กรุงสุพรรณภูมิ นครแห่งนักรบ

ก่อนจะอ่านเนื้อหานี้ ควรอ่านความเป็นมาของชาวสุวรรณภูมิเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจไม่สับสนกับเหตุการณ์
https://ppantip.com/topic/39158300

ส่วนเรื่องราวในกระทู้นี้ที่แยกออกมาเป็นเพราะเนื้อหาจะเน้นไปที่ "อาณาจักรสุพรรณภูมิ" จนจบบทความ "บุตรแห่งอโยธยา"

กรุงสุพรรณภูมิ นครแห่งนักรบ

“สุพรรณบุรี เป็นเมืองนักรบมาแต่โบราณ มีกำลังทหารกล้าแข็งและเสบียงอาหารบริบูรณ์

ประวัติขุนศึกเมืองสุพรรณ ยกทัพไปตีเมืองอื่นมีอยู่หลายครั้ง

แม้กระทั่งการบุกเข้ายึด “อโยธยา” ในสมัยพญาสุรินทราราช

ย่อมแสดงถึงฝีมือของขุนศึกเมืองสุพรรณ นั้นกล้าแข็งนัก”

แต่เดิมนั้นตั้งธงกันว่า เสียน เสียม เสี้ยม หรือกลุ่มชาวสยามที่เคยไปกรุงจีน คือสุโขทัย ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์จึงคลาดเคลื่อน ต่อมานักประวัติศาสตร์หลายท่านแสดงความไม่แน่ใจ โดยเฉพาะจากงานวิจัยของสืบแสง พรหมบุญ ให้เหตุผลว่า

“ผู้รู้ภาษาจีนแปลเอกสารจีนผิดพลาด เพราะในความจริงแล้ว พ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปเมืองจีนเลย”

ด้วยเหตุนี้รายละเอียดที่เป็นของสุพรรณภูมิ จึงไปเป็นของสุโขทัยเสียทั้งหมด แม้กระนั้นก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่สนใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย ใคร่รู้ว่าอาณาจักรเก่าแก่นี้เป็นที่ใดกันแน่

บันทึก โจวต้ากวน ที่เดินทางเข้ามายังเจนละช่วงปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ตรงกับรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง(พ.ศ. ๑๘๒๒-๑๘๔๑) ระบุไว้ว่า

“อาณาจักรเสียน อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเจนละ”

เป็นการยืนยันว่าคือที่ตั้งของ “สุพรรณภูมิ” มิใช่ “สุโขทัย” และในบันทึกของจีนสมัยราชวงศ์ชิงเรียก “สกก๊อตท้าย” ซึ่งน่าจะให้ความหมายว่า สุโขทัย มิใช่ สุพรรณภูมิ
กำแพงเมืองสุพรรณภูมิสมัยแรกขนาด ๓,๖๐๐ x ๑,๙๐๐ ม. เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคร่อมสองฟากแม่น้ำท่าจีน
กำแพงและป้อมเมืองสุพรรณภูมิสมัยหลัง (แนวสีแดง) ขนาด ๓,๖๐๐ x ๙๒๐ ม. ขยายต่อจากสมัยแรกเฉพาะฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน กำแพงเดิมที่มีมาก่อนก็ยังใช้งาน น่าสังเกตว่ากำแพงและป้อมมีโครงสร้างหลักอย่างเดียวกับเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร และเมืองเชียงใหม่
แผนที่ตัวเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี แสดงตำแหน่งกำแพงเมืองสุพรรณภูมิสองฟากแม่น้ำท่าจีน ทับซ้อนสมัยแรกกับสมัยหลัง
กำแพงเมืองเก่า บริเวณคูเมืองสุพรรณบุรี

ต่อมาพบ “บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ” ของวังต้ายวน ที่เดินทางมาสุวรรณภูมิ ได้บรรยายไว้ตอนหนึ่งซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ความจริงว่า

“เมื่อรัชกาลจื้อเจิ้ง ปีฉลู (ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๙๒) เดือน ๕ ฤดูร้อน เสียนยอมจำนนต่อหลอหู”

ข้อความนี้สอดคล้องกับห้วงเวลาที่ต่อมาในปีรุ่งขึ้น พ.ศ. ๑๘๙๓ พญาราม(พระเจ้าอู่ทอง) ก็สถาปนากรุงอโยธยาเป็นราชธานี และก้าวขึ้นสู่ปฐมบรมกษัตริย์แห่งอโยธยา ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่ง “เสียน” ที่วังต้ายวนเรียกนั้นย่อมไม่ใช่สุโขทัย เพราะสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นประเทศราชของอาณาจักรอโยธยาในเวลาให้หลังจากนี้อีกนานถึง ๒๙ ปี ในรัชกาลของพญาสุรินทราราช หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินสุพรรณภูมิมาแต่เดิม

ย้อนกลับไปหลังจากที่กลุ่มชาวไทหรือเสียมกุก ได้โดนพวกขอมผ่อนส่งเข้ามาอยู่ในเมืองอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน ได้มีการพบเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินคร่อมแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ซึ่งสันนิษฐานกันว่าภาษาไทได้ลงมาแพร่กระจายในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้โดยคนจากลุ่มน้ำโขงกลุ่มนี้ด้วย เพราะพบว่าสำเนียงภาษาพูดของชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำยมที่สุโขทัย ลงมายังแถบฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี (หรือที่เรียกกันว่า “เหน่อสุพรรณ”) มีความใกล้เคียงกับสำเนียงลาวหลวงพระบางมาก

และน่าจะได้รับประเพณีวัฒนธรรมจากทางสองฝั่งโขงมาด้วย ซึ่งยังปรากฏอยู่ในรูปของวรรณกรรมอย่างโองการแช่งน้ำ ซึ่งปรากฏว่าใช้คำไท-ลาวโบราณจำนวนมาก และแต่งด้วยฉันทลักษณ์โคลงห้าซึ่งนิยมกันในสองฝั่งโขง ก่อนจะถ่ายทอดเข้าไปในราชสำนักอโยธยาภายหลัง แล้วแผ่ขยายลงใต้ไปยังเพชรบุรีและนครศรีธรรมราชต่อไป

โดยดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำท่าจีนนี้ได้พัฒนาเป็นรัฐที่ในเอกสารของจีนเรียกว่า “เจินหลี่ฟู่” ซึ่งได้พัฒนาต่อมาเป็นรัฐ “สุพรรณภูมิ”

ในเอกสารประเภท “ตำนาน” อย่างพงศาวดารเหนือซึ่งเคยกล่าวถึงไปแล้วในหัวข้อก่อนๆ โดยมีการเรียบเรียงตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ระบุชื่ออื่นๆ บ้างเช่น “พันธุมบุรี” หรือ “สองพันบุรี”

“ขณะนั้นพระเจ้ากาแต เปนเชื้อมาแต่นเรศร์หงษาวดี ได้มาเสวยราชสมบัติ แล้วมาบุรณวัดโปรดสัตววัดหนึ่ง วัดภูเขาทองวัดหนึ่ง วัดใหญ่วัดหนึ่ง สามวัดนี้แล้ว จึงให้มอญน้อยเปนเชื้อมาแต่พระองค์ ออกไปสร้างวัดสนามไชย แล้วมาบุรณวัดพระปาเลไลยในวัดลานมะขวิด แขวงเมืองพันธุมบุรีนั้น ข้าราชการบุรณวัดแล้ว ก็ชวนกันบวชเสียสิ้นสองพันคน จึงขนานนามเมืองใหม่ชื่อว่าเมืองสองพันบุรี แล้วพระองค์จึงยกนาเปนส่วนสัดวัดไว้”

แต่เนื่องด้วยพงศาวดารเหนือนั้นมีความเป็น “ตำนาน” อยู่มาก ความที่ปรากฏจึงคงมีเค้าความจริงอยู่บ้าง แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด (อย่างนเรศร์หงษาวดี จริงๆ คือเอาเรื่องของพระมหาอุปราชาที่ชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรมาลง) ดังนั้นน่าจะมีความเคลื่อนและปะปนกับตำนานอื่นๆ อยู่มาก

ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ สุพรรณภูมิพัฒนาเป็นรัฐอิสระที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางโดยสมบูรณ์ โดยเป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศว่า “สยาม/สาม” หรือในหลักฐานของจีนเรียกว่า “เสียน” (สำเนียงแต้จิ๋วเรียก เสียม - เดิมเข้าใจว่าหมายถึงสุโขทัย) ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าได้ทำการค้าขายกับจีนมานาน และได้ทำสงครามกับพวกจักรวรรดิขอมอยู่หลายครั้ง

ชาวจีนชื่อวังต้ายวน ได้บันทึกถึงรัฐเสียน(สุพรรณภูมิ) ไว้ในเอกสารชื่อ “เต่าอี้จื้อเลวี่ย” หรือ บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะไว้ว่า

“พลเมืองชาวเสียนเป็นโจรสลัดกันมาก เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในเมืองอื่น พวกนี้จะลงเรือหลายร้อยลำที่บรรทุกสาคูจนเพียบแปร้ (ใช้เป็นเสบียงอาหาร) และเข้าโจมตีอย่างกล้าหาญ จนได้ทุกสิ่งที่ต้องการ”
เป็นการสะท้อนชาวสุพรรณภูมิว่าน่าจะมีความชำนาญในการเดินเรือและออกทะเลสูง จึงปรากฏว่าได้ทำการค้าทางทะเลกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง

จึงไม่มีเหตุผลว่า “เสียน” จะเป็นสุโขทัย เพราะสุพรรณภูมิ เป็นชายขอบทะเลและลดระดับเป็นลุ่มน้ำโบราณมาแต่ดั้งเดิม รวมถึงการเข้าครอบครองพื้นที่ภาคใต้ ไม่ว่าจะเมืองท่าเพชรบุรีไปจรดถึงปลายแหลมมลายู ซึ่งต้องทำสงครามแย่งชิงและปกป้องมาโดยตลอด
มีบทความที่ ทักษิณ อินทโยธา ศึกษาออกมาระบุว่า “เอกสารสมัยราชวงศ์ชิงก็ว่า เสียนนั้นมีแม่น้ำเกิดจากภูเขาทางใต้ไหลขึ้นเหนือมาออกอ่าวไทย” และได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ซึ่งแม่น้ำลักษณะดังกล่าวก็ไม่มีอยู่ในสุโขทัยหรือละโว้” เรื่องนี้ตีความไม่ยาก เพราะเสียน ที่โจวต้ากวน ระบุว่า “อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเจนละ” นั้น มีชัยภูมิที่มีสายน้ำมหัศจรรย์ไหลจากใต้ขึ้นมาเหนือ ซึ่งก็คือ “แม่น้ำจระเข้สามพัน” ที่ไหลจากเขตภูเขาเป็นลำน้ำแควน้อยและแม่กลองทางด้านใต้ของสุพรรณภูมิ แล้วแยกตัวเป็นลำน้ำสายรองไหลย้อนขึ้นเหนือไปบรรจบกับลำน้ำท่าว้าบริเวณเมืองโบราณอู่ทองที่เป็นเมืองท่าชายทะเลเมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน แล้วไหลขนานพื้นที่ดอนใกล้ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน(ท่าจีน-แม่น้ำสุพรรณบุรี) ใกล้กับตำแหน่งที่ตั้งของเมืองสุพรรณภูมิ ก่อนจะไหลผ่านทุ่งโบราณสองพี่น้องซึ่งเป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ไปบรรจบกับแม่น้ำท่าจีนผ่านมณฑลนครไชยศรีและออกสู่อ่าวไทย เมื่อพิจารณาประกอบคำบรรยายทั้งแม่น้ำ และที่ตั้งในเอกสารจีนซึ่งก็สอดรับกับเอกสารฝรั่งในยุคหลังอย่างจดหมายเหตุลาลูแบร์ที่บอกว่า “สยาม” นั้นแต่ก่อนเรียกว่า “เสียน”

ในพงศาวดารเหนือยังได้กล่าวถึงความสำคัญของรัฐนี้ในเชิงตำนานว่ามหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี (พงศาวดารเหนือเรียก มหาเถรไลยลาย) หลานของพ่อขุนผาเมืองเคยเอาพระธาตุจากลังกามาไว้ที่องค์พระวัดป่าเลไลก์ แต่ด้วยความที่เอกสารเป็น “ตำนาน” จึงคลาดเคลื่อนในเรื่องเวลาอยู่มาก โดยเอาไปอยู่ในยุคโบราณมาก ทั้งๆ ที่มหาเถรศรีศรัทธาอยู่หลังยุคพ่อขุนรามคำแหง

“จึงมีพระมหาเถรไลยลายองค์หนึ่ง เปนเชื้อมาแต่พระรามเทพมาแต่ก่อน ได้พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ๖๕๐ พระองค์ กับทั้งพระศรีมหาโพธิ์สองต้น มาแต่เมืองลังกาสีหฬเธอจึงพาพระมหาสาครไปเมืองสาวัตถี จึงถ่ายเอาอย่างวัดเชตุวนารามมาสร้างไว้ต่อเมืองรอ แขวงบางทานนอกเมืองกำแพงเพ็ชร ชื่อวัดสังฆคณาวาศหนึ่ง แล้วจึงเอาพระศรีมหาโพธิ์ใส่อ่างทองคำมาปลูกไว้ที่ริมหนองนากะเล นอกวัดเสมาปากน้ำ จึงเชิญพระบรมธาตุบรรจุไว้ด้วย ๓๖ พระองค์ จึงให้ชื่อวัดพระศรีมหาโพธิ์ลังกา แล้วจึงบรรจุไว้ในพระเจดีย์บ้าง ในพระพุทธรูปใหญ่บ้าง...ในพระปาเลไลยนอกเมืองพันธุมบุรีนั้น ๓๖ พระองค์...”

สุพรรณภูมิหรือรัฐสยามลุ่มน้ำสุพรรณบุรีได้ผูกสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับรัฐสำคัญในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกรัฐคือละโว้-อโยธยา ซึ่งมีความใกล้ชิดกับทางขอมจนแทบจะเป็นพวกเดียวกัน ที่ในหลักฐานของจีนเรียกว่า “หลอหู” ผ่านทางการแต่งงาน และต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๘๓ ทั้งสองรัฐนี้ก็ได้ร่วมกันสถาปนาอาณาจักรใหม่ขึ้นก็คือ "กรุงอโยธยา" ซึ่งในหลักฐานของจีนเรียกโดยใช้นามของทั้งสองรัฐมารวมกันคือ “เสียนหลอ” “เสียนหลอหู” หรือ “เสียมหลอฮกก๊ก”

เรื่องนี้สอดคล้องหลักฐานวังต้ายวนที่ระบุว่ารัฐเสียนได้ยอมจำนนต่อหลอหูก่อนสถาปนากรุงอโยธยาไม่นาน ในสมัยหลังๆ ที่มีการดึงอำนาจการปกครองรวมศูนย์สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรีก็หมดสถานะความเป็นเมืองลูกหลวง ถูกผนวกเป็นหัวเมืองชั้นในของอาณาจักรอโยธยาไป โดยไม่มีเจ้านายไปปกครองอีก และยังคงต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่