สุดยอดเหตุการณ์แหกคุกที่โลกต้องจดจำ

โดย พีรทรัพย์ วิชิตรัชนีกร

    
การแหกคุกของนักโทษจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน บางคนก็เป็นนักโทษคดีอุจฉกรรจ์ ขณะที่บางคนหรือกลุ่มเป็นนักโทษ จากผลของสงคราม แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เป้าหมายเดียวกันของพวกเขาก็คือ การมุ่งไปสู่การมี “อิสรภาพ” ก่อเกิดประวัติศาสตร์สุดยอดเหตุการณ์การแหกคุกที่โลกต้องจดจำ มาดูกันว่า แต่ละคนหรือกลุ่มนั้น มีวิธีการอย่างไร และสุดท้าย พวกเขาจะสมหวังดังที่ตนเองตั้งใจไว้ได้หรือไม่

อัลคาทราซ แหกคุกด้วยช้อนและมอเตอร์เครื่องดูดฝุ่น


เกาะอัลคาทราซ สถานที่คุมขังนักโทษอันตรายของสหรัฐอเมริกา
   

 ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ตั้งอยู่ในอ่าวซานฟรานซิสโก มหาสมุทรแปซิฟิก อันมีน้ำทะเลที่เย็นยะเยือกรายล้อม อัลคาทราซ ซึ่งเคยเป็นประภาคารและฐานที่มั่นของทหารในสงครามกลางเมืองอเมริกา จึงได้แปรเปลี่ยนเป็นคุกที่มีระบบรักษาความปลอดภัยดีที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ในช่วงค.ศ. 1934 – 1936 ต้อนรับเหล่านักโทษตัวฉกาจฉกรรจ์จากทั่วทุกสารทิศของสหรัฐอเมริกา มาคุมขังไว้ ณ ที่นี่ ไม่เว้นกระทั่ง เจ้าพ่ออัล คาโปน “ไอ้ปืนกล” จอร์จ เคลลี่ ฯลฯ ซึ่งนอกเหนือจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการหลบหนีแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ FBI และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯ คอยควบคุมป้องกันอีกชั้นหนึ่งอีกด้วย 
     
แต่จะบินทำไม ในเมื่อว่ายน้ำได้ แฟรงค์ มอร์ริส และ 2 พี่น้อง จอห์น - คลาเรนซ์ แองกลิน คือความสำเร็จเพียงหนึ่งเดียวในบรรดาความพยายามกว่า 14 ครั้ง ในการแหกคุกอัลคาทราซ โดยวิธีการของพวกเขาคือหลบหนีผ่านผนังคอนกรีตที่อยู่ขอบ ๆ ช่องลมใต้อ่างล้างหน้า โดยใช้ช้อนและสว่านที่ทำจากมอเตอร์เครื่องดูดฝุ่น เป็นตัวเจาะผนัง ใช้หินเจียรที่ขโมยมาจากห้องช่าง นำมาฝนให้หมุดโลหะที่ยึดตะแกรงเหล็กกั้นช่องลมนั้นหลุดออก แล้วออกทะเลด้วยเรือแพที่ทำจากเสื้อกันฝนกว่า 50 ตัว โดยเพื่อไม่ให้ผิดสังเกต ยังได้ทำเปเปอร์มาเช่รูปคนขนาดเท่าคนจริงติดผมจริงไว้ในห้องขัง เพื่อไม่ให้ผู้คุมสงสัยเวลาหลบหนีจริงด้วย เนื่องจากผนังคอนกรีตตรงนั้นรองรับน้ำตลอดเวลา ทำให้ผนังเปื่อยยุ่ยได้ง่าย ในที่สุดก็หลุดออก หลังวางแผนเตรียมการนานกว่า 2 ปี ในคืนวันที่11 – 12 มิถุนายน ค.ศ. 1962 พวกเขาก็หลบหนีสำเร็จ

แต่ใช่ว่าทุกคนจะหนีไปได้ เมื่ออัลเลน เวสต์ ผู้ร่วมหลบหนีอีกคนนึงถอดตะแกรงกั้นช่องลมไม่ทันคนอื่น ส่งผลให้แผนการหนีอันแยบยลนี้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ตำรวจตามรอยแพที่ทำจากเสื้อกันฝนไปได้ถึงเกาะแองเจิล แต่ก็พบว่าไม่มีใครอยู่แล้ว โดยชะตากรรมของนักโทษเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนา บ้างก็ว่าจมหายไปในทะเล เนื่องจากไม่เคยมีรายงานพบร่องรอยของบุคคลทั้งสาม บ้างก็ว่าอาจยังมีขีวิตอยู่ และอาจกลับมายังอัลคาทราซ เมื่อมีงานครบรอบประจำปีได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตาม ตำรวจยังคอยที่จะจับพวกเขาในทุกเมื่อ ในฐานะ ”นักโทษแหกคุกแห่งอัลคาทราซ” โดยเรื่องราวดังกล่าวยังได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เรื่อง “Escape from Alcatraz” นำแสดงโดย คลิ้นท์ อีสต์วูดด์ ในค.ศ. 1979 


(Cr.nungdeeboktor/photos)

แหกคุกด้วยโยคะที่แทกุ เกาหลีใต้


ซอย กาบ บก กับช่องส่งอาหารที่เขาลอดออกมาเพื่อหลบหนี
   

 โยคะ อาจไม่ใช่แค่ท่าออกกำลังกาย เพื่อให้สุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรงอีกต่อไป เมื่อมันพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้คนสามารถแหกคุกได้อีกด้วย นายซอย กาบ บก ผู้ต้องสงสัยในคดีปล้นทรัพย์ ชาวเกาหลีใต้ ใช้วิชาโยคะที่ตนเองฝึกฝนมานานกว่า 23 ปี แหกห้องขังในสถานีตำรวจแทกุ ประเทศเกาหลีใต้ หลังถูกคุมขังนาน 5 วัน

โดยฉวยโอกาสหลบหนีตอนเช้ามืดช่วงที่ตำรวจหลับ ชโลมร่างกายท่อนบนด้วยน้ำมันนวดตัว แล้วมุดออกจากช่องส่งอาหารที่ประตูห้องขัง ซึ่งมีความสูงเพียง 15 ซม. กว้างเพียง 45 ซม. ได้สำเร็จภายในแค่ 34 วินาที โดยเพื่อให้การหลบหนีแนบเนียน นายซอยยังจัดฉากเตียงของเขาให้คล้ายกับว่าตัวเขาเองยังนอนอยู่อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เขาถูกจับในอีก 6 วันต่อมา หลังจากตำรวจออกตามล่าตัวเขาอย่างหนัก และถูกย้ายให้อยู่ในห้องขังที่ช่องส่งอาหารเล็กกว่าเดิม

ทหารญี่ปุ่นกับการแหกค่ายเชลยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกหลงลืม

ทหารญี่ปุ่นถูกสังหารระหว่างพยายามหลบหนี
     

ทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช่ว่าจะไม่มีกลุ่มที่เป็นเชลยสงคราม ในค.ศ. 1944 ค่ายเชลยสงคราม COWRA ในออสเตรเลีย คือสถานที่คุมขังเชลยทหารญี่ปุ่นกว่า 2,000 คน อย่างไรก็ตาม ด้วยสายเลือดแห่งความเป็นนักรบซามูไร ที่ไม่อาจถูกคุมขัง อันเสมือนการถูกเหยียดหยามซึ่งเกียรติยศของนักรบบูชิโด ในคืนวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1944 เชลยสงครามชาวญี่ปุ่นกว่า 1000 คน จึงได้ลุกฮือทำการแหกคุกขึ้น โดยอาศัยสิ่งของที่ตนพอจะหยิบฉวยได้เช่น ไม้เบสบอล มีดทำครัว เป็นอาวุธประจำกาย และนำเสื้อผ้าที่ตนสวมใส่พาดกับรั้วหนาม เพื่อให้สามารถข้ามไปได้ โดยสามารถหลบหนีออกไปได้ทั้งหมด 359 คน
     ทหารและตำรวจออสเตรเลีย จึงออกตามล่าเหล่าเชลยที่หลบหนีอย่างไม่รอช้า โดยใช้เวลากว่า 10 วัน สามารถสังหารนักโทษหลบหนีได้ 231 คน  ในจำนวนนี้ 31 คน ฆ่าตัวตายด้วยการทำฮาราคีรี ขณะที่อีก 12 คน ฆ่าตัวตายด้วยการเผาตัวเองทั้งเป็น ในส่วนของทหารออสเตรเลียเสียชีวิตทั้งสิ้น 4 นาย โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์เชลยสงครามแหกค่ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้กลับไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก แม้แต่ประเทศมาตุภูมิของเหล่าเชลยสงครามเอง

นายเทรูโอะ มุราคามิ 1 ในเชลยสงครามชาวญี่ปุ่นค่าย Cowra ที่ถูกคุมขังกล่าวว่า “ในญี่ปุ่น ประชาชนกว่า 95 % ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อเหตุการณ์นี้ด้วยซ้ำ ผมพยายามใช้เวลากว่า 21 ปีแล้ว ในการเผยแพร่เหตุการณ์นี้ให้เป็นที่รู้จัก” อดีตนักโทษผู้มารำลึกถึงเหตุการณ์นี้เป็นประจำทุก ๆ ปีกล่าว
   

เอล ชาโป มีเงินก็ไม่ต้องติดคุก

เอล ชาโป ราชานักค้ายาเสพติด
     

มีเงินก็ไม่ต้องติดคุก คำพูดนี้อาจใช้ได้กับ ฮัวคิม กุซมัน หรือในฉายา เอล ชาโป (เจ้าเตี้ย) ราชานักค้ายาเสพติด เมื่อเขาคือนักโทษแหกคุก ผู้สามารถรอดพ้นจากห้องขังประเทศเม็กซิโกไปได้กว่า 10 ปี ด้วยการแหกคุกถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในค.ศ. 1993 เมื่อถูกตัดสินจำคุก 20 ปี  9 เดือน ฐานฆาตกรรม โดยหลังจากถูกเปลี่ยนสถานที่จำคุกหลายครั้ง จนมาถูกคุมขังที่เมือง อัลโม โมโรยาเด ฮัวเรซ ในค.ศ. 1995 เขาก็ได้วางแผนหลบหนี ในค.ศ. 2001 โดยการติดสินบนผู้คุมให้เปิดประตูไฟฟ้าห้องขังแก่เขา แล้วซ่อนตัวบนรถเข็นใส่ผ้าสำหรับซักรีด ก่อนถูกนำใส่รถบรรทุกหลบหนีออกนอกเมือง โดยการหลบหนีในครั้งนี้ เขาใข้เงินถึง 2.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในการติดสินบนเจ้าพนักงานตั้งแต่พัศดี ผู้คุม จนถึงตำรวจ เพื่อให้การแหกคุกสำเร็จ
     
ทางการของเม็กซิโกออกตามล่าตัวเขาอีกกว่า 13 ปี จึงจะจับกุมเขาได้อีกครั้ง ในวันที่ 22 ก.พ ค.ศ.2014 ที่รีสอร์ตริมทะเลแห่งหนึ่งในเม็กซิโก โดยในครั้งนี้ถูกนำไปยังเรือนจำที่มีความมั่นคงสูงสุด ลา ปัลมา ในเมืองอัลโมโรยา เด ฮัวเรซ เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะไม่สามารถหนีไปไหน แต่ไม่นานการแหกคุกครั้งที่ 2 ก็เริ่มขึ้น เมื่อ 16 เดือนต่อมาเขาแหกคุกได้สำเร็จอีกครั้ง ในวันที่ 11 ก.ค. โดยหลบหนีออกทางอุโมงค์ ซึ่งเชื่อมต่อพื้นที่อาบน้ำของเรือนจำกับบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ห่างไกลออกไป 1.5 กม. ในเมืองซาตา ฮัวนิตา
     
โดยอุโมงค์นั้น เชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อการหลบหนีครั้งนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากไม่เคยมีใต้พื้นที่อาบน้ำของเรือนจำมาก่อน โดยอยู่ลึกลงไปใต้ดินเพียง 1.5 เมตร ตัวอุโมงค์ทำจากวัตถุดิบคุณภาพสูง มีการติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งบันไดให้สามารถลงไปได้สะดวก ระบบไฟฟ้า ระบบระบายอากาศ รวมถึงยังมีรถจักรยานยนต์ สำหรับส่งเสบียงอาหารและใช้สำหรับพานายกุซมันหลบหนีอีกด้วย

ซึ่งในการหลบหนีครั้งนี้ มีผู้ต้องสงสัยข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการช่วยเหลือถึง 7 คน โดยในปัจจุบันถึงแม้ตำรวจจะสนธิกำลังตามล่าตัวเขาอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่พบร่องรอยแม้แต่น้อย อันกล่าวได้ว่า เขาคือต้นแบบของนักโทษอภิมหาเศรษฐีผู้มีเงินก็ไม่ต้องติดคุกอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎค่าใช้จ่ายในการหลบหนีครั้งที่ 2 นี้แต่อย่างใด


สามีภรรยาวูฌัวร์เหินเวหา

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนพ.ค. ปี 1986 เมื่อนางนาดีน วูฌัวร์ หญิงชาวฝรั่งเศสตัดสินใจที่จะพา มิเชล สามีซึ่งกำลังติดคุกยาวในข้อหาพยายามฆ่าและใช้อาวุธปล้นทรัพย์ ออกจากเรือนจำในกรุงปารีส เธอจืงเข้าเรียนขับเฮลิคอปเตอร์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
นางนาดีนลงมือในวันที่ 26 พ.ค. โดยนำเฮลิคอปเตอร์ไปจอดรอสามีอยู่บนดาดฟ้าเรือนจำ ในขณะที่มิเชลใช้ลูกท้อซึ่งทาสีให้คล้ายกับระเบิดมือ ข่มขู่เจ้าหน้าที่และสามารถฝ่าไปหาเธอได้สำเร็จ จากนั้นทั้งคู่นั่งเฮลิคอปเตอร์หนีไปยังสนามฟุตบอลแห่งหนึ่ง ก่อนจะลงจอดและเปลี่ยนไปขึ้นรถยนต์แล้วหลบหนีไป

อย่างไรก็ตาม โชคของทั้งคู่หมดลงในเวลาไม่นาน นางนาดีนถูกจับตัวที่เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ขณะที่นายมิเชลถูกยิงที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างปล้นธนาคาร จนอยู่ในอาการโคม่าไประยะหนึ่ง และเมื่อฟื้นขึ้นมาก็ต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเพื่อขยับแขนขาให้ได้อีกครั้ง
ในที่สุดนายมิเชลก็ได้รับการปล่อยตัวจริงๆ ในปี 2003 หลังจากติดคุกมานาน 27 ปี ต่อมาในปี 2009 เรื่องราวของเขายังถูก ฟาเบียง โกเด ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์หญิงชาวฝรั่งเศสนำไปสร้างเป็นสารคดี ซึ่งเข้าชิงรางวัลซีซาร์ ประจำปี 2010 ด้วย

ปาสกาล ปาเย นักหลบหนีด้วยเฮลิคอปเตอร์

ดูเหมือนว่านักโทษชาวฝรั่งเศสจะนิยมใช้เฮลิคอปเตอร์ในการแหกคุก และผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดคงหนีไม่พ้น ปาสกาล ปาเย ผู้ใช้เฮลิคอปเตอร์หลบหนีออกจากเรือนจำถึง 3 ครั้ง
ชายชาวฝรั่งเศสผู้นี้เกิดเมื่อปี 1963 ถูกจับกุมที่กรุงปารีสเมื่อ ม.ค. ปี 1999 ในข้อหาฆาตกรรมและใช้ความรุนแรง และถูกส่งเข้าเรือนจำในหมู่บ้านลูอีน ทางใต้ของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 ต.ค. 2001 เขาหลบหนีออกจากเรือนจำแห่งนี้ได้สำเร็จด้วยเฮลิคอปเตอร์ที่เพื่อนของเขาไฮแจ็คมา และต่อมาในวันที่ 14 เม.ย. 2003 นายปาเยก็ใช้เฮลิคอปเตอร์กลับมาช่วยเหลือเพื่อนๆ 3 คนที่ถูกจับพร้อมกับเขาเมื่อปี 1999 ออกจากเรือนจำลูอีน แต่ทั้งหมดก็ถูกจับกุมในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา

ในเดือน ม.ค. 2005 นายปาเยถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 30 ปีในข้อหาฆาตกรรม และอีก 13 ปีจากการแหกคุก 2 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อถึงปี 2007 นายปาเยก็ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็น นักโทษภายใต้การควบคุมดูแลสูงเป็นพิเศษ โดยเขาจะไม่อยู่ในเรือนจำเดิมเกิน 6 เดือน และถูกแยกขังเดี่ยว แต่ถึงกระนั้น ในวันที่ 14 ก.ค. ปีเดียวกัน ชายสวมหน้ากาก 4 คนฉวยโอกาสในงานฉลองวันบัสตีย์ หรือวันชาติฝรั่งเศส จี้เฮลิคอปเตอร์เข้าช่วยเหลือนายปาเยออกจากห้องขังเดี่ยวของเรือนจำเมืองกราส ทางใต้ของประเทศได้สำเร็จ

สุดท้าย นายปาเยก็จนมุม ถูกจับกุมตัวอีกครั้งที่เมืองมาตาโร ประเทศสเปนในวันที่ 21 ก.ค. 2007 และถูกส่งตัวกลับฝรั่งเศสพร้อมกับพวกอีก 2 คน และครั้งนี้ศาลสั่งจำคุกเขาโดยไม่เปิดเผยสถานที่คุมขังด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย และพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปีโดยไม่มีการปล่อยตัวก่อนกำหนด จากข้อหาใช้ความรุนแรงกับตำรวจ, ใช้อาวุธปล้นทรัพย์ และแหกคุกหลายกระทง

ภาพ: history.com, cdn.cnn.com, pds.joins.com, dailymail.co.uk
Cr.https://www.gqthailand.com/life/article/do-we-spend-too-much-for-bts-transportation
Cr.https://www.thairath.co.th/content/513781
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่