ขอเสนอความเห็นในการตีความว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

กระทู้สนทนา
              การตีความกฎหมายสามารถตีความตามตัวอักษรและการตีความตามเจตนารมณ์  โดยปกติ การตีความตามตัวอักษรและตามเจตนารมณ์เป็นสิ่งที่ต้องประกอบกันเพื่อหยั่งทราบถึงความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมาย แต่ถ้าการตีความทั้งสองขัดแย้งกัน ต้องถือเอาการตีความตามเจตนารมณ์เป็นใหญ่ เพราะเป็นการตีความไปในทางได้ผลสมความมุ่งหมายของกฎหมายตาม     เมื่อพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม   โดยไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  มาตรา ๙๘  (จึงกำหนดให้) บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (๑๕) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ  เพื่อมิให้บุคคลดังกล่าวอาศัยอำนาจหน้าที่หรือใช้ประโยชน์จากอำนาจหน้าที่เอาเปรียบผู้สมัครฯ  ผู้อื่น ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ 2557 มาตรา 42 และคงอยู่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 265    ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงมีลักษณะต้องห้ามไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือโดยเฉพาะอย่างถ้าเป็นรัฎฐาธิปัตย์  เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม                     
              อนึ่ง ขอฝากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแก่ผู้จบการศึกษาจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523 ความตอนหนึ่งว่า    “กฎหมายนั้น โดยหลักการจะต้องบัญญัติขึ้นใช้เป็นอย่างเดียวกัน และเสมอกันสำหรับคนทั้งประเทศ จึงเป็นธรรมดาที่จะบังคับใช้ให้ได้ผลบริบูรณ์ครบถ้วนทุกกรณีไม่ได้ คงต้องมีส่วนบกพร่องเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้างตามเหตุการณ์และตัวบุคคลผู้นำกฎหมายมาใช้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้กฎหมายจะต้องสำนึกตระหนักในความรับผิดชอบของตนเองอยู่ตลอดเวลา ในอันที่จะใช้กฎหมายเพื่อธำรงรักษา และผดุงความยุติธรรมถูกต้อง เพียงอย่างเดียว มิใช่เพื่อผลประโยชน์อย่างอื่น ๆ ในขณะนี้ทุกคนต้องทำใจให้หนักแน่นเที่ยงตรง ปราศจากอคติ ให้กล้าแข็งที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม ให้สุขุมรอบคอบประกอบด้วยสติและปัญญาที่จะตรวจตราและพินิจพิจารณาหาทางที่จะใช้ตัวบทกฎหมายให้ได้ผลตรงตามจุดประสงค์ คือให้เกิดความถูกต้องเที่ยงตรง โดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ยอมปล่อยให้มีผู้อาศัยข้อบกพร่องทางกฎหมาย เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นในทางไม่เป็นธรรมได้ ทั้งต้องดำรงตนให้เป็นที่พึ่งของสุจริตชนด้วยเสมอ นักกฎหมายจึงจะสามารถรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความผาสุกของบ้านเมืองไว้ได้”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่