ปี 2030 ญี่ปุ่น...เยอรมัน...เสื่อม อินเดีย...อินโด...โต ทำไม? ตอนจบ

ปี 2030  ญี่ปุ่น...เยอรมัน...เสื่อม อินเดีย...อินโด...โต  ทำไม?  ตอนจบ

คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
www.CsiSociety.com
Add Line:  @CsiSociety

เมื่อวานนี้ เราได้คุยกันไปแล้วว่า ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์
เตอร์ ได้ออกรายงานเรื่อง “ปี 2030 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยการใช้ตัวเลข GDP PPP (Purchasing Power  Parity) ซึ่งเป็นค่าตัวเลขขนาดเศรษฐกิจที่นำไปปรับให้สัมพันธ์กับอำนาจซื้อและค่าครองชีพในแต่ละประเทศ ซึ่งผลที่ได้พบว่า จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยอินเดีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล อียิปต์ รัสเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมัน ตามลำดับ

เรายังได้คุยกันเกี่ยวกับข้อสังเกต 2 ประการที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ข้างต้นคือ  หนึ่ง ถึงเวลาที่...ประเทศในตลาดเกิดใหม่...จะโต  และสอง  ประเทศมหาอำนาจเก่า...เริ่มเสื่อมลง  วันนี้จะขอคุยต่อเลยนะครับ

สาม ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่...ต้องมีคนหนุ่มสาวเป็นหลัก
จากรายงานของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ จะพบว่า ประเทศที่จะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีจะต้องเป็นประเทศที่มีจำนวนหนุ่มสาวในวัยทำงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศที่จะเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต

อินเดีย...นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนหนุ่มสาวจำนวนมาก และมากพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปไกลในอนาคต ปัจจุบันคาดว่าอินเดียมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศหรือกว่า 600 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี  ประกอบกับอินเดียเริ่มมีการพัฒนาสาธารณูปโภคและระบบสุขาภิบาลขั้นพื้นฐานจำนวนมาก อาทิ การประกาศสร้างห้องน้ำ 111 ล้านห้องภายใน 5 ปีของประธานาธิบดี Narendra Modi  การสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการพัฒนา Smart City อีกหลายเมืองในอินเดีย เช่น บังกาลอร์

สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจของอินเดียก้าวขึ้นมาติดอันดับต้นๆได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในปี 2030 เศรษฐกิจของอินเดียจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับที่สองของโลก ในขณะที่อินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 250 ล้านคน และด้วยอัตราการเกิดของทารกที่ 1.1%  ก็ทำให้จำนวนคนทำงานในวัยหนุ่มสาวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สี่ ปรากฎการณ์ Urbanization แผ่ขยายอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโต
เป็นที่คาดการณ์กันว่า อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปี 2026  แซงหน้าจีน พร้อมๆกับปรากฎการณ์ Urbanization หรือที่เราเรียกกันว่า “สังคมเมือง” กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก แต่สำหรับอินเดียแล้วการขยายตัวของสังคมเมืองนับได้ว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว จากการสำรวจในปี 1901 พบว่า ในอินเดียเองผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เพียง 11%  พอมาปี 2001 เพิ่มขึ้นเป็น 28.53%  

แต่ที่น่าตกใจมากที่สุดตัวเลขจากธนาคารโลกพบว่าในปี 2030 อินเดียจะมีประชากรอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆสูงถึง 40.76% ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายถึงมีประชากรมากกว่า 500 ล้านคนจะอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ของอินเดีย โดยมีเมือง Delhi เมืองหลวงของอินเดียที่มีประชากรกว่า 28 ล้านคน มาเป็นอันดับที่ 3 ของโลก

ในขณะที่ Tokyo ยังคงรั้งอันดับที่ 1 เป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยมากที่สุดในโลกที่กว่า 38 ล้านคน  Jakarta ตามมาอันดับที่ 2 ด้วยประชากรกว่า 30 ล้านคน ดังกราฟด้านล่าง


สถานการณ์ในอินโดนีเซียที่มีคนย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองกลับพบว่า ยิ่งมากมายกว่าในอินเดียเสียอีก โดยในปี 2007 พบว่า คนอินโดนีเซียได้ย้ายเข้าไปอยู่ตามเมืองใหญ่สูงถึง 47.54%  พอมาถึงปี 2011 ก็เป็นครั้งแรกที่มีคนอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรก โดยคนที่ย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองสูงถึง 50.6%   พอมาถึงปี 2017 คนอินโดนีเซียย้ายเข้าเมืองไปแล้วสูงถึง 54.66% ทีเดียว โดยเมืองใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียก็คือ กรุง Jakarta  ที่ปัจจุบันมีชาวอินโดนีเซียอาศัยอยู่มากกว่า 30 ล้านคน และยังมีเมืองรองลงไปก็ยังคงมีผู้อพยพจากชนบทย้ายเข้าไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ Surabaya, Bandung และ Bekasi

สังคมเมืองในตุรกีก็ไม่แพ้ชาติอื่น ตุรกีเป็นชาติที่ประชากรชอบอยู่ในเมืองใหญ่ ในปี 2007 พบว่า ผู้คนอยู่ตามเมืองใหญ่ในตุรกีสูงถึง 69%  หลังจากนั้นอีก 10 ปีคือปี 2017 พบว่าตัวเลขขยับขึ้นไปสูงถึงกว่า 73% ทีเดียว เมื่อเกิดสังคมเมืองขึ้น ก็ทำให้เกิดกิจกรรมทางสังคมมากมาย และตามมาด้วยการใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาล เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนได้ดี นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ประเทศใดที่ประชากรจำนวนมากอาศัยอยู่ในเมืองแล้ว ประเทศนั้นก็มักจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ห้า  การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ...เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
อาจกล่าวได้ว่า ประธานาธิบดี Modi ของอินเดียได้พยายามปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมในการนำพาประเทศให้มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ อินเดียเริ่มมีการนำภาษีที่เรียกว่า Goods & Service Tax (GST) ซึ่งคล้ายๆกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ในบ้านเรา

นอกจากนั้นก็มีการนำกฎหมายล้มละลายเข้ามาบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้กิจการที่กำลังจะล้มลายสามารถยื่นให้ศาลคุ้มครองกิจการ และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล นี่ยังไม่รวมการปราบปรามคอร์รัปชันครั้งใหญ่ในปี 2016 โดยการยกเลิกธนบัตร 500 รูปี และ 1,000 รูปี และให้ไปใช้ธนบัตร 500 รูปี และ 2,000 รูปีแบบใหม่ ซึ่งได้ทำลายกระบวนการคอร์รัปชั่น และตลาดมืดทั่วอินเดีย

ในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ประธานาธิบดี Joko Widodo เข้ารับตำแหน่งนั้น งบประมาณด้านการก่อสร้างระบบพื้นฐานและสาธารณูปโภคก็ได้เพิ่มขึ้นครั้งมโหฬาร ในปี 2014 มีงบด้านนี้อยู่ที่ 177 ล้านล้านรูเปียห์ ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 401 ล้านล้านรูเปียห์ในปี 2017  การก่อสร้างท่าเรือจำนวนมากทั่วเกาะต่างๆได้ดำเนินการขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทุ่มงบประมาณในครั้งนี้คิดเป็นมากกว่า 2.5 เท่าของงบประมาณที่รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์รวมกันเสียอีก เป็นเพราะอินโดนีเซียมีเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ ดังนั้นการขนส่งทางทะเลจึงเป็นหัวใจของอินโดนีเซียในการพัฒนาประเทศ

ทางด้านตุรกีขณะนี้กำลังก่อสร้างสนามบินที่อาจจะเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในนคร Istanbul เมืองที่ใหญ่ที่สุดของตุรกี ซึ่งจะพอรองรับผู้โดยสารจากทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคนต่อปี และลานจอดเครื่องบินโดยสารไม่ต่ำกว่า 500 ลำ ตามมาด้วยการสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะทางกว่า 9,900 กิโลเมตร โดยเชื่อว่าเส้นทางรถไฟที่ยาวที่สุดในยุโรป และเป็นเส้นทางรถไฟที่ยาวที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน การสร้างศูนย์สุขภาพที่เรียกว่า Healthcare Campus มูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ในกรุงAnkara...เมืองหลวงของตุรกี

และทั้งหมดนี้ก็คือ ประเทศที่จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2030  หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้แนวความคิดไปใช้ในการลงทุนบ้างนะครับ แล้วพบกันใหม่นะครับ

หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่  www.doctorwe.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่