กรณีของHakeem ประเทศไทยทำถูกแล้วหรือ?

Save Hakeem Ep.1
          เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพ จากข่าวสารที่เป็นประเด็นดังในช่วงวินาทีนี้ ดังกว่าเรื่องเลือกตั้ง คือ เรื่องที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงต่างประเทศ และผู้ประสานงานกลาง คือ สำนักงานอัยการสูงสุด ของประเทศไทย ผู้ที่มีเกียรติยศ และน่าเชื่อถือในวงการยุติธรรมในประเทศของเขา ได้ทำงานสนองภาษีของประชาชนเป็นอย่างดี โดยจะทำการส่งตัวนายฮาคีม อัล อาไรบี ไปยังประเทศบาร์เรน

          ฮาคีม เป็นนักฟุตบอลชาวบาเรนห์ ได้สิทธิเป็นผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรีเลีย โดยข้อเท็จจริงนั้น เริ่มมาจากการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศบาเรนห์ หรือที่เราจะรู้ว่า "อาหรับ สปริง" คือ เหตุการณ์โดมิโน ในประเทศกลุ่มอาหรับ โดยเริ่มจากประเทศตูนิเซียที่คนหนุ่มสาวเรียกร้องประชาธิปไตยนำไปสู่การโค่นล้มผู้นำที่ปกครองประเทศมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี และรุกลามมาประเทศอียิปต์ ลิเบีย จนมาถึงตะวันออกกลาง สำหรับในประเทศบาเรนห์นั้น ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านและเรียกร้องให้ประชาชนมีสิทธิเลือกรัฐบาลของตัวเอง เพราะศูนย์กลางทางการเมืองอยู่ที่กษัตริย์และราชวงศ์บาเรนห์ จนต่อมาเกิดการปราบปรามผู้ประท้วง และเกิดจราจลในประเทศบาเรนห์ (อ้างอิงจากบทความของ ดร.ทศพร มะหะหมัด 13 มกราคม ค.ศ.2014)

        ในกรณีของนายฮาคีม ถูกรัฐบาลบาเรนห์กล่าวหาว่าได้กระทำความผิดต่อกฎหมาย ใน ข้อหาดังนี้ 1.ลอบวางเพลิง 2.ชุมนุมโดยผิดกฎหมาย 3.ครอบครองวัตถุไวไฟ 4.ทำให้รถยนต์ของผู้อื่นได้รับความเสียหาย และนายฮาคีมถูกดำเนินคดี ในระหว่างที่มีการดำเนินคดีนายฮาคีม เขาก็ให้การต่อสู้ว่าเขาไม่ได้ทำ และไม่เคยประท้วง ในวันเกิดเหตุเขาเตะบอล แต่น้องชายเขาไปประท้วง และนายฮาคีมก็ประกันตัว แล้วหนีออกนอกประเทศ และได้ขอเป็นผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรเลีย เขาก็หากินโดยเป็นนักฟุตบอล และได้เดินทางมาฮันนิมูลที่ประเทศไทย และถูกจับกุม ตามข่าวที่ทุกคนทราบดี

         คราวนี้ผมขอพูดวิจารณ์เกี่ยวกับการจับกุมครั้งนี้ ประเทศไทย ไม่มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศบาเรนห์ แต่ตามพ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 2551 มาตรา 12 (3) ก็สามารถดำเนินการได้ตามช่องทางการทูต ภายใต้เงื่อนไขต่างตอบแทนที่ประเทศไทย ทำไว้กับบาเรนห์ ซึ่งผมไม่ทราบว่ารัฐบาลไทยไปตกลงอะไรกันไว้กับบาเรนห์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่เป็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีการเมือง ตามพ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 2551 มาตรา 9(1)
ซึ่งคดีทางการเมืองเป็นคดีที่เกิดขึ้นจากการกระทำเพื่อให้มีผลหรืออาจจะมีผลให้เปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น กบฏ ความผิดที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองต่างๆ ทั้งนี้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 19 ซึ่งบัญญัติว่า "ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดและไม่คำนึงถึงเขตแดน" ซึ่งคดีทางการเมืองนั้น มีทั้งแบบคดีทางการเมืองโดยตรง กับคดีทางการเมืองที่มีการกระทำความผิดทางอาญาปกติ แต่การกระทำความผิดทางอาญานั้นมีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หมายความถึง การกระทำความผิดอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อย่างกรณีการก่อจราจล เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือก่อจราจลเพื่อโค่นล้มรัฐบาล รวมทั้ง ก่อจราจลเพื่อให้มีผลทางการเมืองในลักษณะอื่นๆ เช่น กรณีของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มคนเสื้อแดง และ กปปส. ในส่วนนี้ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายจะวินิจฉัยยากว่าคดีแบบไหนเป็นคดีที่เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาที่มีมูลเหตุทางการเมือง ในการพิจารณาจำต้องศึกษาความรู้รอบตัวระหว่างประเทศ หรือศึกษาที่มาที่ไปของข้อกล่าวหา เพราะเวลาประเทศผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอมานั้น เขาจะไม่บอกว่ามูลเหตุเรื่องราวของคดีมาจากเรื่องไหน เป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศที่ต้องพิจารณาเอาเอง และเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดที่ต้องรู้ในเรื่องดังกล่าว
ส่วนกรณีที่จะจัดส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้นั้น คือ คดีความที่เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา ที่ทั้งสองประเทศบัญญัติไว้เป็นความผิด และการกระทำนั้นต้องไม่มีเหตุผลจูงใจทางการเมืองให้กระทำความผิด
            ในกรณีของนายฮาคิม ทางการบาร์เรนห์ได้ตั้งข้อกล่าวหาทั้ง 4 ข้อกล่าวหา ที่ผมได้บรรยายไว้ตอนต้น เราจะเห็นว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่เป็นการกระทำความผิดทางอาญาปกติ แต่มีข้อหาหนึ่งที่เป็นความผิดที่เป็นการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย เมื่อจับนายฮาคิม ตามหมายจับของตำรวจสากล ทางตำรวจสากลก็ต้องยกเลิกหมายจับ เนื่องจากฮาคิมเป็นผู้ลี้ภัย แต่ทางกระทรวงต่างประเทศก็ได้แถลงการณ์อย่างภาคภูมิใจว่า บาเรนห์ขอความร่วมมือให้จับกุม และขอมาในช่องทางการทูตตามหลักสากล (เอากับมัน) ซึ่งถ้าเราพิจารณาจากข้อกล่าวหา และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศบาเรนห์นะครับ ผมจะไม่บอกว่า ฮาคิมถูกหรือผิด เพราะเป็นเรื่องของศาลบาเรนห์ ไม่ใช่เรื่องของผม แต่เราต้องมาดูหลักกันก่อนว่า ประเทศไทยมีสิทธิส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือไม่?
           จากที่ผมได้บรรยายมาประกอบข้อเท็จจริง เราจะเห็นได้ว่า ข้อกล่าวหาทั้ง 4 ข้อกล่าวหา ที่รัฐบาลบาเรนห์ แจ้งมานั้น เป็นข้อกล่าวหาที่มีการกระทำความผิดทางอาญาปกติ แต่ทั้งนี้เป็นการกระทำความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจในการทางเมือง คือ จากเหตุการณ์อาหรับ สปริง ซึ่งตามหลักคือ คดีทางการเมือง เหตุการณ์อาหรับสปริง กระทรวงต่างประเทศน่าจะมีข้อมูลเชิงลึกดีกว่าผมด้วยซ้ำ เพราะช่วงนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์คาบเกี่ยวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ติดตามสถานการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด และเตือนคนไทยในประเทศกลุ่มแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลางเป็นระยะๆ

           ในประเด็นนี้ หากมีการจับตัวนายฮาคิมในประเทศไทย และทางการบาเรนห์ขอความร่วมมือให้กักตัวไว้ ทางกระทรวงต่างประเทศสามารถปฏิเสธการกักตัวและปล่อยตัวนายฮาคิมได้ทันที ด้วยเหตุผลว่า เป็นข้อกล่าวหาว่าเป็นข้อหาความผิดทางการเมือง และการจับกุมเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศออสเตรเลีย และส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว ที่ผมเขียนมามีการรองรับให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถทำได้ ตามพ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน มาตรา 13(2) แต่กระทรวงการต่างประเทศของเรา ก็ดำเนินการส่งต่อให้อัยการสูงสุดเพื่อส่งนายฮาคิม ไปยังประเทศบาเรนห์ ผมก็ไม่รู้เพราะว่าอะไร ไม่รู้ว่าเป็นคดีการเมือง หรือไม่รู้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเหตุการณ์อาหรับสปริงที่เกิดขึ้นในประเทศบาเรนห์ หรือไม่รู้อะไรเลย อันนี้ต้องประนามความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันนี้รู้แล้วก็ยังแถ อันนี้ต้องแก้ไข

            ในส่วนของผู้ประสานงานกลาง คือ อัยการสูงสุดนั้น โดยหลักเมื่อได้รับคำร้องจากกระทรวงต่างประเทศ จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ส่งตัวนายฮาคิม ไปยังประเทศบาเรนห์ตามหมายจับต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 2551 มาตรา 14(4) ก็ได้ให้อำนาจอัยการสูงสุดใช้ดุลยพินิจ ถ้าหากเห็นว่าคำร้องขอกระทรวงต่างประเทศเป็นคำร้องที่อาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือมีเหตุผลอื่นใดที่ไม่ควรดำเนินการได้ หรือเห็นว่าคำร้องขอนั้นไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะดำเนินการให้ได้ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้รายข้ามแดน 2551 ก็มีสิทธิแจ้งไปยังประเทศบาเรนห์ได้ หรือแจ้งไปยังกระทรวงต่างประเทศก็ได้ ก็ตามที่ผมได้บรรยายว่าคดีตามข้อกล่าวหาของนายฮาคิม เป็นคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง นั่นคือคดีการเมือง อัยการสูงสุดมีสิทธิที่จะเห็นต่างไม่ยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่อัยการสูงสุดกลับดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอส่งผู้ร้ายขามแดน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุผลอันใด ที่ยืนยันที่จะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เรียนกฎหมายมาคนละตัว หรือคนละโลก ทางอัยการจึงไม่มีความเห็นแย้งกลับไปยังกระทรวงต่างประเทศ

             แต่ในประเด็นการแก้ปัญหาในเรื่องนี้นั้น ทางอัยการสูงสุดจะยื่นโต้แย้งไปที่กระทรวงต่างประเทศว่าคดีนี้เป็นคดีการเมือง ก็ไม่ทันเพราะขั้นตอนไปยังศาลแล้ว มีทางเดียวกระทรวงต่างประเทศต้องส่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงต่อศาล ว่าคดีนี้เริ่มมาจากเหตุการณ์ไหน แล้วเห็นว่าเป็นคดีการเมืองหรือไม่ เพื่อให้ศาลยกคำร้องของอัยการ หรืออัยการสูงสุดถอนคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อศาลตอนนี้ก็น่าจะพอทำได้อยู่บ้าง ผมว่าพวกเรามาลองดูกัน ว่ารัฐบาล และอัยการสูงสุด จะแก้ไขปัญหาที่ตนเองได้ทำผิดพลาด และไม่เข้าใจกฎหมายครั้งนี้ได้อย่างไร

         ขอให้ทุกท่านที่อ่าน

          ขอแสดงความนับถือ
          นายวิฑูรย์ เก่งงาน
  กรรมการผู้จัดการบริษัท วิฑูรย์ เจนจิรา ทนายความ จำกัด

ผมได้เขียนบทความ ไว้ที่เพจ WJ LAW ยังไงก็ช่วยกดไลท์ กดแชร์ แล้วแจ้งให้ลงในเพจ Pantip ด้วยนะครับ ผมตั้งใจเขียนจริงๆ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=382572232307458&id=343132896251392&__tn__=K-R
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่