้นฟูในครั้งนั้น เพราะไม่มีภิกษุณีสงฆ์ในประเทศพม่า  ด้วยเหตุนี้ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาจึงขาดสูญไปตั้งแต่บัดนั้น

คณะสงฆ์ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมาสืบเชื้อสายมาจากคณะสงฆ์สายเถรวาทจากประเทศศรีลังกา  เรียกว่าลัทธิลังกาวงศ์จึงไม่ปรากฏการอุปสมบทภิกษุณี     แต่ยังมีคณะบุคคลพยายามรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีขึ้นในประเทศไทยทำให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ      กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  พระสังฆราชเจ้า ทรงประกาศห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต    ความว่า

“หญิงซึ่งจักได้สมมติตนเป็นสามเณรี โดยถูกต้องพระพุทธานุญาตนั้น ต้องสำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา  เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษา ๑๒ ล่วงแล้วเป็น ปวัตตินีคือเป็นอุปัชฌาย์  ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์  นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว เมื่อนางภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อสามเณรีไม่มีแล้ว  สามเณรีผู้บวชสืบต่อมาจากภิกษุณีก็ไม่มี  เป็นอันเสื่อมสูญไปตามกัน ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี  ผู้นั้นชื่อว่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ เลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเพราะเหตุนี้ห้ามไม่ให้พระเณรทุกนิกาย บวชหญิงเป็นภิกษุณีเป็นสิกขมานา และเป็นสามเณรี ตั้งแต่นี้ไป ฯ ประกาศแต่วันที่ ๑๘  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๑”

ในการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการบวชภิกษุณีในประเทศไทย  แล้วเห็นว่าประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎก พระพุทธศาสนาสายเถรวาทนี้ไม่อาจบรรพชาสามเณรีและอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีขึ้นได้อีก  พร้อมกับมีมติให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับกวดขันให้มีการถือปฏิบัติตามประกาศพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์พระสังฆราชเจ้า เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ.๒๔๗๑ และพระวรธรรมคติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก และมติมหาเถรสมาคม พ.ศ.๒๕๔๕  เรื่องการบวชภิกษุณีอย่างเคร่งครัด  

“ขอทำความเข้าใจแก่สาธารณชนว่าการบวชสามเณรีและภิกษุณีในคณะสงฆ์ สายเถรวาทในปัจจุบันนี้ไม่อาจทำได้และคณะสงฆ์ไม่อาจรับรองการบวชดังกล่าว”

ดร.สมชาย   สุรชาตรี
ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โฆษกประจำสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่