กานดา นาคน้อย: นายพลว่างงาน
Sun, 2014-10-19
กานดา นาคน้อย
http://prachatai.org/journal/2014/10/56086
ฉันอ่านข่าวพบว่านายพล 2 คนแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับชายไทยคนหนึ่งด้วยข้อหาว่าเขา”หมิ่นพระนเรศวร”โดยอ้างอิงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือมาตรา 112 ข่าวนี้ทำให้ฉันสงสัยว่าทำไมนายพลไทยจึงมีเวลาว่างจนไปแจ้งความจับพลเมืองด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง? หรือว่าไทยมีนายพลมากเกินไปเลยทำให้นายพลว่างงาน? ลองค้นคว้าดูแล้วพบสถิติที่น่าอัศจรรย์มาก
ไทยมีนายพลมากกว่าสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันกองทัพไทยมีนายพลประมาณ 1,400 คน [1] ส่วนสหรัฐฯซึ่งเป็นมหาอำนาจทางการทหารมีฐานทัพหลายแห่งทั่วโลกกลับมีนายพลทุกเหล่าทัพรวมกันไม่ถึง 1,000 คน [2] เทียบแล้วสหรัฐฯมีจำนวนนายพลเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนนายพลไทย สหรัฐฯ มีกำลังพลประมาณ 3 เท่าของกำลังพลของกองทัพไทย เมื่อเปรียบเทียบด้วยจำนวนประชากรแล้ว สหรัฐฯมีประชากรประมาณ 5 เท่าของไทย ดังนั้นสัดส่วนกำลังพลของกองทัพไทยต่อประชากรจึงสูงกว่าสัดส่วนกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯเสียอีก ทำให้เกิดคำถามว่าตั้งแต่ไทยมีโรงเรียนนายร้อย จปร. ผลิตนายพลล้นหลามมา 127 ปีนี้กองทัพไทยทำสงครามรบชนะชาติใดบ้าง? กองทัพไทยวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตอาวุธอะไรบ้าง?
งบประมาณวิจัยและพัฒนาของไทยต่ำมาก
เมื่อดูงบประมาณวิจัยและพัฒนาของไทยแล้วพบว่ามีมูลค่าเพียง 2 หมื่นล้านบาทหรือ 0.8% ของงบประมาณประจำปี [3] ส่วนทีสหรัฐฯ งบประมาณวิจัยและพัฒนามีมูลค่าประมาณ 3.46 % ของงบประมาณประจำปี ประมาณครึ่งหนึ่งของงบวิจัยและพัฒนาเป็นงบวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ [4] แสดงว่าสัดส่วนงบวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศในงบประมาณประจำปีของสหรัฐฯเป็น 2 เท่าของสัดส่วนงบวิจัยและพัฒนาทุกๆ ด้านของไทย
เมื่อเทียบการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา (ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) กับนานาชาติแล้วพบว่าตัวเลขของไทยต่ำจนน่าใจหาย เมื่อวัดสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อผลผลิตประชาชาติ (จีดีพี) แล้วพบว่าของไทยอยู่ที่ 0.25% ของจีดีพี ตัวเลขนี้สำหรับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สูงกว่า 3% สำหรับสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ที่ 2% และ 1% ตามลำดับ [5]
ไทยมีศาสตราจารย์น้อยกว่านายพล
ในเมื่อทุนวิจัยของไทยต่ำมากก็ไม่น่าแปลกใจว่านักวิจัยไทยมีผลงานวิจัยน้อย จำนวนศาสตราจารย์ไทยก็น้อยกว่าจำนวนนายพล ไทยเสียอีก [6] ซึ่งแตกต่างจากจำนวนศาสตราจารย์ที่สหรัฐฯ จำนวนศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยประจำมลรัฐใหญ่ๆอย่างแคลิฟอร์เนียแค่มลรัฐเดียวก็มีจำนวนศาสตราจารย์มากกว่านายพลอเมริกันทุกเหล่าทัพรวมกัน มหาวิทยาลัยวิจัยเอกชนขนาดใหญ่อย่างสแตนฟอร์ดแห่งเดียวก็มีจำนวนศาสตราจารย์มากกว่านายพลอเมริกันแล้ว [7] ไม่ว่าจะวัดด้วยจำนวนประชากรหรือจำนวนแรงงานมีทักษะอย่างศาสตราจารย์ ชัดเจนว่านายพลอเมริกันมีพื้นที่ในตลาดแรงงานน้อยกว่านายพลไทยมากๆ นอกจากนี้สหรัฐฯก็ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไป 40 ปีแล้ว นายพลอเมริกันไม่ได้ใช้แรงงานฟรีจากการเกณฑ์ทหารแบบนายพลไทย
สวัสดิการนายพล
ฉันพยายามหาสถิติว่ากองทัพไทยใช้งบประมาณเพื่อการคมนาคมขนส่งให้นายพลปีละเท่าไร? งบจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่ง งบค่าน้ำมัน และงบค่าเดินทางไปต่างประเทศ รวมกันคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณกลาโหมซึ่งมีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท? งบรถยนต์ประจำตำแหน่งรวมทั้งงบค่าน้ำมันงบและงบค่าเดินทางไปต่างประเทศของนายพลไทยสูงกว่างบวิจัยและพัฒนาทุกๆด้านในไทยหรือไม่? แต่ฉันไม่สามารถหาสถิติได้
การปฏิรูปกองทัพ
ในเมื่อนายพลเสนอตัวปฎิรูปประเทศ นายพลก็ต้องปฎิรูปตัวเองด้วย อาทิ ปฏิรูปด้านความโปร่งใสของการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งปฎิรูปเพื่อลดจำนวนนายพลและลดกำลังพลให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร การเข้าร่วมประชาคมอาเซียนไม่ใช่การเข้าทำสงคราม แต่เป็นการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรบุคคล ถึงเวลาแล้วที่นายพลที่ว่างงานควรโดนปลดประจำการเพื่อคืนทรัพยากรให้ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นงบรถยนต์ประจำตำแหน่ง งบค่าน้ำมันฟรี งบตั๋วเครื่องบินฟรี ฯลฯ เพื่อให้งบประมาณโดนจัดสรรเพื่อการวิจัยและพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน
กานดา นาคน้อย: นายพลว่างงาน
Sun, 2014-10-19
กานดา นาคน้อย
http://prachatai.org/journal/2014/10/56086
ฉันอ่านข่าวพบว่านายพล 2 คนแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับชายไทยคนหนึ่งด้วยข้อหาว่าเขา”หมิ่นพระนเรศวร”โดยอ้างอิงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือมาตรา 112 ข่าวนี้ทำให้ฉันสงสัยว่าทำไมนายพลไทยจึงมีเวลาว่างจนไปแจ้งความจับพลเมืองด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง? หรือว่าไทยมีนายพลมากเกินไปเลยทำให้นายพลว่างงาน? ลองค้นคว้าดูแล้วพบสถิติที่น่าอัศจรรย์มาก
ไทยมีนายพลมากกว่าสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันกองทัพไทยมีนายพลประมาณ 1,400 คน [1] ส่วนสหรัฐฯซึ่งเป็นมหาอำนาจทางการทหารมีฐานทัพหลายแห่งทั่วโลกกลับมีนายพลทุกเหล่าทัพรวมกันไม่ถึง 1,000 คน [2] เทียบแล้วสหรัฐฯมีจำนวนนายพลเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนนายพลไทย สหรัฐฯ มีกำลังพลประมาณ 3 เท่าของกำลังพลของกองทัพไทย เมื่อเปรียบเทียบด้วยจำนวนประชากรแล้ว สหรัฐฯมีประชากรประมาณ 5 เท่าของไทย ดังนั้นสัดส่วนกำลังพลของกองทัพไทยต่อประชากรจึงสูงกว่าสัดส่วนกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯเสียอีก ทำให้เกิดคำถามว่าตั้งแต่ไทยมีโรงเรียนนายร้อย จปร. ผลิตนายพลล้นหลามมา 127 ปีนี้กองทัพไทยทำสงครามรบชนะชาติใดบ้าง? กองทัพไทยวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตอาวุธอะไรบ้าง?
งบประมาณวิจัยและพัฒนาของไทยต่ำมาก
เมื่อดูงบประมาณวิจัยและพัฒนาของไทยแล้วพบว่ามีมูลค่าเพียง 2 หมื่นล้านบาทหรือ 0.8% ของงบประมาณประจำปี [3] ส่วนทีสหรัฐฯ งบประมาณวิจัยและพัฒนามีมูลค่าประมาณ 3.46 % ของงบประมาณประจำปี ประมาณครึ่งหนึ่งของงบวิจัยและพัฒนาเป็นงบวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ [4] แสดงว่าสัดส่วนงบวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศในงบประมาณประจำปีของสหรัฐฯเป็น 2 เท่าของสัดส่วนงบวิจัยและพัฒนาทุกๆ ด้านของไทย
เมื่อเทียบการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา (ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) กับนานาชาติแล้วพบว่าตัวเลขของไทยต่ำจนน่าใจหาย เมื่อวัดสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อผลผลิตประชาชาติ (จีดีพี) แล้วพบว่าของไทยอยู่ที่ 0.25% ของจีดีพี ตัวเลขนี้สำหรับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สูงกว่า 3% สำหรับสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ที่ 2% และ 1% ตามลำดับ [5]
ไทยมีศาสตราจารย์น้อยกว่านายพล
ในเมื่อทุนวิจัยของไทยต่ำมากก็ไม่น่าแปลกใจว่านักวิจัยไทยมีผลงานวิจัยน้อย จำนวนศาสตราจารย์ไทยก็น้อยกว่าจำนวนนายพล ไทยเสียอีก [6] ซึ่งแตกต่างจากจำนวนศาสตราจารย์ที่สหรัฐฯ จำนวนศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยประจำมลรัฐใหญ่ๆอย่างแคลิฟอร์เนียแค่มลรัฐเดียวก็มีจำนวนศาสตราจารย์มากกว่านายพลอเมริกันทุกเหล่าทัพรวมกัน มหาวิทยาลัยวิจัยเอกชนขนาดใหญ่อย่างสแตนฟอร์ดแห่งเดียวก็มีจำนวนศาสตราจารย์มากกว่านายพลอเมริกันแล้ว [7] ไม่ว่าจะวัดด้วยจำนวนประชากรหรือจำนวนแรงงานมีทักษะอย่างศาสตราจารย์ ชัดเจนว่านายพลอเมริกันมีพื้นที่ในตลาดแรงงานน้อยกว่านายพลไทยมากๆ นอกจากนี้สหรัฐฯก็ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไป 40 ปีแล้ว นายพลอเมริกันไม่ได้ใช้แรงงานฟรีจากการเกณฑ์ทหารแบบนายพลไทย
สวัสดิการนายพล
ฉันพยายามหาสถิติว่ากองทัพไทยใช้งบประมาณเพื่อการคมนาคมขนส่งให้นายพลปีละเท่าไร? งบจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่ง งบค่าน้ำมัน และงบค่าเดินทางไปต่างประเทศ รวมกันคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณกลาโหมซึ่งมีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท? งบรถยนต์ประจำตำแหน่งรวมทั้งงบค่าน้ำมันงบและงบค่าเดินทางไปต่างประเทศของนายพลไทยสูงกว่างบวิจัยและพัฒนาทุกๆด้านในไทยหรือไม่? แต่ฉันไม่สามารถหาสถิติได้
การปฏิรูปกองทัพ
ในเมื่อนายพลเสนอตัวปฎิรูปประเทศ นายพลก็ต้องปฎิรูปตัวเองด้วย อาทิ ปฏิรูปด้านความโปร่งใสของการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งปฎิรูปเพื่อลดจำนวนนายพลและลดกำลังพลให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร การเข้าร่วมประชาคมอาเซียนไม่ใช่การเข้าทำสงคราม แต่เป็นการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรบุคคล ถึงเวลาแล้วที่นายพลที่ว่างงานควรโดนปลดประจำการเพื่อคืนทรัพยากรให้ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นงบรถยนต์ประจำตำแหน่ง งบค่าน้ำมันฟรี งบตั๋วเครื่องบินฟรี ฯลฯ เพื่อให้งบประมาณโดนจัดสรรเพื่อการวิจัยและพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน