"วิปัสสนูปกิเลส" ที่ถูกต้อง ชัดเจน

วิปัสสนูปกิเลส (im-perfection or defilements of insight) คือ การไปยึดติด ยึดมั่นถือมั่นในองค์ธรรมนั้นๆ มี ๑๐ ข้อ ในสิบข้อหรือในข้อใดข้อหนึ่งนี้ทำให้ผู้เข้าใจ เข้าถึงองค์ธรรมนั้นสำคัญตนผิดว่าได้บรรลุมรรคผลแล้ว ไปติด "ดี" ตรงนี้แล้วไม่เจริญธรรมต่อไป มีองค์ธรรมดังนี้

๑. โอภาส (illumination; luminous aura) แปลว่า แสงสว่าง โล่งแจ้ง เห็นแสงสว่าง เหมือนกับเห็นแสงพระอาทิตย์ บางคนก็ติดโล่งแจ้ง เราต้องเอาความโล่งแจ้งนี้ไปเจริญพระไตรลักษณ์ คำว่าโล่งแจ้งนี้ให้ไปเป็นตัวปัญญา

พิจารณาแล้วก็ต้องวาง เหมือนกับข้ามฝั่ง เรือถึงฝั่งแล้วก็ต้องข้ามฝั่ง อันนี้ถึงตรงนี้ก็ต้องศึกษาปัญญาต่อไปอีก จะมาโล่งแจ้งอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ก็กลายเป็นว่าเราเอาอย่างอื่นไม่ได้

ทำไมการเกิดอย่างนี้ถึงเป็นวิปัสสนูกิเลส?

เป็นข้อระวังอย่างหนึ่ง ถ้าเราได้แล้วจะกลายเป็นกิเลส สาเหตุเพราะเราจะไปยึดมั่นถือมั่นก็จะกลายเป็นกิเลสก็จะข้ามพ้นไม่ได้ ทำได้แล้วต้องวาง

๒. ญาณ (knowledge) แปลว่า ปัญญาการหยั่งรู้ในธรรม

ญาณเกิดยังไง? เกิดจากการศึกษาเรียนรู้ เข้าใจ ซึ้งประจักษ์แจ้งในธรรม

ถ้าเรามีปัญญาแล้ว เราต้องมีปัญญาอีกตัวหนึ่งมาการวิเคราะห์ว่าเราจะใช้ปัญญาตัวไหน จะหยิบใช้ภาวะการณ์ไหน เหตุการณ์ตรงไหน ภาวะธรรมไหน

พอเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเกิดญาณขึ้นมา ญาณเกิดขึ้นมาจากความชำนาญ ความเชี่ยวชาญในสิ่งที่เราทำนั้นๆ ก็เหมือนกับการเดินเรือ ถ้าเราเดินเรืออยู่เรื่อยๆ พอเห็นท้องเป็นสีอะไร เช่น เห็นก้อนเมฆดำทะมึนหนาทึบเดี๋ยวพายุก็จะมาแล้ว

ญาณนี้ก็เป็นความรู้นี่เอง แต่เป็นความรู้ที่เป็น "อภิความรู้"

แล้วญาณนี้ทำยังไงถึงกลายเป็นวิปัสสนูกิเลส ก็เพราะว่าเราไปยึดมั่นถือมั่นในญาณที่เราได้ก็กลายเป็นวิปัสสนูกิเลส เพราะทุกอย่างเราไปยึดมั่นถือไม่ได้ ก็จะอยู่กับที่ก็จะกลายเป็นกิเลส เป็นมิจฉาทันที

เหมือนกับเรานั่งเรือ ติดเรือแล้วจะบอกว่าขึ้นฝั่งได้ยังไง คนที่ปฏิบัติไม่เข้าใจคำนี้ก็ติดเรือทั้งนั้น

คนเพ่งลูกแก้ว ติดกับลูกแก้ว ก็จบ

ลูกแก้วเปรียบเสมือน "เรือ" เรือนี้คือ "ปัญญา"

การเจริญพองหนอ ยุบหนอ เพียงแต่เป็นตัวรหัสเพื่อนำเราเข้าสู่ประตูในห้อง เราไปยึดติดก็จะกลายเป็นกิเลสหมดเลย เป็นมิจฉากิเลส

การเกิดญาณเป็นสิ่งที่ดี แต่เราจะไปยึดมั่นถือมั่นในญาณไม่ได้ เราก็จะไปต่อไม่ได้ ญาณมีร้อยแปดพันเก้า เป็นอสงไขยนับไม่ถ้วน จึงเกิดเป็นสัพพัญญู สัพพัญญูก็คือญาณนี่แหละ (ญาณมากมายหลายๆ ตัวรวมกันจึงเกิดเป็นสัพพัญญู)

๓. ปีติ (rapture; unprecedented joy) แปลว่า ความรู้สึกชื่นใจ ความรู้สึกถูกใจ ความรู้สึกภูมิใจ

๔. ปัสสัทธิ (tranquillity) แปลว่า สันติ คือ สันติเป็นสิ่งรู้อย่างสงบ หมายความว่า รู้เข้าใจอย่างสงบ ไม่ใช่ไปฝืนเข้าใจสงบ เช่น เราฝืนให้ใจเราสงบแต่ไม่สันติข้างใน บางคนดูแล้วสงบแต่ลุ่มร้อนข้างใน หน้าตาจะบ่งบอก ดูลักษณะเส้นเอ็นก็จะบอกเราหมด

๕. สุข (bliss; pleasure) แปลว่า สุขสันติ คือ เป็นสุขที่เราเข้าใจถ่องแท้ ไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการบำเรอ จะต่างกัน ความสุขที่เกิดจากการบำเรอนี่มันเยอะ แต่นี่เราไม่สุขเพราะเกิดจากบำเรอ แต่เป็นความสุขเพราะเราเข้าใจอย่างถูกต้อง ทำให้ถูกต้องตามธรรม

๖. อธิโมกข์ (favor; resolution; determination) แปลว่า ปักใจเชื่อ เชื่ออย่างยิ่งยวด เชื่ออย่างจริงจัง จริงใจ เด็ดขาด คือ ความเชื่ออย่างมีการตรวจสอบด้วยเหตุและผลแล้วจึงเชื่ออย่างถูกต้อง เป็นศรัทธาอย่างยิ่งยวด สิ่งที่ตรงข้ามคือ การจมปลัก

๗. ปัคคาหะ (exertion; strenuousness) แปลว่า ความเพียรที่สมถะพอแก่เหตุ ความพอแก่เหตุนี้จะสูงกว่าความพอดี สูงกว่าตรงที่ว่า คำว่า "ดี" บางครั้งเกินก็มี น้อยก็มี เพราะว่ายังไม่ได้อยู่ที่เหตุ แต่นี่สมแก่เหตุ แต่ถ้าสันโดษ แปลว่า เรียบง่าย พอเพียงแก่เหตุแต่ยังไม่ถึงกับเป็นเหตุ อ่อนกว่า ดูแล้วเหวอแต่จำเป็นต้องเหวอเพราะว่าเป็นเหตุ ที่พร้อมที่จะเป็นเช่นนั้น คือ เป็นไปตามภาวะธรรม ตัวสันโดษจะอ่อนกว่าตัวสมถะ

สันโดษ แปลว่า ทำให้สมกับเหตุ (เรากำหนดไว้ได้)

สมถะ แปลว่า ต้องดูเหตุของสภาวะธรรม แล้วปฏิบัติให้เป็นไปตามสภาวะธรรมนั้น

ทำไมในวิปัสสนูกิเลส ถึงใช้คำว่า ปัคคาหะ ทำไมถึงไม่ใช้คำว่าวิริยะ ที่แปลว่าความเพียรพยายาม ปัคคาหะจะเป็นตัวรวม ส่วนวิริยะจะเป็นตัวเดียว ปัคคาหะเป็นตัวรวม ต้องมีความเพียรพยายาม อดกลั้นที่จะเพียรพยามที่จะทำสืบเนื่องต่อกันไปได้ มีทั้งความอุตสาหะ ความพยายาม มีมานะมุ่งมั่น ปัคคาหะจึงเป็นตัวรวมหลายๆ ดีๆ เข้าไปอยู่ในนี้

๘. อุปัฏฐาน (established mindfulness) แปลว่า สติรับรู้เด่นชัด ให้มีสติอย่างแจ่มชัด แล้วจึงจะมาใช้สัมปชัญญะพิจารณาว่าเป็นยังไหน คือ รู้ชัดเจน เห็นชัดเจน สามารถวิเคราะห์คัดออกมาเป็นประเภทได้เลย เสร็จแล้วถึงจะรวมกันว่าตรงนี้ดีหรือไม่ดี เป็นสัมปชัญญะแล้ว เอาปัญญาเข้าไปบวกแล้วพิจารณาว่าดีแค่ไหนไม่ดีแค่ไหน เขาเรียกว่า สัมปชัญญะ ตอนต้นนี้ต้องให้รู้ รู้แล้วให้เด่นชัดเข้าไป บางครั้งเรารู้แล้วไม่เด่นชัด มัว ไม่ชัดเจน ถ้าเด่นชัดก็คือรู้เลย รู้เลยว่าอันนี้กี่นิ้ว หมายความว่า รู้รูปชัดเจน

พอรู้รูปชัดเจนแล้วจึงจะมาบวกกับสัมปชัญญะคือมาพิจารณาว่า ตรงนี้ดีแค่ไหน ไม่ดีแค่ไหน

ข้อนี้เป็นสติที่รู้ชัดเจน แต่ไม่ได้บอกถึงตัวสัมปชัญญะ

ทำไมวิปัสสนูกิเลสถึงมาเน้นตรงนี้เพราะว่า พอไม่รู้ว่าตรงนี้ชัดเจน พอเอาตัวสัมปชัญญะมาพิจารณาก็ทำให้เกิดความผิดพลาดได้

แสดงว่าไปพบเจอมูลฐานเหตุชัดเจน ถูกตรงตัว ถ้าเราไม่รู้ชัดเจน เวลาเราไปคำนวณก็จะผิดพลาดได้

ให้มีสติอย่างแจ่มชัดแล้วถึงจะเอาสัมปชัญญะเข้ามาพิจารณา

โฟกัสคมชัด ลึก อย่างละเอียดถ่องแท้

ถ้าพูดไปแล้ว เป็นสติเหนือสติ คือ มีความแจ่มชัด

เช่น ใช้กล้องจุลทรรศน์ ( Microscope ) ส่องดูเชื้อโรค มองเห็นเชื้อโรคอย่างชัดเจนเลยว่า เป็นเชื้อโรคตัวไหน หรือจะเป็นไวรัส (Virus) แบคทีเรีย (Bacteria) เชื้อรา (Fungal infection , Mycosis) ปรสิต (parasite) สุดแล้วแต่ว่าเราจะหาเจอว่าเป็นอย่างไร พอเราหาสาเหตุเจอแล้ว ก็จะนำสัมปชัญญะมาวิเคราะห์ว่า ตัวนี้เป็นไวรัส แต่ตระกูลไหน สายพันธุ์อะไร เป็นไวรัสร้ายหรือดียังไง แล้วจึงมาพิจารณา วินิจฉัย แล้วถึงจะสรุป

นี่แหละ คำแต่ละคำในวิปัสสนูกิเลส จะเป็นอภิคำของสายธรรมนั้นๆ เช่น ถ้าเราพูดถึงคำว่าสติ ตัวอุปัฏฐานนี้เป็นอภิของสติเลย มีคำหนักเบา เป็นสัญลักษณ์ให้รับรู้กัน คนที่รู้พอฟังแล้วก็จะรู้เลยว่ามีความหนักเบาอย่างไร คำนี้ไม่ใช่สติธรรมดา แต่เป็นอภิสติเลย

๙. อุเบกขา (equanimity) แปลว่า มีจิตเป็นไปตามวิถีแห่งธรรม ยอมรับความจริงวิถีแห่งธรรม

๑๐. นิกันติ (delight) แปลว่า พอใจ ชื่นชอบ ปลื้มใจ เพราะตัวปลื้มใจนี้จะเข้าสู่ความเป็นปิติได้

แล้วนิกันตินี้สำคัญยังไง ทำไมถึงอยู่ในวิปัสสนูกิเลสได้ เพราะจะทำให้เรามุ่งมั่นอยากทำต่อ ถ้าเรายึดติดเราก็จะไปเสวยสุขอยู่แค่นั้น แต่ถ้าหากว่าเข้าใจ เป็นสัมมา ก็จะทำต่อ สิ่งนี้ก็จะเป็นแรงกำลังใจ

นิกันตินี้จะส่งเสริมให้เรารู้ผลแล้วจะเกิดกำลังใจ ทำแล้วจะเห็นผลเช่นนั้น เห็นผลแล้วจะมีความสบายใจ ถ้าเราไปยึดติดก็จะมีความสบายใจอยู่แค่นี้แล้ว แต่ถ้าเราเอานิกันติมาเป็นอุทธาหรณ์ก็จะทำให้เรามุ่งมั่นที่จะทำขึ้นไปอีก เหมือนกับว่าเราทำดีแล้วใจมันฮึกเหิมที่จะทำดีต่อไป ใจมันดีใจที่จะทำต่อไป

นี่แหละ นิกันตินี้ดี แต่เราจะยึดติดความดีตรงนั้นไม่ได้ เราทำแล้วเราดีใจ เรามัวแต่ยึดติดตัวดีใจ เราก็จบแล้ว ถ้าเราดีใจเราก็ต้องวางแล้วรีบทำดีเดินหน้าต่อไป ข้างหน้ายังมีอะไรดีอย่างนี้ ให้ทำดีต่อไป ให้ทำมากขึ้นไปถึงจะถูกต้อง

แต่นิกันตินี้พูดถึงให้เราไปติดตรงนี้ พอใจตรงนี้แล้วไปยึดมั่นถือมั่น

"ดีแล้วติดดีก็จบ ต้องเป็นดีแล้ววางดีได้ แล้วไปหาดีข้างหน้าใหม่ ถึงจะเจริญธรรม" ถ้าไม่อย่างนี้ก็กลายเป็นจมปลักธรรมแล้ว กลายเป็นติดศาลาไปไหนไม่ได้

ถ้าเรามีดีติดดี ถ้าเรานำเอามาเป็นอุทธาหรณ์เราก็จะขยันมากขึ้น แน่นอน แต่ถ้าเราไปเพลินกับสิ่งที่เราติดดี เราจะเหลวไหลขึ้นเพราะไปติดดีตรงนั้น แล้วจะพูดว่า เราดีแล้ว เราพอแล้ว แค่นี้

ยกตัวอย่างเช่น เราถูกหวย ๔ ล้าน ถ้าเราดีใจมัวแต่ดีใจก็ไม่เกิดประโยชน์ ต้องนำเงิน ๔ ล้านนี้ไปต่อยอด ไปลงทุน ไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ เจริญธรรมคือให้สูงขึ้นไป

สรุป ข้อนี้คิดติดดี พอเรายึดมั่นถือมั่นในดี เราก็เสร็จ นี่แหละเป็นกิเลสแล้ว เป็นมิจฉาแล้ว เป็นวิปัสสนูกิเลส

สิ่งที่ถูกแต่เราใช้ผิดวิธีก็จะกลายเป็นวิปัสสนูกิเลส แต่ถ้าเราใช้วิธีถูกก็จะกลายเป็นเจริญธรรม

๑๐ ข้อที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ตัวกิเลส แต่สิ่งที่เป็นกิเลสคือ เราไปยึดมั่นถือมั่นใน ๑๐ ข้อนี้ ไม่ใช่ผิดในตัว แต่ตัวดีมันดีอยู่แล้ว นี่แหละองค์ธรรม ๑๐ ข้อนี้เป็นทหารเสือของเราที่ดีมากที่ทำให้เราเจริญขึ้น ที่เราจะต้องมีไว้กับตัว เรามีดีตัวนี้เราถึงขยันขึ้น เป็นอุทธาหรณ์ให้เราอยากทำมากขึ้น ขยันทำมากขึ้น เกิดมานะมุ่งมั่นทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เจริญธรรม

ตัวองค์ธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่เราจะไปยึดติด ยึดมั่นถือมั่นในองค์ธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้ไม่ได้ แต่เป็นขั้นบันไดให้เรา เปรียบเสมือนเป็นแม่แรงให้กับเรา เราไม่มีข้างล่างก็ไม่มีข้างบน ถ้าสิ่งนี้ไม่เกิด คือ องค์ธรรม ๑๐ ข้อนี้ ก็จะไม่เกิดข้างบน ต้องเกิด แต่เกิดแล้วเราต้องวาง วางแล้วต้องไปต่อ เรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นแรงส่งให้เราขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีบันไดขั้นแรกจะมีบันไดขั้นที่ ๑๐ ได้ไหม? ก็ไม่ได้ ฉะนั้น จะไปบอกว่าบันไดขั้นแรกไม่ดี อย่างนี้ไม่ใช่ แม้ว่าต่ำ แต่เราก็ต้องก้าว แต่ถ้าเราไปติดบันไดขั้นแรกเราก็อยู่แค่นั้น

เราไม่มีขั้นแรกเราก็ขึ้นไปไม่ได้ แต่เราติดขั้นแรกเราก็เสร็จ ฉะนั้น กิเลสจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราไปยึดติด ไปยึดมั่นถือมั่น

วิปัสสนูกิเลสก็คือตัวนี้นี่เอง องค์ธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้ไม่ใช่วิปัสสนูกิเลส

เราต้อง "อย่าไปจับที่รูป ต้องจับที่ว่าทำไมเราถึงเป็น" ต้องอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงเป็น เราเป็นเพราะว่าเราไปยึดมั่นถือมั่น พอเรายึดมั่นถือมั่นก็จะไปยึดกับหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกข์ อนัตตาแล้วนี่ ข้อนี้แหละคือกิเลส เป็นมิจฉากิเลส

หัวใจของวิปัสสนูกิเลส คือ "การไปยึดติด ยึดมั่นถือมั่นในองค์ธรรมนั้นๆ"

เมื่อไหร่ที่เราไปยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละเป็นวิปัสสนูกิเลสแล้ว แม้แต่นิพพาน ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นในนิพพาน นี่แหละเป็นวิปัสสนูกิเลสแล้ว นี่แหละเป็นหัวใจ หัวใจตรงที่ว่าเราอย่าไปยึดมั่นถือมั่น เราก็จะหลุดออกจากวิปัสสนูกิเลส เมื่อไหร่ที่เราไปยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั่นจะเป็นวิปัสสนูกิเลสทันที

วิปัสสนูกิเลสก็คือว่าเราไปยึดเรือ ไม่ใช่เป็นเพราะเรือ คนทั่วไปจะไปโทษเรือ อันที่จริงเราต้องขอบคุณเรือที่นำพาเราไปถึงฝั่ง แต่เพราะเราไปยึดเรือเอง

ถ้าเราพึงพอใจเราก็จะไปยึดติด ยึดมั่นถือมั่นตรงนั้นไว้ เราก็ติดอยู่ตรงนั้น ก็กลายเป็นมิจฉา ไม่ใช่สัมมาแล้ว มันขัดกับพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือว่าการทำสิ่งนี้เป็นการขัดพระไตรลักษณ์จึงไม่สามารถเจริญธรรมต่อไปได้ ก็กลายเป็นติดธรรมอยู่ตรงนั้น พึงพอใจอยู่ตรงนั้น วกวนอยู่ตรงนั้นก็จบแค่นี้ ก็หลงเข้าไปในปฏิจจสมุปบาท หลงชาติภพแล้ว ก็วางชาติภพไม่ได้ นี่แหละเชื่อมกันไปหมด

^_^ ..._/\_... ^_^

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์

เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่