เมื่อทหาร..กำลังถูกท้าทาย

กระทู้สนทนา
ถ้าทหารไม่ทำรัฐประหาร ถ้าทหารไม่แทรกแซงการเมือง จะมีใครตั้งคำถามถึงขนาดกองทัพหรือไม่...?

กองทัพไทยใหญ่ไม่ใหญ่ มีอำนาจมากไม่มาก ต้องดูตารางเปรียบเทียบประเทศที่มีจำนวนทหารมากที่สุดในโลก

1.จีน 2,183,000 คน (คิดเป็น 0.15% ของจำนวนประชากร)
2.อินเดีย 1,395,100 คน (คิดเป็น 0.10% ของจำนวนประชากร)
3.สหรัฐฯ 1,347,300 คน (คิดเป็น 0.41% ของจำนวนประชากร)
4.เกาหลีเหนือ 1,190,000 คน (คิดเป็น 21.62% ของจำนวนประชากร)
5.รัสเซีย 831,000 คน (คิดเป็น 0.56% ของจำนวนประชากร)
6.ปากีสถาน 653,800 คน (คิดเป็น 0.32% ของจำนวนประชากร)
7.เกาหลีใต้ 630,000 คน (คิดเป็น 1.22% ของจำนวนประชากร)
8.อิหร่าน 523,000 คน (คิดเป็น 0.64% ของจำนวนประชากร)
9.เวียดนาม 482,000 คน (คิดเป็น 0.51% ของจำนวนประชากร)
10.อียิปต์ 438,500 คน (คิดเป็น 0.45% ของจำนวนประชากร)
11.เมียนม่า 406,000 คน (คิดเป็น 0.75% ของจำนวนประชากร)
12.อินโดฯ 395,500 คน (คิดเป็น 0.15% ของจำนวนประชากร)
13.ไทย 360,850 คน (คิดเป็น 0.54% ของจำนวนประชากร)

สำหรับจำนวนนายทหารที่มากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ จีน อินเดีย และสหรัฐฯ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล และมีจำนวนประชากรมากที่สุดของโลก

โดยเฉพาะจีน ซึ่งกำลังย่างก้าวขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจของโลกเดิม คือ สหรัฐฯ ซึ่งมีฉายานามว่าตำรวจโลก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพวกเขาถึงมีขนาดกองทัพที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ถ้าเปรียบเทียบนายทหารต่อจำนวนประชากร เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และเมียนม่า จะมีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งแต่ละประเทศนั้น มีสถานการณ์เฉพาะที่ไม่ปกติ

แล้วประเทศไทย มีขนาดกองทัพที่เหมาะสมดีแล้วหรือยัง..?

ประเทศที่มีขนาดการพัฒนาใกล้เคียงกับไทย โดยเฉพาะเมืองหลวง(ในอดีต) เช่น ใต้หวัน มีกำลังพล 215,000 นาย

ส่วนประเทศอื่น อาทิ ญี่ปุ่นมีกำลังพล 247,150 นาย ฝรั่งเศส 202,950 นาย เยอรมัน 176,800 นาย

ถ้าจะคิดแบบไม่มีกรอบ แต่อย่างน้อยก็ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ ภัยคุกคามและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศไทยอาจลดกำลังพลได้ 100,000 นาย ลดขนาดกองทัพลงเหลือประมาณ 250,000 คน

ซึ่งจำนวนคนที่ค่อยๆหายไป ต้องมีกระบวนการฝึกให้มีทักษะพิเศษและป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจบริการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันอาจหมายความว่า กองทัพต้องมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกำลังพลที่คงอยู่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่า คือ กำลังพลที่อยู่ในกองทัพ ควรเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่หรือไม่และอย่างไร



มีคำกล่าวโบราณว่า 'เลี้ยงทหาร 1000 วัน ใช้งานวันเดียว' แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว

ถ้าทหารมีไว้เฉพาะเพื่อสู้รบกับข้าศึกศัตรู บางทีผ่านไป 1500 วัน ยังไม่ได้ใช้งานอะไรเลย เพราะสงครามยุคใหม่ไม่ได้เดินทัพจับปืนเหมือนในอดีตอีกต่อไป

ที่ผ่านมาเราจึงเห็นภาพของทหารส่งกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนหลังจากประสบภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่การสู้รบกับภัยยาเสพติด ซึ่งนั่นอาจทำให้ภาพลักษณ์ของทหารดูดีขึ้นในสายตาของประชาชน

คิดไม่มีกรอบ จะบอกว่า กองทัพซึ่งมีพร้อมทั้งสรรพกำลัง งบประมาณ และระเบียบวินัยตามขั้นบังคับบัญชา ควรเสนอตัวเป็นทางหลัก ไม่ใช่ทางเลือก ในการรับมือกับภัยคุกคามที่จะสร้างความเสียหายมากที่สุดในอนาคต คือ ภัยธรรมชาติ

กำลังพลหลักหมื่นนายคงเพียงพอที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ วางแผน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มียุทธศาสตร์ในการฝึกซ้อมรับมือภัยธรรมชาติ การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย การฟื้นฟูภายหลังภัยสงบ การบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่การป้องกัน ก่อนที่ภัยพิบัติจะเกิดขึ้น ซึ่งไม่แตกต่างจากการซ้อมรบ เพื่อต่อสู่กับภัยคุกคามจากข้าศึกศัตรู ที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไรและรูปแบบใด

กองทัพ 200,000 คน จะยังจำเป็นต่อความมั่นคงทางการทหาร ส่วนที่เหลืออีก 50,000 คน อาจใช้สำหรับภารกิจใหม่ในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบอื่น

จากในอดีตที่ส่งทหารไปช่วยรบในศึกสงครามต่างแดน ต่อไปกองทัพของประเทศไทยจะพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีแล้ว ยังส่งเสริมในเรื่องของการเติมเต็มทางจิตใจให้ทั้งเจ้าหน้าที่แถวหน้า และประชาชนชาวไทยทุกคน

เงินภาษีจากประชาชนที่ถูกตั้งเป็นงบประมาณของกองทัพทุกปีจะถูกจัดสรรปันส่วนใหม่ อย่างมีนัยสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยไม่ถูกติฉินนินทาในวงสังคม

งบเรือดำน้ำ ปันไปซื้อเรือยาง
งบรถถัง ปันไปซื้อรถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก
งบกระสุน ปันไปซื้อของเครื่องใช้ อาหารแห้ง
งบซ้อมรบทางทหาร ปันไปซ้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ

ทั้งหมดนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติในอนาคต ซึ่งมีโอกาสจะเข้ามาคุกคามชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ด้วยความถี่ที่บ่อยขึ้นและความรุนแรงที่มากขึ้น

แน่นอนว่าอาวุธที่กองทัพมีอาจลดจำนวนลงบ้าง แต่เทคโนโลยีใหม่จะทำให้มันมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

แม้บางสถานการณ์ อาจหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธสู้รบกันไม่ได้ก็จริง แต่วิธีการป้องกันภัยคุกคามที่ดีที่สุด คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ
(คิดไม่มีกรอบ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่