การวิ่งกับเดินใช้พลังงานเท่ากันในระยะทางเท่ากัน จริงหรือไม่?

เมื่อวานดูคลิปสอนเรื่องการวิ่งเค้าบอกว่า วิ่งกับเดิน ใช้พลังงานเท่ากันถ้าระยะทางเท่ากัน
แต่ฟังแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ เลยมาหาว่าเคยมีคนคุยเรื่องนี้ในพันทิปรึยัง ซึ่งก็มีเยอะ
แต่ทุกกระทู้พูดแค่ วิ่ง vs เดิน โดยไม่ได้คุมตัวแปรอื่น ๆ เลย ทุกคนก็เลยบอกว่าการวิ่งเผาผลาญได้เยอะกว่า

แต่พอลองไปดูสูตรฟิสิกส์ W= f x s (งานเท่ากับแรงคูณระยะทาง) 
ถ้าคิดง่ายๆ ออกแรงให้น้ำหนักตัวเราเองเคลื่อนไปข้างหน้าในระยะทางเท่าเดิม มันก็ได้งานเท่ากันจริงๆ
การวิ่งจะทำให้งานจบเร็วขึ้นแค่นั้น เช่น ออกแรงดันตัวเองที่หนัก 80 kgไปข้างหน้า เป็นระยะทาง 1 km 
ก็จะได้เผาผลาญได้เท่ากัน แต่การเดินอาจจะต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมง แต่วิ่งอาจจะจบใน 10 นาที

คำถามคือมันใช่จริงรึเปล่า หรือผมคุ้ยนู่นคุ้ยนี่แล้วพลาดไปผูกเรื่องมั่วไปเอง 
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
หากเรานำกฏฟิสิกส์เรื่อง งาน  W = f.s มาใช้  มันจะใช้ไม่ได้กับร่างกายมนุษย์ครับ
เพราะร่างกายมนุษย์ไม่ได้มีการทำงานแบบเป็นเชิงเส้น  แต่สมการ W = f.s  เป็นสมการเชิงเส้น

ผมลองไปอ่านที่เวบนี้
https://www.runtastic.com/blog/en/calories-burned-walking-vs-running/
สรุปได้ว่า  การวิ่งจะใช้พลังงานต่อ 1 ช่วงเวลามากกว่าเดินแน่นอน (อันนี้ ทุกคนทราบดี)
แต่มันจะมีจุดที่การวิ่ง กับ เดิน ใช้พลังงานจากร่างกายเท่ากัน  นั่นคือความเร็วประมาณ 8 km/h

แต่หากเรา วิ่ง เร็วกว่า 8 km/h ในระยะทางเท่ากัน  เราจะใช้พลังงานมากกว่าการเดินปกติครับ

ขอยกตัวเลขมาให้ดูนะครับ ...... ในระยะทาง 1 กิโลเมตร
- เดินแบบช้า สบาย ๆ   3.2 km/h  ใช้พลังงาน 72.8 Cal
- เดินค่อนข้างเร็ว   5.1 km/h  ใช้พลังงาน 59.5 Cal
- เดินเร็วแบบแข่งขันเดินทน  8 km/h  ใช้พลังงาน 86.1 Cal

- วิ่งแบบจ๊อกกิ้ง  8 km/h  ใช้พลังงาน 86.1 Cal
- วิ่งแบบความเร็วปกติ 13 km/h  ใช้พลังงาน 77 Cal
- วิ่งแบบเร็ว 16 km/h  ใช้พลังงาน 75.8 Cal

จะเห็นว่าความเร็ว กับ พลังงานที่ใช้  มันไม่มีความเป็นเชิงเส้นเลย
ระยะทาง 1 กิโลเมตร  การเดินช้า ๆ สบาย ๆ กลับใช้พลังงานมากใกล้เคียงการวิ่งแบบปกติเลยด้วย
(ผมกดคำนวณตามเวบในลิงค์ข้างบน  ก็ไม่ทราบใช้หลักการใดในการคำนวณนะครับ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่