JJNY : 5in1 อังคณาอัดรบ.│เผยกลาโหมเลื่อนแจง│อดีตกกต.เหน็บพท.│รอมฎอนผิดหวัง ไร้จำเลย│เซเลนสกีเผย โสมแดงหนุนทหารรัสเซีย

อังคณา อัดรบ.ปัดความรับผิดชอบ ชี้พิศาล ลาออกพท. แต่รัฐยังมีหน้าที่ ตามตัวมาขึ้นศาล
https://www.matichon.co.th/politics/news_4847228
 
 
‘อังคณา’ มอง ‘พล.อ.พิศาล’ ลาออกเป็นเรื่องส่วนตัว แต่รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่ตามตัวผู้ต้องหาขึ้นศาลคดีตากใบ ยืนยันมีอำนาจทำได้อยู่แล้ว จวก ‘ภูมิธรรม’ บางเรื่องไม่ต้องพูดจะดีกว่า เพราะเหมือนการปัดความรับผิดชอบ
 
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ที่รัฐสภา นางอังคณา นีละไพจิตร ส.ว. ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะจำเลยคดีตากใบของศาลจังหวัดนราธิวาส ที่ได้ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย และพ้นสภาพ ส.ส. ว่า การลาออกเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาที่จะลาออกเพื่อหนีความผิดหรือหนีการขึ้นศาล การลาออกดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้พรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยในอดีต หรือรัฐบาลใดก็ตาม จะหมดภาระผูกพันในการให้ความยุติธรรมต่อประชาชนในคดีตากใบ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อนำตัวจำเลยทั้งหมด มาปรากฏต่อหน้าศาล ก่อนคดีจะหมดอายุความ
 
นางอังคณากล่าวต่อไปว่า การลาออกของ พล.อ.พิศาล จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ว่าหน้าที่ของรัฐบาลยังอยู่ ขอความกรุณาให้รัฐบาลใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ทั้งหมด โดยยกตัวอย่างกรณีหลักการการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ที่วันนี้ประเทศไทยก็ได้ส่งไปให้หลายประเทศ หรือการออกหมายแดงโดยอินเตอร์โพล

วันนี้ศาลยังไม่ได้บอกว่า ใครผิดใครถูก แต่เป็นการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลจะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายก็เคารพ แต่ในวันนี้เรายังไม่เห็นความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการตามหลักสากล ของการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน” นางอังคณากล่าว
 
นางอังคณากล่าวว่า กรณีของ พล.อ.พิศาลซึ่งอ้างว่าป่วย รัฐบาลก็ต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วย แต่การนำตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมรัฐบาลสามารถทำได้อยู่แล้วขึ้นอยู่ว่าจะทำหรือไม่ทำเท่านั้น ส่วนตัวจึงอยากให้กำลังใจรัฐบาลไทยด้วย และมองว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจไทยมีความสามารถมาก ในการติดตามบุคคลต่างๆ รวมถึงสามารถดักฟังโทรศัพท์ได้ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีความจริงใจ หรือมีเจตจำนงทางการเมืองในการนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทย
 
หากรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย แต่พูดคำเดียวว่าไม่เกี่ยวข้อง ก็ถือว่าน่าละอายมาก เท่ากับว่ารัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบและปล่อยให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด” นางอังคณากล่าว
 
นางอังคณากล่าวว่า การที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์บางครั้ง ส่วนตัวมองว่าบางเรื่องไม่ต้องพูดออกมาก็น่าจะดีกว่า เพราะพูดแล้วจะเป็นเหมือนการผลักภาระ หรือปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งที่ความจริงรัฐบาลสามารถทำได้อยู่แล้ว และหากในนโยบายของรัฐบาลพูดถึงหลักนิติธรรม เรื่องนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องหลักนิติธรรมเพียงใด
 


‘ปธ.กมธ.การเมืองวุฒิ’ เผยกลาโหม เลื่อนแจง ปม พลทหารเสียชีวิตจากการฝึก ชี้อาจเข้าข่ายซ้อมทรมาน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4847373

กลาโหม เลื่อนส่งตัวแทนแจง ปม พลทหารเสียชีวิตจากการฝึก ต่อ กมธ.การเมืองวุฒิ ‘อังคณา’ ชี้อาจเข้าข่ายซ้อมทรมาน

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้เชิญผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้อง และญาติของพลทหารที่เสียชีวิตในค่ายทหาร มาชี้แจงกรณีเหตุการณ์พลทหารเสียชีวิตภายในค่ายทหารอันเนื่องมาจากการฝึกหรือการลงโทษในระบบทหาร

โดยนางอังคณา นีละไพจิตร ประธาน กมธ. กล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงกลาโหมไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าให้ข้อมูล แต่จะส่งมาในวันที่ 29 ต.ค.นี้แทน ดังนั้นวันนี้จะเป็นกระทรวงยุติธรรมและผู้เสียหายที่จะให้ข้อมูลทางไกล ผ่านระบบซูม โดยจะมีการตั้งคำถามประเด็นการทรมานว่าจะเข้ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 
ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายหรือไม่ และเวลาเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในค่ายทหาร กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยอัยการ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และ DSI มีวิธีการอย่างไรที่สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุเพื่อสอบสวนคดีได้อย่างรวดเร็ว โดยวันนี้จะเป็นการสอบถามความต้องการของผู้เสียหาย เกี่ยวกับการซ้อมทรมาน การละเมิดสิทธิ เพราะผู้เสียหายไม่เคยทราบมาก่อนว่า เรื่องดังกล่าวจะเข้าข่ายการซ้อมทรมานหรือละเมิดสิทธิ เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นการตายโดยธรรมชาติ

นส.อังคณากล่าวว่า ปัจจุบันมีกฎหมายดีๆ ที่จะให้ความคุ้มครองผู้ที่ถูกทรมานหรืออุ้มหาย และมีอำนาจตามกฎหมายเพื่อตัดอำนาจของศาลทหาร ดังนั้นหากเกิดเหตุในค่ายทหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิด หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นในค่ายทหาร ก็ต้องส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้กับพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.นี้ แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นนานแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ส่งเรื่องให้กับพนักงานสอบสวนดำเนินการ



อดีต กกต. เหน็บเพื่อไทย ไม่ขาดทุน ปม ‘พิศาล’ ลาออกสส. ชี้แค่ตัดไฟลามทุ่ง
https://www.khaosod.co.th/politics/news_9459628

อดีต กกต. เหน็บเพื่อไทย ไม่ยอมขาดทุน ปม ‘พิศาล’ ลาออก สส. ไม่ต้องแบกคำถามสังคมถึงความรับผิดชอบ แถมได้ที่นั่งสส.คืนมา ชี้เป็นการตัดไฟลามทุ่งก่อนไฟเผาบ้าน
 
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2567 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ผู้ต้องหาคดีตากใบ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่า “ค้าขายไม่ยอมขาดทุน
 
พร้อมเห็นว่า การลาออกของ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เป็นผู้ต้องหาคดีตากใบและยังอยู่ระหว่างการหลบหนีไม่มารายงานตัวต่อศาล เพื่อรอการหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.2567 เป็นการขายที่ไม่ยอมขาดทุนของพรรค
 
ก่อนหน้านี้ สังคมพยายามกดดันให้ผู้บริหารพรรคพยายามติดต่อกับบุคคลผู้นั้น แต่ก็ได้คำชี้แจงว่าติดต่อไม่ได้ การกดดันให้พรรครับผิดชอบโดยให้มีมติขับออกจากพรรคจึงเกิดขึ้น และจบลงด้วยการมีจดหมายลาออกในวันนี้
 
นายสมชัย ระบุด้วยว่า การลาออกเป็นผลให้เลื่อนลำดับ สส.บัญชีรายชื่อของพรรคขึ้นมาทดแทน จึงเสียหนึ่งได้หนึ่งกลับคืนมา อีกทั้งพรรคไม่ต้องแบกคำถามของสังคมว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพล.อ.พิศาล ในฐานะเป็นสมาชิกพรรค
 
การลาออก จึงมิใช่การตัดไฟตั้งแต่ต้นลม แต่เป็นการดับไฟลามทุ่งที่ใกล้จะมาถึงบ้าน เราจึงเห็นสีหน้าที่ยิ้มแย้มของแกนนำพรรค ที่มาแถลงข่าวพร้อมจดหมายลาออก ที่ดีใจว่าบ้านไม่ถูกเผา และยังมีสมาชิกอยู่ครบ บ้านนี้ เขามีวัฒนธรรมแบบนี้” นายสมชัย ระบุ



รอมฎอน ผิดหวัง ไร้จำเลยคดีตากใบมาศาล จี้ รบ.หาตัว พิศาล ชี้ คนรับจ.ม.ลาออก เป็นช่องทางสำคัญ
 https://www.matichon.co.th/politics/news_4848061

“รอมฎอน” ร่วมสังเกตการณ์คดีตากใบ ผิดหวังไร้จำเลยปรากฏตัวต่อศาล ลั่นถ้าความยุติธรรมในประเทศไม่ทำงาน เตรียมเดินหน้าใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศแทน ชี้ “พล.อ.พิศาล” ลาออกแล้ว ถือเป็นผลดีกับรัฐบาลจะได้จัดการให้เด็ดขาด

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีตากใบ ในการนัดเบิกคำให้การครั้งที่สอง หลังจากที่นัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาจำเลยทั้ง 7 คนไม่มาศาล โดยวันนี้จำเลยก็ไม่ได้เดินทางมาที่ศาลเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้พิพากษาได้มีคำสั่งให้นัดพร้อมประชุมคดีอีกครั้งในวันที่ 28 ตุลาคม

นายรอมฎอนกล่าวหลังร่วมนัดสังเกตการณ์คดีว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ในวันนัดพร้อมนั้นจะเป็นวันเลยกำหนดอายุความที่จะสิ้นสุดในเวลา 00.00 น.ของวันที่ 25 ตุลาคมไปแล้ว ทั้งนี้ ในอายุความที่เหลืออยู่อีก 10 วัน จำเลยยังมีโอกาสที่จะแสดงตัวต่อศาล หรือมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คดีมีการพิจารณาต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ศาลได้เปิดโอกาสให้คู่ความแถลงต่อศาล รวมทั้งให้ตนในฐานะผู้สังเกตการณ์จากอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แถลงให้ความเห็นต่อศาลด้วย โดยในส่วนของญาติผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติของโจทก์ที่ 3 ได้สะท้อนความรู้สึกที่อึดอัดคับข้องใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการนำตัวจำเลยที่ถูกออกหมายจับมาดำเนินคดีว่า มีการเลือกปฏิบัติและใช้สองมาตรฐานหรือไม่ เพราะในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ตกเป็นจำเลย หรือผู้ต้องหา จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติแบบหนึ่ง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกออกหมายจับกลับไม่มีความจริงจังมากนัก ทำให้รู้สึกหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในการฟื้นความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ

นายรอมฎอนกล่าวต่อไปว่า ตนในฐานะ ส.ส.ได้แถลงต่อศาล โดยระบุว่า ยังคงมีความหวังว่าภายในกรอบระยะเวลาเท่าที่มีอยู่ จำเลยจะสามารถให้ความร่วมมือต่อศาลได้ และเจ้าหน้าที่จะสามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ทัน ถือเป็นความหวังที่จำเป็นต้องมี เพราะผลกระทบของคดีนี้จะกว้างไกลมาก หากไม่สามารถนำตัวจำเลยมาทำให้คดีเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงของชาติ สถานการณ์ความรุนแรง และความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพ

ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเดินต่อไปได้ ความเชื่อมั่นต่อสถาบันที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดก็จะเสื่อมถอยลง สิ่งที่ต้องการมากที่สุดในการแก้ปัญหาในกรณีความขัดแย้งชายแดนใต้ คือ ความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนต่อสถาบันของรัฐ หากปราศจากความเชื่อมั่นไว้วางใจแล้วก็ย่อมเป็นการยากที่จะหาข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันในอนาคตได้ รวมถึงข้อตกลงสันติภาพด้วย

นายรอมฎอนยังกล่าวต่อไปว่า ตนยังได้แถลงต่อศาลอีกว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น และความปรารถนาที่จะได้ความจริงและความยุติธรรมของประชาชนยังดำรงอยู่ ทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนอาจจำเป็นต้องใช้ คือ การใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ หรือศาลอาญาระหว่างประเทศ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม แต่ก็มีบางช่องทางที่สามารถหยิบยกมาเรียกร้องให้มีการไต่สวนด้วยกลไกศาลอาญาระหว่างประเทศได้

แม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่หนทางและความปรารถนาของประชาชนที่จะได้รับความยุติธรรมก็ยังคงมีอยู่ ถ้ากลไกภายในประเทศไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งตนก็ตระหนักดีว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลต่อกรณีนี้ แต่ถ้าประเทศไทยไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้ การใช้กลไกดังกล่าวมาช่วยอำนวยความยุติธรรมก็เป็นเรื่องที่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ตนต้องขอขอบคุณญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่ร่วมกันฟ้องคดีในครั้งนี้ ถือเป็นความกล้าหาญที่ควรต้องได้รับความชื่นชม โดยเฉพาะในความพยายามเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ว่า จะต้องไม่มีใครใช้อำนาจรัฐในการฆ่าประชาชนได้อีกต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่