[CR] Go! Lofoten (Ep. 1 เตรียมตัวตามหาแสงเหนือ)

ไอซ์แลนด์...ไม่เคยไป
แสงเหนือ...ไม่เคยเห็น
พูดถึงแสงเหนือผมก็จะคิดถึงไอซ์แลนด์ขึ้นมาเป็นอันดับแรก แต่หลังๆ เห็นคนไป "Lofoten" กันเยอะขึ้น ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเกาะแก่ง ภูเขาละลานตา และเขาว่าโอกาสเห็นแสงเหนือก็เยอะด้วย เลยตัดสินใจไปกันเลยโดยไม่ต้องลังเล กระทู้แรกนี้ก็เกริ่นข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากทริปนี้กันก่อน ค่อยพาไปเที่ยวแบบเต็มๆ กันใน Ep. 2 ครับ


-------------------------------

เพี้ยนหลงรัก

ทิปการตามหาแสงเหนือ
ขอไม่ใช้คำว่า "ล่า" แสงเหนือ เพราะผมก็ไม่ได้ล่าแบบจริงๆ จังๆ ออกจะงงๆ ซะด้วย เพราะเป็นออกมาดูแสงเหนือครั้งแรก ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทุลักทุเลพอสมควร...

วันแรก - เอาแต่ดูพยากรณ์ใน app Kp index น้อย เมฆเยอะ ออกไปด้อมๆ มองๆ ใกล้ๆ บ้านแป๊บนึง ก็นอน...(ฮา)
วันที่ 2 - Kp น้อย (1) มีเมฆ ไม่ออกละ ก็นอน (ฮาอีก)
วันที่ 3 - Kp น้อย (1-2) มีเมฆ แต่ไม่ฮาละ กลัวไม่เห็น ปลุกกันตอนตี 2 ออกไปที่ชายหาด...รอเก้อ
วันที่ 4 - Kp เยอะขึ้น (2-4) มีเมฆ ฮาไม่ออก เร่ิมกระสับกระส่าย เดี๋ยวจะจบทริปแบบกลับไปตาเปล่า วางแผนจะออกกันหลังเที่ยงคืน...โชคดีที่เจ้าของที่พักเดินมาทักทาย (เทวดามาโปรด) เขาเลยบอกว่า ออกไปเลยตอนสองทุ่ม เที่ยงคืนมันดึกไป! ให้ไปตรงนั้น หันหน้าตรงนี้...สรุป mission completed (เฮ!!!) ทำให้รู้ว่า ที่เดาเอาเองนั้น..."ผิดเกือบหมด"



งั้นลองมาดูเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการหาแสงเหนือกันดีกว่า

>>> สถานที่
1. ควรหาสถานที่มืดๆ ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน แต่ถ้า Kp สูงๆ ที่สว่างก็ยังเห็นได้เหมือนกัน
2. ถ้าจะให้รูปสวย ควรมี foreground, background ที่น่าสนใจ เช่น ภูเขา ชายหาด หรือบ้าน แต่ถ้า foreground เป็นเมืองหรือบ้าน เวลาตั้ง speed shutter นานๆ แล้วไม่ได้ใช้ ND filter ส่วนเมืองที่มีแสงไฟมันอาจจะสว้างจ้าเกินไป จนทำให้รูปไม่สวย
3. ดังนั้นควรต้องมีการวางแผนก่อนว่าจะถ่ายที่ไหน ง่ายๆ คือ ตอนกลางวันควรไปสำรวจสถานที่จริงก่อน จะได้คิดไว้คร่าวๆ ว่าจะหันไปทางไหน ตั้งกล้องตรงไหน เพราะถ้าดุ่ยๆ ไปกลางคืนเลย การจะมาหา location ในสภาพอากาศหนาวเหน็บและมืดสนิทเนี่ย มันไม่ง่ายเลย บางครั้งคนถ่ายตรงนั้นก็เยอะ ไปยืนเก้ๆ กังๆ ฉายไฟฉายไปมา จะโดนเขาด่าอีกเพราะไปบังกล้องเขา 

>>> เวลา



1. ฤดูหนาวจะมีโอกาสเห็นมาก ถ้าเป็นที่ Lofoten ช่วงปลายกันยายน-ปลายมีนาคม จะมีโอกาสเห็นมากตามรูปด้านล่าง แต่เวลาที่เหมาะจริงๆ น่าจะเป็นช่วง กันยายน-ตุลาคม กับ กุมภาพันธ์-มีนาคม ครับ เพราะมีกลางวันพอๆ กับกลางคืน ไม่ใช่มืดมันทั้งวันจะพาลเอาไม่ได้เที่ยวอย่างอื่นกันพอดี และอากาศก็ไม่หนาวเหน็บทรมานเกินไปนัก
2. อย่าคิดว่าต้องออกตามหาหลังเที่ยงคืนเสมอไป ดู Kp, สภาพอากาศ ประกอบกัน

>>> พยากรณ์นั้นสำคัญไฉน
1. พยากรณ์ก็คือพยากรณ์ ไม่ได้แม่นเสมอไป ทั้งพยากรณ์อากาศและพยากรณ์แสงเหนือ แต่ก็ยังสำคัญนะครับ เพราะทำให้เราวางแผนคร่าวๆ ได้
2. อากาศที่ Lofoten นี่ค่อนข้างแปรปรวน บางทีบอก cloudy แต่กลับ sunny เฉยเลย บางทีแดดออกดีๆ อยู่ๆ หิมะก็ตกอะไรประมาณนี้ ส่วนใหญ่ต้องดูพยากรณ์อากาศกันวันต่อวัน หรืออย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงล่วงหน้า
3. การเห็นแสงเหนือขึ้นกับ หลายปัจจัย ทั้ง Kp, สภาพฟ้าเปิด, เวลาและสถานที่เหมาะสม ลองดูรูปด้านล่างกัน อันนี้ประสบการณ์จากทริปนี้เลย

หาก Kp ต่ำ แต่ถ้าฟ้าเปิด ไปสถานที่เหมาะสม ก็เห็นได้ แต่ต้องลองเอากล้องถ่ายทดสอบดู เพราะอาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า

แต่ถ้า Kp สูง แต่เมฆเต็มฟ้า ก็อาจยากที่จะได้เห็นครับ (ฮืออออ)

>>> Kp index ต้องสูงขนาดไหนถึงเห็น
1. ตรงไปตรงมา คือยิ่งสูงยิ่งเห็น (มีค่าตั้งแต่ 0-9)
2. แต่ถ้าเอาให้จำเพาะเจาะจงขึ้น ก็คือ ขึ้นอยู่กับประเทศครับ ยิ่งอยู่ทางเหนือยิ่งเห็นง่าย อธิบายตามรูปล่าง เช่น เราไป Lofoten ซึ่งอยู่ตอนเหนือของนอร์เวย์ Kp 2-3 ก็เห็นได้แล้ว ถ้าเหนือขึ้นไปอีกนิดอย่าง Tromso แค่ Kp 1 ก็เห็นแล้ว


>>> มองตาเปล่าจะเห็นเหมือนในรูปไหม
1. ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นแค่แถบสีขาวๆ จางๆ บนท้องฟ้าไม่ได้เป็นสีเขียวแบบในรูปถ่าย หลายครั้งจะงงๆ ว่ามันเมฆหรือแสงเหนือ
2. ถ้าเยอะหน่อยจะเห็นเป็นแถบขาวๆ วิ่งไปมา (คล้ายๆ แสงเหนือเต้นระบำ) ถึงจะไม่เขียวแต่มันก็สวยประทับใจและน่าอัศจรรย์มากครับ (ดังนั้นถ้าเห็นครั้งแรกอย่าเอาแต่ถ่ายรูป มองและดื่มด่ำด้วยตาเปล่าด้วยจะจำไม่ลืม แต่อย่าเพลินจนแสงหมดแล้วยังไม่ได้ถ่าย (ฮา))
3. ถ้ามองไม่เห็นจริงๆ ลองใช้กล้องถ่ายท้องฟ้าทดสอบดู (อาจตั้งกล้องให้รูรับแสงกว้าง (ค่า f เลขน้อยที่สุดของเลนส์), speed shutter นานหน่อย (เอาซัก 5 วินาทีก่อน), ISO ซัก 3200 หรือมากกว่า) ถ้าเริ่มเห็นค่อยตั้งกล้องเพื่อถ่ายจริงใหม่และปรับตามสภาพแสงที่ได้
4. ถ้า Kp สูงๆ เขาว่ามองตาเปล่าอาจจะออกเป็นสีเขียวได้ (อันนี้ไม่เคยเห็นเหมือนกันครับ)


>>> ถามคนพื้นที่ ถ้ามีโอกาสควรถามครับ เขาอาจจะบอกเราได้ว่าวิวไหนดี ต้องหันหน้าทางไหน ออกเวลากี่โมง และวันนี้จะมีไหม

>>> เตรียมเครื่องแต่งกายให้พร้อม เพราะมันหนาวมาก ถ้ามือแข็ง เท้าเย็น จะพาลให้ถ่ายไม่ไหวซะงั้น อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัว พอมันหนาวมากๆ ก็ถ่ายต่อไม่ไหว จะนั่งรอในรถให้มืออุ่นค่อยออกไปถ่ายต่อแสงก็หมด อีกทั้งยังเกรงใจเพื่อนๆ ที่ไปด้วยกันอีก ต้องมารอเราคนเดียว

>>> ซื้อทัวร์แสงเหนือดีไหม อันนี้สะดวกสุดๆ ยิ่งถ้าเป็น local tour จะยิ่งดี (มีให้เลือกเยอะแถว Tromso แต่ยังไม่เคยเห็น local tour ที่ Lofoten ครับ เห็นแต่ทัวร์จากไทยเราเอง) เขาจะรู้ทำเล ทิศทาง ถ้าตรงนี้ไม่เห็นจะพาไปตรงไหน และส่วนใหญ่มีการเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้พร้อม มีเครื่องดื่มอุ่นๆ ให้ระหว่างรอ แต่ราคาก็แพงแสนแพง แต่!!! อย่าลืมนะครับว่าเขาก็เนรมิตแสงเหนือไม่ได้ ถ้าซวยจริงๆ ไม่เห็นแสงเหนือ เขาไม่คืนเงินนะคร้าบบบ

>>> ตั้งกล้องยังไงดี มีหลายสูตรเลยครับ แต่ละคนแนะนำตัวเลขที่แตกต่างกันจนบางครั้งเราก็งงว่าจะตามใครดี แต่ไม่ต้องกังวล หลักง่ายๆ คือ ตั้งกล้องให้แสงเข้ากล้องมากๆ เพราะข้างนอกมันมืด หลักการมีดังนี้ครับ

1. อย่าลืมขาตั้งกล้อง, ถ้ามีรีโมทหรือสายลั่นชัตเตอร์ยิ่งดี

2. ตั้ง manual mode

3. ตั้ง manual focus (MF)เพราะในสภาพท้องฟ้าที่มืดมาก การใช้ autofocus (AF) กล้องมันจะหาจุดโฟกัสไม่เจอวืดไปวืดมาและกดชัตเตอร์ไม่ได้ แต่ก่อนที่จะตั้งเป็น MF ให้ใช้ AF หาจุดโฟกัสของ foreground ที่สว่างก่อน เช่น ที่ภูเขา บ้าน หรือตำแหน่งที่จะมีคนไปยืน แล้วค่อยเปลี่ยนเป็น MF จะทำให้ foreground เราชัดสวยไม่เบลอ (ถ้าฉากอยู่ไกลก็ไม่เป็นไร ตั้ง MF ให้อยู่ในระยะ infinity เลย)

4. ปิดกันสั่นที่เลนส์หรือกล้อง

5. รูรับแสงกว้างๆ (ค่า f ตัวเลขน้อยๆ เช่น 1.4, 2.8)

6. Shutter speed นานหน่อย (เช่น 5-10 วินาที) ไม่ควรตั้งนานเกินไปเพราะจะทำให้แสงเป็นปื้นๆ ไม่เป็นริ้วเป็นเส้นสวยๆ

7. ISO สูงหน่อย (เช่นเริ่มที่ 1200-3200) ไม่ควรตั้งสูงเกินไปเพราะจะทำให้รูปมี noise เยอะมากไม่สวย แต่ถ้า ISO ตำ่เกินไปรูปจะมืดและเราต้องดัน shutter speed นานขึ้นทำให้แสงเป็นปื้นไม่สวยเช่นกัน

8. ถ่ายแต่ละรูปต้องดูทุกครั้งว่าได้แสงเป็นยังไง ฉากเป๊ะไหม และดูรูปที่ได้หลังถ่ายทุกครั้ง ปรับกล้องตามสภาพแสงและรูปที่ได้ ผมถึงบอกว่ามันไม่มีสูตรตายตัว จำไว้แค่หลักคร่าวๆ พอ ค่าที่ได้รูปสวยที่สุด ณ เวลานั้นอาจไม่ใช่ค่าที่บอกไปข้างต้นก็ได้

9. เตรียมเครื่องแต่งกายให้พร้อม ทำร่างกายให้อุ่นๆ ข้อนี้สำคัญครับ ที่เห็นเขียนทฤษฎีด้านบน ก็ใช่ว่าผมจะถ่ายสวยนะครับ ของจริงมันหนาวมาก ตั้งผิดตั้งถูก มองฉากก็ไม่เห็น มือก็เจ็บถอดถุงมือมาปรับแต่ละทีนี่ทรมาน (คือไม่ได้สำรวจพื้นที่มาก่อน เจ้าของบ้านบอกให้ไปถ่ายตรงไหน ก็ไป ทั้งที่ไม่เคยไปมาก่อน เลยไม่รู้อะไรอยู่ตรงไหน ฉากเอียงไปเอียงมา) รูปตัวเองเลยออกมาได้ไม่ถูกใจเท่าไร

10. อีกอย่างที่สำคัญคือ มารยาทในการถ่ายรูป ครับ เห็นใจคนที่มาถ่ายรูปเหมือนกันด้วยครับเพราะทุกคนก็อยากได้รูปสวยๆ เหมือนกัน เช่น อย่าตั้งกล้องขวางเขา (คุยกันดีๆ) บางคนพกมาตั้ง 3 ตัว วางแผ่เต็มหน้างาน คนอื่นเข้าไปตั้งถ่ายไม่ได้เลย พอเดินไปใกล้นิดหน่อยก็โดนว่า, อย่าเดินไปเดินมาบังกล้องเขา, อย่าสาดไฟฉายไปมา และอย่าตะโกนคุยกันเสียงดัง

อย่างรูปบนนี้ของเพื่อนที่ไป เจอฝรั่งตั้งกล้อง 3 ตัวรวด จะขยับไปตั้งใกล้ๆ ก็โดนว่าหลายรอบห้ามเข้ามา ถ่ายหลบยังไงก็ติดกล้องเขาอยู่ดี และแสงไฟจากกล้องฝรั่งท่านนั้นก็แดงสว่างรบกวนรูปคนอื่นตลอดเวลา ถ้าที่แคบมีหลายคนไปถ่ายก็คิดถึงใจเขาใจเราบ้างครับ

>>> App หรือ website แนะนำ



- Website: Norway-lights.com
- App: Aurora Alerts และ My Aurora Forecast

เพี้ยนลุย">
ชื่อสินค้า:   โลโฟเทน, Lofoten, นอร์เวย์, แสงเหนือ, norway, northern light, aurora, reine, Hamnøy, Henningsvær, leknes, winter, road trip
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่