พนักงานจ้างรายวัน ถ้าทำงานในวันหยุดจ่ายค่าแรง X2 ตาม กม. ยังจะผิดกฎหมายไหมครับ?

ขอปรึกษาการจ้างงานลูกจ้างรายวัน(คนไทยและต่างด้าว)สำหรับนายจ้างมือใหม่ ที่ต้องการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ดังนี้ด้วยครับ

1. พนักงานจ้างรายวัน ปกติเรามีวันหยุดให้ 1 วัน/สัปดาห์ ตาม กม. กำหนด(เป็นวันไหน ในสัปดาห์นั้นก็ได้ ถูกต้องไหมครับ ไม่จำเป็นจะต้องเป็น เสาร์ หรือ อาทิตย์ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง)

แต่ถ้าพนักงานขอทำงานในวันหยุด 1 วัน/สัปดาห์ ดังกล่าว ซึ่งทางนายจ้างยินดีจ่ายค่าแรง X2 ตาม กม.
ยังจะผิดกฎหมายอยู่ไหม เพราะเป็นความสมัครใจของพนักงานเองที่อยากทำงานในวันหยุดเพื่ออยากมีรายได้เพิ่ม
แล้วนายจ้างต้องทำเอกสารอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรกับลูกจ้างหรือไม่

2.ค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายวัน คิดให้แบบนี้ถูกต้องตาม กม. กำหนดหรือไม่

2.1 พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ 325 บาท/วัน(ทำงาน 8 ชม.+ เวลาพักอีก 1 ชม.= 9 ชม.)
2.2 ล่วงเวลาในวันทำงานปกติ(OT) ต้องให้ 1.5 เท่า ของค่าจ้างรายชั่วโมงปกติ
325/8=40.625 บาท/ชั่วโมง  ดังนั้นทำจ่าย  40.625x1.5=60.9375 บาท/ชม. สำหรับการทำล่วงเวลาในวันทำงานปกติ/ชม.
2.3 ทำงานในวันหยุดที่จัดให้ 1 วัน/สัปดาห์ หรือ วันหยุดตามประเพณี 13 วัน/ปี ที่ กม. กำหนด ต้องจ่ายค่าแรง x2
ดังนั้นต้องจ่าย 325x2=650 บาท/วัน
2.4 ถ้าทำงานล่วงเวลาในวันหยุดที่จัดให้ 1 วัน/สัปดาห์ หรือ วันหยุดตามประเพณี 13 วัน/ปี ที่ กม. กำหนด ต้องจ่ายค่าแรง x3/ชม.

3. การจ้างลูกจ้างรายวัน ต้องจัดให้ทำประกันสังคมด้วยหรือไม่ มีรายละเอียดอย่างไร และถ้าไม่จัดให้มีจะมีบทลงโทษอย่างไรกับนายจ้างและลูกจ้างครับ

ขอบพระคุณมากครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
ประเด็นที่ 1 วันหยุดประจำสัปดาห์
มาตรา 28 กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้
ดังนั้น หากนายจ้างไม่ได้กำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์แน่นอนตายตัว จะทำความตกลงกับลูกจ้างเลือกวันหยุดก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะ 6 วัน หยุด 1 วัน


ประเด็นที่ 2 การจ่ายค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายวัน
มาตรา 56 ลูกจ้างรายวันไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์
นั่นคือ จ่ายค่าจ้างเฉพาะที่ลูกจ้างทำงาน


ประเด็นที่ 3 การทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด
มาตรา 5 “วันหยุด” หมายความว่า วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี
มาตรา 24 ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอม
มาตรา 25 ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉินนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น
มาตรา 27 วรรคสี่ ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่ายี่สิบนาทีก่อนที่ลูกจ้างเริ่มทำงานล่วงเวลา
มาตรา 61 ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
มาตรา 62 (2) ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุด สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด (ลูกจ้างรายวัน) ไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
มาตรา 63 ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
มาตรา 77 กรณีที่นายจ้างต้องรับความยินยอมจากลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดทำหนังสือแสดงความยินยอม ให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อ

สมมติ นายจ้างกำหนดวันทำงาน คือ วันจันทร์ - วันเสาร์ หยุดประจำสัปดาห์ทุกวันอาทิตย์ เวลาทำงานปกติ 08.00 - 17.00 น. พักเวลา 12.00 - 13.00 น. ลูกจ้างรายวัน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 325 บาท
1. นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ตั้งแต่ 17.00 - 19.00 น. รวม 2 ชั่วโมง
ค่าล่วงเวลา  =  325 บาท / 8 ชั่วโมง  x 1.5 เท่า  = ชั่วโมงละ 60.93 บาท
ทำงานล่วงเวลา 2 ชั่วโมง คิดเป็นค่าล่วงเวลา 121.87 บาท

2. หากให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เวลา 08.00 - 17.00 น.
สำหรับลูกจ้างรายวันให้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดสองเท่า  คือ  วันละ 650 บาท

3. หากให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ตั้งแต่ 17.00 - 19.00 น. รวม 2 ชั่วโมง
ค่าล่วงเวลาในวันหยุด  =  325 บาท / 8 ชั่วโมง  x 3 เท่า  = ชั่วโมงละ 121.87 บาท
ทำงานล่วงเวลา 2 ชั่วโมง คิดเป็นค่าล่วงเวลาในวันหยุด 243.75 บาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่