ความลับที่น่าอัศจรรย์ของสัตว์

การงอกอวัยวะที่ขาด (limb regeneration)


ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบความลับว่า ทำไมสัตว์บางชนิดจึงสามารถงอกอวัยวะที่ขาดได้ หลังจากการค้นคว้าวิจัยมากว่า 30 ปี
จากการค้นคว้าในอดีตทำให้ทราบว่า สัตว์บางชนิดใช้กรดเฉพาะบางอย่างในการงอกอวัยวะใหม่ แต่ ยังไม่มีใครทราบกลไกการทำงานของมันอย่างแท้จริง
ปัจจุบันทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Konstanz ในทางตอนใต้ของเยอรมัน ได้ออกมาประกาศว่าพวกเขาสามารถไขความลับในการงอกอวัยวะได้แล้ว

จากการศึกษาในปลาม้าลาย(Zebra fish) ทีมวิจัยพบว่ากรด Retinoic acid คือกุญแจสำคัญสำหรับกลไกการงอกอวัยวะ
ทีมทำการศึกษากับปลาม้าลาย ที่ครีบขาด โดยทีมวิจัยพบว่าก่อนที่ปลาม้าลายจะงอกครีบที่ขาดไป บาดแผลจะสมานด้วยเนื้อเยื่อหลายชั้น โดยเซลล์ด้านใต้เนื้อเยื่อจะสูญเสียรูปแบบดั่งเดิมของเซลล์ไปกลายเป็นเซลล์ Blastema และกรดRetinoic จะเข้ามาควบคุมรูปแบบของเซลล์ Blastema ให้กลายเป็นเซลล์ของอวัยวะที่ขาด หรือได้รับความเสียหาย

เซลล์ Blastema คือ เซลล์ที่สามารถเจริญเติบโต และงอกเป็นอวัยวะได้ทั้งมนุษย์ และสัตว์สามารถสร้างกรด Retinoic ได้จากวิตามินเอ ฉะนั้นถ้าหญิงมีครรภ์ที่ได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอทารกจะมีการพัฒนาที่ต่ำกว่าปกติ
ถึงตอนนี้เราจะทราบกลไกการทำงานการงอกอวัยวะีของปลาม้าลายโดยอาศัยกรดRetinoicแล้ว ปัญหาในตอนนี้ก็คือทำไมมนุษย์จึงไม่สามารถงอกอวัยวะได้ทั้งที่ก็มีกรดRetinoicในร่างกายเหมือนกันเราต้องค้นหาอุปสรรคของขบวนการงอกอวัยวะในมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ซักวันจะมีตัวยาที่สามารถทำให้มนุษย์งอกอวัยวะที่ขาดหายได้เหมือนหางจิ้งจก
Cr.sites.google.com

อีกหนึ่งความลับของ “หมีน้ำ”


ทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยเอดินบะระของสหราชอาณาจักร ได้ค้นพบกลไกทางพันธุกรรมอีกอย่างหนึ่งในตัวหมีน้ำ ซึ่งช่วยให้มันจำศีลอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีน้ำสักหยดเป็นเวลานานหลายสิบปี หรือในบางกรณีอาจนานนับร้อยปี ทั้งสามารถฟื้นกลับคืนมาเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาได้อีกครั้งเมื่อได้รับน้ำด้วย

กลไกรักษาชีวิตในสภาพขาดน้ำของหมีน้ำแต่ละชนิดพันธุ์นั้นแตกต่างกันไป โดยก่อนหน้านี้มีการค้นพบว่ายีนของหมีน้ำบางชนิดพันธุ์จะสั่งการให้ร่างกายผลิตน้ำตาล Trehalose ที่มีลักษณะคล้ายแก้วหลอมเข้าเคลือบรักษาส่วนสำคัญภายในเซลล์เช่นโปรตีนต่าง ๆ และผนังเซลล์ไม่ให้เสียหาย ตัวหมีน้ำเองก็จะหดงอร่างกายลงเป็นก้อนแห้ง ๆ จนกว่าจะได้รับน้ำอีกครั้ง ทั้งยังสามารถซ่อมแซมดีเอ็นเอของตนเองที่ได้รับความเสียหายจากความร้อนและแสงอาทิตย์ระหว่างที่จำศีลอยู่คืนมาได้ด้วย

ศาสตราจารย์มาร์กซ์ แบล็กซ์เทอร์ หนึ่งในผู้ร่วมทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระกล่าวว่า คุณสมบัติทางพันธุกรรมที่น่าทึ่งของหมีน้ำนี้ อาจนำไปประยุกต์เพื่อใช้ประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่นในการเก็บรักษาวัคซีนเพื่อขนส่งแจกจ่ายยังถิ่นกันดารที่ห่างไกล และการเก็บวัคซีนไว้ได้เป็นเวลานานโดยไม่ต้องแช่เย็น
Cr.bbc.com

ความลับปลาทอง ทำไมมีชีวิตอยู่ได้ภายใต้น้ำแข็ง


ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports ระบุถึงกระบวนการทางร่างกาย ของปลาทองจะเปลี่ยนกรดแลคติกให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยให้อยู่รอด ซึ่งปริมาณที่พบในบางตัว ถือว่าสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดสำหรับผู้ขับขี่อีกด้วย และผลการศึกษานี้ อาจสามารถนำไปต่อยอดเพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากแอลกอฮอล์ในมนุษย์ได้
ข้อสรุปใหม่นี้ เป็นผลงานวิจัยเพิ่มเติมจากการศึกษาเมื่อปี 1980 ที่ชี้ว่าปลาทองและปลาสายพันธุ์ใกล้เคียง สามารถการอยู่รอดได้ในน้ำเย็นจัด โดยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ปลาทองมีกลไกในระดับโมเลกุลที่แตกต่าง

ปกติแล้ว สัตว์ทั่วไปจะมีโปรตีนกลุ่มเดียว ทำหน้าที่ลำเลียงคาร์โบไฮเดรตไปยังไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นเซลล์แหล่งสะสมพลังงาน โดยในภาวะที่ขาดออกซิเจน การนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้งานจะก่อให้เกิดกรดแลคติกซึ่งร่างกายของปลาทองไม่สามารถกำจัดออกได้ และจะทำให้มันตายภายในไม่กี่นาที
แต่ปลาทองโชคดี ที่วิวัฒนาการโปรตีนอีกชุดหนึ่งขึ้นมาทำงานแทนในภาวะที่ขาดออกซิเจน และจะเปลี่ยนกรดแลคติกเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถขับออกผ่านทางเหงือกได้

ดร.ไมเคิล เบเรนบริงค์ จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร กล่าวว่า "หนทางที่สองนี้ จะทำงานเฉพาะเวลาขาดออกซิเจนเท่านั้น" หรือ "ในภาวะที่น้ำกลายเป็นน้ำแข็งด้านบนมาปิดไม่ให้ปลาทองหายใจรับออกซิเจนได้ ก็จะมีการเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์" และยิ่งอยู่ในน้ำที่เป็นน้ำแข็ง ที่ไม่มีอากาศนานเท่าไร ระดับแอลกอฮอล์ในตัวปลาทองก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

" จะพบว่าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของปลา เพิ่มขึ้นสูงกว่า 50 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตสำหรับผู้ขับขี่ในสกอตแลนด์และหลายประเทศในยุโรปตอนเหนือ"  แม้ว่าปลาทองจะมีแอลกอฮอล์อยู่ในร่างกาย ภาวะคล้ายคนที่ดื่มจนเมานี้กลับไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ปลาตาย แต่เป็นกรณีที่ฤดูหนาวนานเกินไปมากกว่า เพราะปลาทองจะใช้พลังงานจากตับจนหมดและตายไปในที่สุด

นักวิจัยระบุว่าได้บทเรียนสำคัญจากการค้นพบนี้ เกี่ยวกับวิวัฒนาการการปรับตัวของสัตว์ ซึ่งสามารถผลิตยีนซ้ำอีกชุด มาช่วยให้สามารถมีชีวิตต่อได้เป็นปกติ เหมือนเป็นยีนชุดสำรองที่มีประโยชน์ 
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ยังคำนวณเล่นๆ ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรถึงจะผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสารคัดหลั่งของปลาได้ โดยดร. เบเรนบริงค์ กล่าวว่า "หากนำปลาทองใส่ลงไปในแก้วเบียร์และปิดไว้ แล้วทิ้งไว้ 200 วัน ถึงจะได้แอลกอฮอล์ในระดับร้อยละ 4 และนั่นไม่มีทางเป็นไปได้ในธรรมชาติ"
Cr.bbc.com

ความลับฉบับเหมียวเรื่องการดมกลิ่น


แม้ว่าแมวจะไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ดมกลิ่นได้เก่งเท่ากับสุนัข แต่จมูกแมวก็สามารถรับกลิ่นได้ดีมาก และดีกว่าคนแน่นอน โพรงจมูกของแมวเมื่อเทียบกับขนาดตัวแล้ว ถือว่าใหญ่กว่ามนุษย์ถึง 5 เท่า ทำให้รับกลิ่นได้ดีกว่า ใช้ประสาทการดมเพื่อแยกแยะว่าใครเป็นใคร รวมไปถึงใช้กลิ่นเพื่อสร้างอาณาเขตอีกด้วย
ความลับอีกอย่างหนึ่งก็คือ แมวมีอวัยวะพิเศษที่เรียกว่า เจคอบสัน (The Jacobsen organ) อยู่ใต้โพรงจมูก ที่เปิดไปสู่ปากทางด้านหลังของฟันหน้า ทำหน้าที่ปล่อยของเหลวออกมาเพื่อทำปฏิกิริยากับเคมีของกลิ่นที่ได้รับ และดึงของเหลวนั้นกลับเข้าไปเพื่อวิเคราะห์ แต่อวัยวะส่วนนี้จะวิเคราะห์เพียงกลิ่นที่ได้จากแมวด้วยกันเท่านั้น จะมีท่าทางบางอย่าง ที่เรียกว่า Flehmen Reaction นั่นคือ พฤติกรรมอันแสนตลก เวลาที่แมวดมอะไรสักอย่างแล้วอ้าปากค้างนั่นแหละค่ะ
Cr.petcitiz.info

ความลับใน “กระเป๋าหน้าท้อง” ของจิงโจ้


ขอบคุณภาพจาก earthtouchnews.com
 จิงโจ้ตัวเมียจะมีกระเป๋าหน้าท้องไว้สำหรับเลี้ยงลูกๆ ของมัน ภายในกระเป๋าหน้าท้องของเจ้าจิงโจ้จะมีลักษณะเป็นผิวหนังมีจุดขาวๆ ดำๆ อยู่เต็มไปหมด ที่สำคัญในนั้นยังมีเต้านม 4 เต้า ไว้สำหรับให้นมลูกๆ ของมันอีกด้วย

ตามธรรมชาติแล้ว ลูกจิงโจ้จะอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องตั้งแต่แรกเกิด มันจะควานหาถุงหน้าท้องของแม่ตามสัญชาตญาณ แล้วเข้าไปซุกตัวอยู่ในนั้นจนกว่าร่างกายจะเติบโต ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ลูกจิงโจ้ก็จะสามารถออกจากกระเป๋าหน้าท้องของแม่ได้เป็นบางครั้ง และเมื่อเติบโตและแข็งแรงมากพอ ลูกจิงโจ้ก็จะสามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้ แต่ถ้ามีอันตรายมันก็จะกลับเข้าไปอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่ทันที
Cr.ch3thailand.com

ความลับของใยแมงมุม


 ใยแมงมุม หรือ Spider Web ถูกผลิตขึ้นจากอวัยวะหนึ่งของแมงมุมที่ชื่อว่า “ต่อมผลิตเส้นใย” โดยการนำโปรตีนมาเปลี่ยนให้กลายเป็นเส้นใย คล้ายกับการนำของเหลวมาเปลี่ยนให้กลายเป็นของแข็งแต่ไม่เพียงเปลี่ยนสถานะเท่านั้น ใยแมงมุมยังมีการจัดเรียงถักทอเส้นใยในแบบที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นทำได้ ซึ่งด้วยการถักทอที่แสนพิเศษนี้เอง ที่ทำให้ใยแมงมุมมีคุณสมบัติพิเศษมากมาย เช่น หากเปรียบเทียบในเรื่องของความแข็งแรง ใยแมงมุมจะมีความแข็งแรงมากกว่าเส้นใยไนลอนที่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ และหากเปรียบเทียบในเรื่องของร้อยละความยืดหยุ่นเส้นใยแมงมุมนั้นจะมีร้อยละความยืดหยุ่นมากกว่าทั้ง เส้นใยไหม เส้นไยไนลอน เส้นใยคาร์บอน และเส้นใยเหล็ก (เปรียบเทียบในปริมาณที่เท่ากัน)
          
การที่เส้นใยแมงมุมมีคุณสมบัติในการยืดหยุ่นได้ดี  เป็นเพราะโครงสร้างของเส้นใย หากเรานำเส้นใยแมงมุมมาวางและตัดขวาง เราจะเห็นว่าแกนกลางของเส้นใยนั้นเป็นส่วนของโปรตีนที่มีชื่อว่า Spidroin (สไปโดอิน) และจะถูกล้อมรอบด้วยไกลโคโปรตีนเป็นชั้นกลาง ตามด้วยไขมันเป็นชั้นสุดท้าย

นอกจากนี้โครงสร้างทางโมเลกุลของเส้นใยยังมีทั้งส่วนที่เป็นระเบียบ (เป็นลักษณะผลึก) และส่วนที่ไม่ได้จัดเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบอยู่ด้วยกัน ทำให้มีโครงสร้างทางโมเลกุลแบบผสม ซึ่งส่งผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพที่ดีของใยแมงมุม จนมีการนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ เช่น การนำไปใช้ในการผลิตเสื้อเกราะกันกระสุน การผลิตเข็มขัดนิรภัย ไหมเย็บแผล และเส้นเอ็นเทียม และนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาเตรียมศึกษาเพื่อนำใยแมงมุมไปผลิตเป็นกล้ามเนื้อของหุ่นยนต์
Cr.scimath.org

'ค้างคาว' ความลับการมีชีวิตยืนยาว


นักวิจัยของยุโรปรายงานการศึกษาเกี่ยวกับค้างคาวในวารสารวิทยาศาสตร์ Science Advances เดือนนี้ รัะบุว่า ค้างคาวนอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่สามารถบินได้ไกลแล้ว ค้างคาวหลายชนิดยังมีอายุยืนยาวมากเมื่อพิจารณาจากขนาดและน้ำหนักตัว

นักวิจัยสนใจศึกษาเรื่องนี้เพื่อหาคำตอบที่จะนำมาปรับใช้กับกระบวนการสูงวัยของมนุษย์ และเพื่อให้การย่างเข้าสู่วัยทองเป็นไปได้ด้วยดีและมีคุณภาพ
นักวิจัยได้พบคุณสมบัติที่สำคัญทางชีววิทยาในค้างคาวบางพันธุ์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับสารชื่อ เทโลเมเรส (telomeres) ซึ่งอยู่ที่ส่วนปลายของโครโมโซม
โดยปกติแล้วสารเทโลเมเรสนี้จะหุ้มและช่วยปกป้องส่วนปลายของโครโมโซม แต่จะมีขนาดสั้นลงทุกครั้งเมื่อเซลล์แบ่งตัว และการสั้นลงของเทโลเมเรสทำให้เซลล์สลายตัว นำไปสู่กระบวนการชราภาพในสิ่งมีชีวิต

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มค้างคาวหนู ซึ่งมีลักษณะหูคล้ายหนู และสายพันธุ์อื่นที่ใกล้เคียง ที่เรียกว่าค้างคาวกลุ่ม Myotis นั้น มีสารเทโลเมเรสซึ่งไม่สั้นลงจากการแบ่งเซลล์หรือสั้นลงในอัตราที่ช้ากว่าปกติ

นักวิจัยพบว่า ค้างคาวหนูโดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุยาวถึง 37 ปี และค้างคาว Myotis บางพันธุ์มีอายุยืนที่สุดคือถึง 41 ปี Ffpบอกด้วยว่า เท่าที่ทราบในขณะนี้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียง 19 ชนิดเท่านั้นที่มีอายุยืนยาวกว่ามนุษย์ หากเทียบจากขนาดและน้ำหนักตัวโดย 18 ใน 19 สายพันธุ์ดังกล่าวล้วนแต่เป็นค้างคาว
Cr.voathai.com

ความลับของปูลม


ปูลม หรือปูผี เป็นปูน้ำเค็มขนาดเล็กในสกุล Ocypode ปูลมมีก้านตาที่ยาว สามารถหุบพับลงตามแนวนอน โยกไปข้างหน้าและหลังก็ได้ ปูลมสามารถมองเห็นวัตถุ เช่น มนุษย์ ได้ไกลอย่างน้อย 45 เมตรจึงทำให้ไม่มีสิ่งใดสามารถเข้าใกล้มันได้เลย ก้ามของปูยาวไม่เท่ากัน ก้ามใหญ่อาจจะอยู่ทางด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ หากเราสังเกตที่กระดองของปูลมจะพบสัญลักษณ์คล้ายวงเล็บ
 
ปูลมเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ภายในกระดองของปูแบ่งออกเป็นช่อง ซึ่งแต่ละช่องบรรจุอวัยวะช่วยหายใจ ทำหน้าที่คล้ายปอดของคนเราในการดึงออกซิเจนเข้ามาในขณะที่ปล่อยของเสีย (คาร์บอนไดออกไซด์) ผ่านเหงือกที่เปียก ซึ่งสิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ปูลมสามารถปรับตัวอยู่บนบกได้
ปูลมเป็นนักวิ่งที่เร็วมาก สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 4 เมตรต่อวินาที 
Cr. phuketaquarium.org
 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่