มาทำความเข้าใจคำว่า "รู้ทุกข์"

ทุกท่านในที่นี้น่าจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า "ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธให้แจ้ง มรรคให้เจริญ" (หรือไม่ก็ "รู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค") กันทุกคนนะครับ

สำหรับกระทู้นี้ผมจะขอพูดถึงเฉพาะคำว่า "รู้ทุกข์" หรือในพระไตรปิฏกใช้คำว่า "ทุกข์ให้กำหนดรู้"

ผมเชื่อว่าน่าจะมีหลายท่านเข้าใจว่า "รู้ทุกข์" หมายถึงการรู้อารมณ์ที่เป็นทุกข์ทั้งหลาย รวมไปถึงทุกขเวทนา เช่น เศร้าก็รู้ ดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้ โกรธก็รู้ โมโหก็รู้ โลภก็รู้ เจ็บก็รู้ ปวดก็รู้ ฯลฯ

ซึ่งนั่นไม่ใช่ความหมายของคำว่า "รู้ทุกข์" ในอริยสัจสี่ แต่เป็นการ "เจริญมรรค" หรือก็คือการเจริญสติปัฏฐานสี่อย่างหนึ่ง

คำว่า "รู้ทุกข์" (หรือ "ทุกข์ให้รู้" หรือ "ทุกข์ให้กำหนดรู้") ทุกข์ในที่นี้หมายถึง ทุกขอริยสัจ นั่นคือ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 (ต่างหากที่)เป็นทุกข์

หมายความว่าอะไร?

หมายความว่า สิ่งที่เราควรกำหนดรู้อยู่เสมอ นั่นคือ ขันธ์ทั้ง 5 หรือร่างกายและจิตใจของเรานี้ มันไม่ใช่ตัวเรา ที่เป็นตัวเราเพราะมีอุปาทานเกิดขึ้น

เวลาที่มีความทุกข์เกิดขึ้น หรือมีกิเลสเกิดขึ้น ให้คิดว่าไม่ได้เกิดกับตัวเรา เพราะไม่มีตัวเรา เราแค่มาอาศัยขันธ์ 5 อยู่ชั่วคราวเท่านั้น

ผมมักจะยกตัวอย่างให้เปรียบตัวเราว่าเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่มาอาศัยอยู่ ซึ่งบังเอิญผมได้ฟังเทศน์ของหลวงปู่เทสก์ ท่านก็ยกตัวอย่างนี้เช่นเดียวกัน และไม่ได้ยกตัวอย่างเฉยๆ เท่านั้น ท่านยังอ้างพระไตรปิฏกบอกด้วยว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสอุปมาอุปมัยไว้แบบนี้เช่นกัน (พระพุทธเจ้าน่าจะเปรียบเทียบหลายอย่าง ตามจริตผู้ฟัง)

ดังนั้น สรุปนะครับ คำว่า "รู้ทุกข์" (ในอริยสัจสี่) ไม่ได้หมายถึงการเจริญสติปัฏฐานสี่ เช่น ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ เป็นคนละเรื่องกัน

และผู้ที่ "รู้ทุกข์" อย่างแจ่มแจ้ง เห็นความจริงว่าอุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ นั่นก็คือผู้บรรลุธรรมแล้ว

แน่นอนว่า เมื่อรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง นั่นหมายถึงได้เจริญมรรคสมบูรณ์แล้ว สมุทัยก็จะละไปด้วย นิโรธ (หรือนิพพาน) ก็จะแจ้งไปด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่