อู่ตะเภา-ไฮสปีดเทรน ความท้าทายของภาคเอกชน

หลังจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก กรณีไม่รับพิจารณาเอกสารข้อเสนอกล่องที่ 6 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ) และกล่องที่ 9 (ข้อเสนอด้านราคา) โดยอ้างว่าเป็นการยื่นข้อเสนอเกินกำหนดเวลา เป็นเหตุให้ทางกลุ่มฯ ได้รับความเสียหาย

กลุ่มซีพีมีทางเลือก 2 ทาง คือ 1. ยอมจบเรื่องเพียงเท่านี้ ซึ่งหมายความว่าผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 กลุ่มที่เหลือจะชิงชัยกัน ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และ กลุ่ม Grand Consortium

หรือทางเลือกที่ 2. สู้ต่อ โดยกลุ่มซีพีมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ภายในเวลา 30 วัน ส่วนกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะยังคงเดินหน้าคู่ขนานกันไป ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอเทคนิค)

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มซีพีเลือกอุทธรณ์ต่อ คาดว่ากระบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดน่าจะใช้เวลาไม่นานเท่ากับกระบวนการของศาลปกครองกลาง ที่ต้องใช้เวลาในขั้นตอนของการสืบความ แต่น่าจะพิจารณาจากเหตุและผลของตุลาการและจากคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ที่มีความเห็นในสองทาง เพื่อเทียบเคียงกัน ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดตัดสินอย่างไร ก็ให้ถือเป็นที่สุดตามนั้น


ศึกครั้งนี้ ไม่ว่ากลุ่มซีพีจะแพ้หรือชนะในขั้นตอนใด ย่อมไม่ใช่ปัญหา โดยหากกลุ่มซีพีสามารถผ่านเข้าไปชิงชัยร่วมกับผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 รายที่เหลือ ก็จะทำให้การแข่งขันน่าสนใจที่สุด เพราะยิ่งมีตัวเปรียบเทียบมากเท่าไร จะยิ่งดีต่อประเทศมากเท่านั้น เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะสามารถเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองมากที่สุด

แต่หากกลุ่มซีพีไม่ได้ทำโครงการอู่ตะเภานี้ ก็ยังคงต้องร่วมมือกับกลุ่มที่ชนะประมูลโครงการนี้ในอนาคตอยู่ดี เนื่องจากกลุ่มซีพี ในนามกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

อย่างที่ทราบกันดีว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ถูกคาดหวังให้เป็นโครงการหัวขบวนที่จะช่วยนำพาความเจริญและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ จึงถูกออกแบบมาให้เชื่อมต่อและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางและการขนส่ง โดยทั้งสองโครงการต้องประสานงานกันอย่างราบรื่นไร้รอยต่อมากที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่า หากผู้ชนะการประมูลของทั้งสองโครงการเป็นรายเดียวกัน จะทำให้บริหารจัดการทั้งสองโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

หากผู้ชนะการประมูลของสองโครงการเป็นคนละราย อย่างไรก็ต้องร่วมมือกัน เพราะสองโครงการนี้ต้องเดินคู่ขนานไปด้วยกัน เหมือนแฝดพี่แฝดน้อง หากใครฉายเดี่ยว เป็นประเภทดังแล้วแยกวง ไม่ห่วงใยสนใจอีกโครงการหนึ่ง หรือคิดว่าเอาตัวรอดคนเดียวแล้วจะสบาย อาจจะต้องเสียใจภายหลัง เพราะมีสิทธิ์ล้มพับทั้งสองโครงการ เนื่องจากแต่ละโครงการต้องการการสนับสนุนจากอีกโครงการหนึ่ง


หากมีโครงการอู่ตะเภา แต่ไม่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเป็นอย่างไร แม้ว่าโครงการอู่ตะเภาจะมีความซับซ้อนน้อยกว่า และแนวโน้มการคืนทุนจะง่ายกว่าเร็วกว่า แต่รายได้จากปริมาณผู้ใช้บริการจะสามารถพยุงให้โครงการประสบความสำเร็จได้ถึงไหน หากไม่มีการเชื่อมต่อของไฮสปีดที่เป็นจุดดึงดูดและจุดเชือมต่อ โครงการอู่ตะเภาจะสามารถยืนหยัดบนขาของตัวเองได้ยาวนานแค่ไหนอย่างไร เจ้าของโครงการอาจต้องพร้อมรับมือจุดนี้

ในทางตรงกันข้าม หากมีโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่ไม่มีโครงการอู่ตะเภาล่ะ แม้ว่ารถไฟความเร็วสูงจะมีความน่าสนใจกว่า ใช้งานง่ายกว่า และดึงดูดกว่า แต่ปัญหาการบริหารจัดการมากกว่า ใช้งบลงทุนสูงแต่โอกาสคืนทุนยากกว่า ยาวนานกว่า อาจจะได้เปรียบโครงการอู่ตะเภาอยู่หน่อย ตรงที่มีรายได้จากการบริหารจัดการในเชิงพาณิชย์บริเวณมักกะสันและศรีราชามาช่วย แต่จะไม่ตอบโจทย์การพัฒนาของอีอีซี และการเจริญเติบโตจะไม่ยั่งยืน โอกาสในการคืนทุนยิ่งยากเข้าไปอีก

การประมูลโครงการอู่ตะเภาครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนการชิมลางความร่วมมือเบื้องต้นมากกว่าการแข่งขัน เพื่อให้เห็นสปิริตในการทำงานร่วมกันของพันธมิตรในอนาคต ทำให้นึกถึงคำพูดของคนฝั่งซีพีที่เคยบอกตอนช่วงต้น ๆ ของการเข้ามาร่วมในโครงการอีอีซีว่า การประมูลโครงการใดจะแพ้ชนะไม่สำคัญ ถ้าได้ทำภารกิจเพื่อชาติ ถึงใครจะแพ้ ก็ยังสามารถมาร่วมมือกันได้ เพิ่งเข้าใจความหมายวันนี้เอง

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่