JJNY : ทุจริตซื้อ-เบิกน้ำมันเกินจริง│ราคาที่ดิน 3จว.อีอีซียังนิ่งสนิท│จีนยังเอาตัวไม่ค่อยรอด│เกาหลีเหนือในรัสเซียพร้อมรบ

เปิดพฤติการณ์ 'หน่วยงานในกองทัพไทย' ทุจริตซื้อ-เบิกน้ำมันเกินจริง ทำรัฐเสียหาย 18.25 ล้าน
https://www.isranews.org/article/isranews/132673-isranews-army-th.html
 
 
"...ปรากฏหลักฐานการขอเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนําไปใช้ในโครงการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2565 จํานวน 12 ครั้ง รวมจํานวน 200,000 ลิตร โดยมีการปลอมลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ที่ขอเบิกน้ำมันเชื้อเพลิง และมีการลงนามอนุมัติและสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่ผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่อได้ให้ถ้อยคําปฏิเสธว่าไม่ได้เบิกน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่าตนได้เริ่มเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงและให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานน้ำขนย้ายเครื่องจักรเข้าไปดําเนินการขุดลอกลําน้ำเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 เป็นต้นมา โดยใช้เครื่องจักรของทางราชการ ไม่มีการเช่าเครื่องจักรมาใช้แต่อย่างใด..." 
 
**************************************************
สืบเนื่องสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าว นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงข่าวการตรวจสอบของสตง.ในหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มีพฤติการณืควรเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการทุจริต อาจใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข และไม่ส่งคืนเงินอุดหนุนทั่วไป โดยสรุปไปแล้ว
 
สำนักข่าวอิศราจึงมานำเสนอรายละเอียดพฤติการณ์ของหน่วยงานทั้ง 3 แห่งที่กล่าวไปข้างต้น ให้สาธารณชนได้ทราบกัน ดังนี้
 
@ กรณีหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ทุจริตน้ำมัน
 
สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 15 (จังหวัดสงขลา) ได้ตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการขุดลอกลําน้ำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้จํานวน 6 โครงการ วงเงินงบประมาณ 23.07 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดซื้อน้ำมันดีเซล 557,247 ลิตร จํานวน 17.23 ล้านบาท ค่าเช่าเครื่องจักรรถขุดตักตีนตะขาบ จํานวน 2.48 ล้านบาท ค่าจัดซื้ออะไหล่ซ่อมบํารุง จํานวน 0.77 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น จํานวน 2.59 ล้านบาท
 
ผลการตรวจสอบปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และมีข้อบกพร่องเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติของทางราชการ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 18.25 ล้านบาท
ทั้งนี้ การตรวจสอบกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่สํานักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนราธิวาสได้ตรวจพบความผิดปกติในการจัดซื้อวัสดุเชื้อเพลิงและหล่อลื่นเพื่อใช้สําหรับโครงการขุดลอกลําน้ำในพื้นที่จังหวัดภาคใต้จํานวน 133,029 ลิตร งบประมาณ 3.99 ล้านบาท โดยพบว่ามีการนําน้ำมันออกจากคลังโดยปลอมลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ขอเบิกและผู้รับน้ำมัน จํานวน 100,000 ลิตร และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีน้ำมันสูญหายไปจากคลังน้ำมันอีก 14,000 ลิตร จึงได้ส่งเรื่องให้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 15 (จังหวัดสงขลา) เพื่อตรวจสอบกรณีพิเศษตามระเบียบสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการตรวจสอบกรณีพิเศษ และการเสนอเรื่องความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังของรัฐ พ.ศ. 2562 โดยสรุปผลการตรวจสอบได้ดังนี้
 
1. การจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นสูงกว่าความต้องการใช้จริง
 
โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2564 มีการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงรวมจํานวน 242,038 ลิตร และมีการเบิกน้ำมันเพื่อนําไปใช้ในการปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 จํานวน 19,054 ลิตร แต่จากการตรวจสอบสังเกตการณ์คลังน้ำมัน ณ วันที่ 24 มกราคม 2565 พบว่ามีจํานวนน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือในคลังเพียง 32,350 ลิตร ซึ่งน้อยกว่าความเป็นจริงถึง 190,634 ลิตร จึงน่าเชื่อว่าได้มีการนําน้ำมันเชื้อเพลิงออกจากคลังโดยมิชอบ
ต่อมาหน่วยงานดังกล่าวได้มีการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและมีการทยอยส่งมอบอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 รวมจํานวนทั้งสิ้น 557,247 ลิตร และจากการตรวจสอบบัญชีการเบิกและใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของโครงการดังกล่าว ปรากฏว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ได้มีการขนย้ายน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปจากคลังเพื่อใช้ในการขุดลอกลําน้ำทั้งหมด 557,247 ลิตร โดยมีการบันทึกว่าได้เบิกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งจํานวนให้กับเครื่องจักรถากถาง รถขุดตัก เครื่องจักรที่เช่ามาจากเอกชน และรถบรรทุกขนย้ายดินเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานขุดลอกลําน้ำ แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ไม่มีการนําเครื่องจักรถากถาง เครื่องจักรที่เช่ามาจากเอกชน และรถบรรทุกขนย้ายดินมาใช้ในการปฏิบัติงาน และสามารถคํานวณจํานวนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปฏิบัติงานขุดลอกลําน้ำทั้ง 6 โครงการ รวมกันเป็นจํานวนเพียง 102,680 ลิตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดซื้อในรอบแรก จํานวน 242,038 ลิตร ก็เพียงพอสําหรับใช้ในโครงการขุดลอกลําน้ำทั้ง 6 โครงการแล้ว พฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีเจตนาร่วมกันจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงมากเกินกว่าความจําเป็นต้องใช้จริง จํานวนถึง 454,567 ลิตร และมีเจตนาที่จะนําน้ำมันเชื้อเพลิงจํานวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น เข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
 
2. การเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ 

จากการตรวจสอบการเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงของโครงการขุดลอกลําน้ำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ปรากฏหลักฐานการขอเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนําไปใช้ในโครงการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2565 จํานวน 12 ครั้ง รวมจํานวน 200,000 ลิตร โดยมีการปลอมลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ที่ขอเบิกน้ำมันเชื้อเพลิง และมีการลงนามอนุมัติและสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่ผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่อได้ให้ถ้อยคําปฏิเสธว่าไม่ได้เบิกน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่าตนได้เริ่มเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงและให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานน้ำขนย้ายเครื่องจักรเข้าไปดําเนินการขุดลอกลําน้ำเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 เป็นต้นมา โดยใช้เครื่องจักรของทางราชการ ไม่มีการเช่าเครื่องจักรมาใช้แต่อย่างใด และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามที่ปรากฏในบัญชีควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งสิ้น 19,054 ลิตร จึงเห็นได้ว่าจํานวนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เบิกจ่ายไปกับจํานวนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริงไม่สอดคล้องกัน
 
จากการตรวจสอบยังได้ปรากฏพยานหลักฐานว่า หน่วยงานดังกล่าวได้เริ่มขนย้ายเครื่องจักรเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ปฏิบัติงานแล้วเสร็จและเคลื่อนย้ายเครื่องจักรออกจากพื้นที่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ซึ่งเมื่อคํานวณระยะเวลาการปฏิบัติงานในพื้นที่ และอัตราสิ้นเปลืองต่อวันของน้ำมันเชื้อเพลิงสําหรับรถขุดตัก รวมถึงรถประเภทอื่นที่ใช้ในการปฏิบัติงาน คิดเป็นจํานวนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปฏิบัติงานทั้งสิ้น 102,680 ลิตร ในขณะที่มีการการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและเบิกจากคลังเป็นจํานวนทั้งสิ้น 557,247 ลิตร จึงเห็นได้ว่ามีน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ได้นํามาใช้กับรถราชการหรือเครื่องจักร หรือสูญหายเป็นจํานวนประมาณ 454,567 ลิตร การเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ
 
นอกจากนี้สตภ.15 ยังตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การดําเนินการขุดลอกลําน้ำทั้ง 6 โครงการดังกล่าวเป็นการขุดลอกคลองส่งน้ำเดิมที่หน่วยงานอื่นได้ขุดลอกไว้ก่อนแล้ว อีกทั้งยังไม่มีการขุดขยายความกว้างและความลึกของลําน้ำทั้ง 6 โครงการดังกล่าวตามประมาณการของโครงการ เช่น มีการประมาณการความลึกก่อนขุดไว้ที่ 1-1.5 เมตร และความลึกภายหลังขุดลอกแล้วเสร็จอยู่ที่ระดับ 3 เมตร ในขณะที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าลําน้ำเดิมก่อนการขุดมีระดับความลึกอยู่ที่ 2.5 เมตร ฯลฯ ทําให้ปริมาณดินที่ขุดจริงต่ํากว่า
 
ที่ประมาณการไว้รวมถึงกรณีการขนย้ายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดคุณลักษณะและระบบการทํางานของเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ สําหรับรถที่ใช้ในการขนส่งวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 กําหนดให้รถบรรทุกน้ำมันต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS) ไว้แต่หน่วยงานดังกล่าวได้ยกเลิกการติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ จึงน่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดําเนินการหรือมีส่วนรู้เห็นในการขนย้ายน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปจากคลังน้ำมันโดยมิชอบ พฤติการณ์เข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
 
3. การเช่าเครื่องจักรขุดตักและการจัดซื้ออะไหล่ซ่อมเครื่องจักรเป็นเท็จ
 
จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีการอนุมัติให้เช่าเครื่องจักรรถขุดตีนตะขาบ โดยมีการลงนามในใบสั่งเช่าเครื่องจักร จํานวน 6 โครงการ โครงการละ 5 คัน อัตราเช่าคันละ 5,000 บาท/วัน พร้อมอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน และได้มีการจัดทํารายงานตรวจรับการเช่า แต่มิได้มีการส่งมอบเครื่องจักรที่เช่ากันจริง ก่อให้เกิดความเสียหายรวมเป็นเงินประมาณ 2.48 ล้านบาท
 
อีกทั้งยังมีการจัดซื้ออะไหล่ซ่อมเครื่องจักร จํานวน 6 โครงการ โดยแยกจัดซื้อเป็นรายโครงการ รวมจํานวนใบสั่งซื้อ 13 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 737,691 บาท โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้จัดทําเอกสารรายงานผลการตรวจรับว่ามีการส่งมอบอะไหล่แต่มิได้มีการส่งมอบอะไหล่กันจริง พร้อมปรากฏหลักฐานว่าร้านจําหน่ายอะไหล่ได้คืนเงินค่าจัดซื้อตามใบสั่งซื้อทั้ง 13 ฉบับดังกล่าว ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นเงินทั้งสิ้น 677,336 บาท 
พฤติการณ์จึงเข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความเป็นจริงอันเป็นความเท็จ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่