ความแตกต่างระหว่าง สติแบบพุทธ กับ สติแบบทั่วไป

สติแบบทั่วไป เป็นคนละอย่างกับ สติแบบพุทธ แม้จะเรียกว่า“สติ” เหมือนกัน


เมื่อพูดถึง สติแบบทั่วไป  ก็มักจะเอาไปรวมกับเรื่องของ การกระทำ หรือ การทำงาน ที่เป็นไปอย่างรอบครอบ จดจ่อในเรื่องราวที่กระทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่หวังไว้ คาดไว้ และอาจตีความหมายรวมๆ ไปกับ สมาธิ ในการทำงานนั้นเลยก็ได้ เมื่อจะกระทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีการจดจ่อกับเรื่องนั้นๆ ไม่ไหลคิดลอยไปเรื่องอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังทำอยู่ ถึงจะเรียกว่า
มีสติ หรือ มีสมาธิ(ในการกระทำ ในการทำงาน) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับทุกๆคน เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต

สติแบบทั่วไป จริงๆแล้วมันก็คือขบวนการทำงานปกติของจิต ที่ออกไปรับอารมณ์( สี รส กลิ่น เสียง สัมผัส ) ภายนอกหรือแม้แต่ทางใจ แล้วแปลความหมายเรื่องราว โดยอาศัยความจำ ความรู้ ตรรกะเหตุผล ที่เคยเรียนรู้ หรือเคยผ่านประสบการณ์มาในอดีต
แล้วมาประมวลเทียบเคียง ค้นหาวิธีที่สมบูรณ์ที่สุด จนทำให้เกิดความรู้สึกว่า แบบนี้แหละดี มันใช้ได้ เพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายในสิ่งที่จะกระทำ เกิดอาการอยากกระทำสิ่งนั้น และผลักดันให้เกิดการลงมือกระทำสิ่งนั่น เป็นลำดับ ร่วมกับการจดจ่อในเรื่องราวที่ทำ โดยไม่เผลอไหลไปคิดในเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องที่กำลังทำอยู่
และมันจะวนซ้ำเป็นขบวนการ ย่อยๆ รับอารมณ์ คิด ทำ>> รับอารมณ์ คิด ทำ ในเรื่องราวและเงื่อนไขย่อยที่ไหลผ่านเข้ามาเฉพาะหน้า ในระหว่างการกระทำดำเนิน จนงานนั้นลุล่วงไป 
ขบวนการที่เกิดขึ้น จะเกิดเร็วมาก จนรู้สึกได้ว่า มันรวมมัดเป็นก้อนเดียวกัน เป็นแค่การคิดและลงมือทำงาน หรือลงมือกระทำสิ่งๆนั้นได้เลยทีเดียว

ในขณะขบวนการทำงานดำเนิน และจดจ่ออยู่นั้น จะเกิดสภาวะของจิตขึ้นหลากหลายมาก เช่น การคิดเนื้องาน สงสัยในเนื้องาน ขัดเคืองเมื่อมีสิ่งอื่นมาแทรกรบกวนในช่วงเวลาการทำงาน การบังคับพยายามตั้งใจไม่ให้หลุดจากเรื่องราวในเนื้องาน โมโหขัดเคืองในตัวเองที่ทำไม่ได้ดั่งคาดหวัง หรือแม้แต่ดีใจพอใจ เมื่องานย่อยจบและบรรลุเป้าหมายย่อยที่ตั้งไว้ เป็นต้น 
ทั้งนี้เพราะต้องมุ่งจดจ่ออยู่ในเรื่องราวในเนื้องานที่ทำอยู่ 
ทั้งหมดทั้งมวล เรียกเหมารวมว่า นี่คือ การทำงานอย่างมีสติ อย่างมีสมาธิ หรือเป็นความหมายของ คำว่า สติ ที่ใช้โดยทั่วไป 

การมี สติแบบทั่วไป เพื่อทำงานแบบอื่นๆ ไม่ว่าการทำความดี หรือการทำความชั่ว ก็มีขบวนการแบบนี้คล้ายๆ กัน จนบางครั้งจะเคยได้ยินคนบอกว่า แม้แต่
 “การทำชั่วก็ต้องมีสติ” เหมือนกัน สติที่ว่าก็คือ สติแบบทั่วไป ไม่ใช่ สติ ตามความหมายของพุทธ

การกระทำหรือการทำงานที่กล่าวถึงนี้ ไม่เว้นแม้แต่การกระทำย่อย เช่นการยื่นมือไปหยิบของ หรือ การเดินไปห้องน้ำเป็นต้น 
ถ้าไม่มี สติแบบทั่วไป ควบคุมอยู่ อาจจะเดินชนขอบประตูห้องน้ำ หรือลื่นล้มในห้องน้ำก็เป็นได้  ขณะยื่นมือออกไปหยิบของ ก็อาจจะได้ของที่ไม่ต้องการกลับมาก็ได้

ยกตัวอย่างกรณี การมีสติในการขับรถ / การขับรถอย่างมีสติ 
จิตต้องไปรับ สี เสียง ความคิด อาจจะมีกลิ่น สัมผัส  จากภายนอกขณะขับรถ แล้วถูกแปลความหมาย โดยอาศัยการเรียนรู้ประสบการณ์ในอดีตว่า นี่รถนี่จักรยานยนต์ นี่เส้นตีบนถนน นี่ไฟสัญญาณ ป้ายสัญญาณ นั่นไฟแดงไฟเขียว นั่นเส้นแบ่งเลน นั่นรถคันหน้า นั่นพื้นถนนนั่น เสียงแตรรถ นั่นเสียงรถจักรยานยนต์ เป็นต้น แล้วเทียบเคียงความถูกต้องจาก ความรู้กฏจราจรที่รับมาในอดีตมาประกอบ จากนั้นก็บังคับพวงมาลัย เบรค เกียร์ คันเร่ง
ไฟสัญญานรถ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้คือ ถึงจุดหมายปลายทางนั่นเอง
 และขบวนการมันจะวนหลูบซ้ำไปซ้ำมา รับอารมณ์ คิด ทำ ไหลตามเรื่องราวแวดล้อมย่อยที่ผ่านเข้ามาเฉพาะหน้า จนจบภารกิจ โดยมีจิตคอยรับรู้แปลความหมาย คอยสั่งการควบคุมตามความหมาย และการถูกปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ไหลหลุดไม่เผลอไปเรื่องอื่น ที่นอกเหนือจากเรื่องราวที่เกี่ยวกับการขับรถนั้น
 
สติแบบพุทธ
สติ ตามความหมายของพุทธนั้น แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง และเป็นสิ่งที่ค่อนข้างละเอียดระดับเกิดเป็นชั่วขณะ 
เป็นธรรมชาติการเกิดของจิตอีกตัวหนึ่ง ที่มีสติประกอบอยู่ ซึ่งก็จัดเป็นจิตที่ถูกปรุงแต่งเหมือนกัน แต่ถูกปรุงแต่งด้วยตัวสติ
โดยลักษณะและอาการของมันค่อนข้างแปลกกว่าชาวบ้าน เพราะมันไม่ใช่ตัวที่มีหน้าที่รับอารมณ์ หรือแปลความหมายใดๆทั้งสิ้น ทั้งอารมณ์ภายนอกและภายในใจ
พอไม่รับอารมณ์ มันก็ไม่มีความหมาย พอไม่มีความหมาย มันก็ไม่มีอาการของจิตอื่นเกิดขึ้น ตามมา
ปกติแล้วเมื่อจิตประกอบด้วยสติเกิดอยู่ มันก็ขวางกั้นจิตตัวอื่นไม่ให้เกิดได้ทั้งหมดอยู่แล้ว 
ไม่ว่าจิตนั้น จะดี หรือไม่ดี จนกว่าจิตที่มีสติดับไปก่อน ตัวอื่นถึงจะสามารถเกิดขึ้นได้
และถ้ามันเกิดในขณะที่มีสภาวะจิตอื่น หรืออาการทางใจอื่นดำเนินอยู่ มันก็จะตัด ดับอาการที่ดำเนินอยู่นั้นทิ้งไป

เมื่อมี สติแบบพุทธเกิดอยู่ จะสังเกตเห็นว่า มันครอบครองอยู่ภายในส่วนใดส่วนหนึ่งของฐานกาย หรือครอบครองโดยรวมทั่วฐานกาย ไม่อยู่ภายนอกฐานกาย ไม่เกิดสภาวะอื่นมาผสม มีแค่ อาการรู้เด่นชัด โล่งๆ เบาๆ คลายๆ เฉยๆ นิ่งๆ ว่างๆ ไม่มีความหมาย ไม่มีชื่อ ภาษา รูปร่าง สีสัน อารมณ์ภายในตัวมัน
ซึ่งห่างไกลจาก  อาการเป็น ผัก หรืออาการที่มีชีวิต แต่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ แบบนั้น
พอมี สัมปชัญญะ ประกอบจะเกิดเป็นสมาธิตามมา ไม่ว่าจะอยู่ในท่านั่งหลับตา หรือ ท่าทางอื่นๆ
ตอนที่มีสติแบบพุทธเกิดขึ้นต่อเนื่องนั้น เมื่อสติดับหายไป แล้วมีสภาวะอื่นเข้ามา แม้แต่แค่เริ่มก่อ ตัวสภาวะอื่นที่เข้ามานั้นจะถูกเห็นรู้ทันได้อย่างรวดเร็วชัดเจน ว่องไว พร้อมกับเกิดสติตัวใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง จนอาจจะมองไปว่า มีสติต่อเนื่องยาว เพราะดูเหมือนว่า สภาวะจิตอื่นที่เกิดขึ้น ยังไม่ทันก่อเกิดความหมาย และอาการ ก็กลับมารู้ทันเป็นสติอีก แต่ว่าอาการไหว รู้ชัดๆบ้าง รู้จางๆบ้าง ก็ยังมีให้เห็นให้สังเกต หรือแม้แต่อาการหลุด จากการรู้ แบบไม่เกิดความหมายอาการ อย่างรวดเร็ว ชั่วพริบตา แล้วกลับมาใหม่ก็มี 
อาการไหวแบบนี้ แสดงให้เห็นว่า สติแบบพุทธ ก็เปลี่ยนแปลง ไม่คงที่คงเดิม และมีการเกิดดับ 

สติแบบพุทธ ถ้าดำเนินอยู่ มันจะเป็นกำแพง เป็นทหารยาม เป็นองครักษ์ ที่จะคอยป้องกันไม่ให้ศัตรู หรืออาการของจิตอื่น คือความทุกข์ใจ สุขใจความเบื่อ เซ็ง เหงา ท้อถอย หดหู่ เป็นต้น ย่างกรายผ่านเข้ามาได้ 
ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้ที่ปฏิบัติ ที่รู้เห็นอาการนี้ มีแต่ความราบรื่นด้วยดี ดำเนินได้โดยไม่มีความทุกข์ หรือความทุกข์จะหาช่องเข้ามายาก ถ้าเข้ามาได้ก็ดำรงอยู่ช่วงสั้นๆ หรือดำรงอยู่ยาก เพราะสติจะเกิดขึ้นและตัดทิ้งได้รวดเร็ว
จะไม่ใช้คำว่าดำเนินชีวิตได้ด้วยความสุข เพราะแม้แต่อาการสุขใจ มันก็ดับหายเมื่อเกิดสติแบบพุทธขึ้นมา

ความลับของ สติแบบพุทธ ที่เป็นสิ่งที่มีคุณสุดประมาณอีกอย่างคือ
เนื่องจากธรรมชาติ ลักษณะอาการ ของตัวมัน เมื่อเกิดขึ้นมันไม่รับอารมณ์ 
มันไม่ตีความหมาย มีแค่ เฉย ว่าง โล่ง คลาย รู้เด่นชัด อยู่ ดังที่กล่าวไว้
เมื่อมันเกิดขึ้นมา มันจึงเป็นตัวตัดสภาวะ ตัดขบวนการของการเกิดทุกข์เกิดสุขทางใจ ได้ชะงักงัน โดยเฉพาะความทุกข์ทางใจที่จะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก แต่ไม่ใช่ว่า คนที่ไม่เคยสดับฟังคำสอน ไม่เคยฝึกปฏิบัติจะเห็นได้ 

มันจะตัดได้แม้กระทั่งขณะตอนรับอารมณ์( สี รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิด) 
พอรับอารมณ์เข้ามา มีสติแบบพุทธเกิด อารมณ์ที่ถูกรับก็ไม่ถูกตีความหมายต่อ 
เห็นอะไร ได้กลิ่นอะไร ได้ยินเสียงอะไร ได้ลิ้มรสอะไร สัมผัสอะไร ก็ไม่มีชื่อ ไม่มีความหมาย นี่คืออาการ “สักแต่ว่า”  ที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการบังคับจงใจไม่ให้ตีความหมาย หรือการไม่อยากตีความหมายอารมณ์ ที่ถูกรับเข้ามา 
ทำให้ความรู้สึกสุขทุกข์จากการรับอารมณ์นั้น ที่จะเกิด ก็เกิดขึ้นไม่ได้

ขณะมีความทุกข์ใจ สุขใจ พอมีสติแบบพุทธเกิด ความทุกข์ใจสุขใจถูกตัดทิ้ง ดับทิ้ง กลายเป็น รู้เด่น ว่าง โล่ง เบา คลาย มาแทน

ขณะเกิดความอยาก ไม่อยาก พอมีสติแบบพุทธเกิด ความอยากไม่อยาก ก็ถูกตัดทิ้ง ดับทิ้ง กลายเป็น รู้เด่น ว่าง โล่ง คลาย มาแทน

พอถูกตัดทิ้ง ไม่ว่าช่วงขั้นตอนไหน ขบวนการเกิดทุกข์มันจะไม่ดำเนินต่อ เหมือนท่อน้ำโดนปิดวาล์วน้ำตรงกลางท่อ ทำให้น้ำไม่ไหลต่อไปที่ปลายท่อ กลายมาเป็นสติแบบพุทธแทนทันที และทำหน้าที่ตั้งรับอาการอื่นของจิต ที่จะเข้ามาใหม่อีกครั้งต่อไป

สภาวะจิตแบบนี้ จะรู้จะเห็นได้ อย่างน้อยที่สุดต้องได้อ่าน ศึกษา คำสอนของพระพุทธเจ้า หรือครูบาอาจารย์ที่ถ่ายทอดคำสอน แล้วนำไปปฏิบัติจนเห็นจริง
ไม่มีทางที่ผู้ที่ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษา และไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอน จะเห็นได้ 
พุทธศาสนา จึงเป็นศาสตร์ ที่พระศาสดา ท้าให้มาลอง ท้าให้มาดู แล้วจะได้เห็นจริงตามที่ท่านสอน 

เคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งบอกไว้ว่า ในอนาคต ถ้าไม่มีใครที่สามารถเข้าถึงสภาวะอาการของจิตแบบพุทธนี้ได้>>> ศาสนาพุทธ ก็เป็นเพียงแค่ วิชาความรู้ด้านปรัชญา ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ เท่านั้น( แม้ปัจจุบัน ก็มีคนมากมายที่คิดแบบนี้) ส่วนพระไตรปิฏก ก็คงเป็นแค่หนังสือ ปรัชญา วิชาการ เล่มหนึ่งเท่านั้นเอง 

ฉะนั้น เมื่อใดมีความทุกข์ใจ เดือดเนื้อร้อนใจ หรือมีสิ่งที่ทำให้ขัดเคืองใจเข้ามา 
การมีสติแบบพุทธ จะเข้ามาแก้ไข คือการรู้อาการตามจริง รู้จักทุกข์ ไม่หนีทุกข์ จะเป็นสิ่งที่ตัดดับวงจร หรือตัดดับขบวนการที่ดำเนินอยู่อย่างสิ้นเชิง โดยไม่ต้องขนขวาย หาสภาวะของจิต ที่ถูกปรุงแต่งแบบอื่นมาแทรก (เที่ยว ดื่ม ขอพร บนบาน เป็นต้น) มาดับที่อาการทุกข์นั้น

ถ้ามองในแง่การปฏิบัติ แม้แต่สติแบบพุทธ และสภาวะอื่น ก็ล้วนแต่เป็นอาการถูกปรุงแต่งทั้งสิ้น แต่อาการของมัน คือมันสามรถเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากการดูรูป ดูกาย ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง(โดยไม่อาศัยนิมิต)ได้ช้า 
สุดท้ายไม่ควรไปยึด ไม่ไปรักษา ประครอง ไปถือสภาวะทั้งปวง แค่ปล่อยให้มันแสดงให้ดู และสอนจากการเห็นอาการดำเนินจริงๆว่ามันเป็นอาการที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาวะเดิมของมันไม่ได้ และไม่เป็นตัวตน เท่านั้น 

สรุป 
สติแบบพุทธ จะดับ จะตัดเรื่องราว ความหมายอาการต่างๆ ขณะต่อขณะ ทั้งหมด
ส่วน สติแบบทั่วไป จะจดจ่อในเรื่องราว หรือหลงไปอยู่ในเรื่องราวที่กระทำ ที่คิดนั้นๆ

ฉะนั้น จึงไม่มีความเหมือน หรือจะบอกว่ามันตรงข้ามกันก็ว่าได้

ท่านใดมีประสบการณ์อย่าอื่นอธิบาย หรือแก้ไข ขอเชิญร่วมสนทนา เพื่อเป็นธรรมทาน และความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่