'ผงชูรส' สิ่งธรรมดาในอาหารหรือภัยร้ายใกล้ตัว

รส 'อูมามิ' (Umami) เป็นรสที่ 5 ที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้นอกจากรสชาติพื้นฐานทั้ง 4 (เปรี้ยว, หวาน, ขม และเค็ม) โดยได้จาก 'โมโนโซเดียมกลูตาเมต' (ผงชูรส)  


โมโนโซเดียมกลูตาเมตเป็นสารประกอบประเภทกลูตาเมตซึ่งเป็นเกลือของ กรดกลูตามิก (Glutamic acid) อันเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีนทั่วไป เช่น โปรตีนในเนื้อสัตว์ โปรตีนในนม และโปรตีนในพืช โดยกลูตาเมตจะจับอยู่กับกรดอะมิโนตัวอื่นๆ เกิดเป็นโครงสร้างของโปรตีน กลูตาเมตที่อยู่ในรูปของโปรตีนจะไม่มีกลิ่นรสและไม่มีคุณสมบัติทำให้เกิดรสอูมามิในอาหาร แต่เมื่อเกิดการย่อยสลายของโปรตีน เช่น เกิดกระบวนการหมัก การบ่ม การสุกงอมของผักและผลไม้ การทำให้สุกด้วยความร้อน จะทำให้กลูตาเมตในโปรตีนเกิดการสลายแยกตัวออกมาเป็นกลูตาเมตอิสระ ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดรสอูมามิในอาหาร ซึ่งเป็นไปตากระบวนการตามธรรมชาติ

ถึงแม้ผงชูรส จากงานวิจัยจะไม่มีผลระยะยาวต่อร่างกาย เพราะกลูตาเมตส่วนใหญ่ถูกเมตาบอลิสมภายในเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร กลูตาเมตส่วนเกินและถูกขับออกจากร่างกายโดยไม่มีทำให้เกิดการสะสมของกลูตาเมตในกระแสเลือด

แต่ก็มีคนที่มี อาการไวต่อผงชูรส

ในปี ค.ศ. 1968 มีรายงานในวารสาร New England Journal of Medicine บรรยายถึงกลุ่มอาการที่เกิดหลังจากรับประทานอาหารจีน 15-30 นาทีหรืออาจช้าถึง 2 ชั่วโมง แต่หายไปเองโดยไม่มีผลระยะยาวตามมา อาการเหล่านี้ได้แก่ "ชาตามต้นคอ แล้วค่อยๆลามมาที่แขนสองข้าง หลัง และมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น" ซึ่งภายหลังเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า กลุ่มอาการภัตตาคารจีน (Chinese Restaurant Syndrome; CRS)

รายงาน ANSFA: รายงานเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 พบว่ามีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชาการมีอาการผิดปกติหลังรับประทานอาหารที่มีผงชูรส บางรายงานกล่าวว่าคนที่มีอาการแพ้ผงชูรสนั้นมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

งานวิจัยของไทย: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2526) (ภก.ศ.(พิเศษ)ดร.ภักดี โพธิศิริ, ยุพิน ลาวัณย์ประเสริฐ, ศ.นพ.วิชัย ตันไพจิตร และ ผศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต) รายงานในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดการตอบรับต่อกลุ่มอาการ “ภัตตาคารจีน” กับการบริโภคโมโซเดียมกลูตาเมต พบว่าในกลุ่มตัวอย่างคนไทยมีไม่ถึง 1% มีเกิดอาการดังกล่าว หลังจากรับประทานอาหารที่มีผงชูรส
จากอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางวิชาการใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการบริโภคผงชูรสในอาหารจะมีผลต่อทางชีวเคมี หรือทางจุลกายวิภาค เช่นการเกิดกลุ่มอาการภัตตาคารจีน อย่างไรก็ตามการรับประทานผงชูรสในจำนวนที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดการทนต่อสารอาหารไม่ได้ (food intolerance) ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด จึงแตกต่างจากการแพ้ (allergy) แม้ว่าจะมีอาการคล้ายคลึงกัน และมักเกิดจากหลายสาเหตุซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดมาได้อย่างไร

โดยการประเมินของ JECFA (คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร และ องค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ) (พ.ศ. 2530): ในการทดลองที่วางแผนอย่างดีและการใช้เทคนิด controlled double-blind crossover พบว่าไม่มีความสัมพันธุ์ระหว่างกลุ่มอาการภัตตาคารจีนและการบริโภคผงชูรสแม้ในผู้ที่เข้าร่วมการทดลองซึ่งอ้างว่าตนเคยมีอาการดังกล่าว ส่วนรายการจากการสำรวจ ที่พบว่ามีอาการเหล่านั้น เกิดจากการออกแบบการทดลองและใช้แบบสอบถามที่ไม่เหมาะสม

และรายงาน FASEB (พ.ศ. 2538): รายงานของ FASEB (Federation of American Societies for Experimental Biology) ต่อสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ยืนยันว่าการบริโภคผงชูรส ในปริมาณที่เหมาะสมนั้นทำได้โดยปลอดภัยและยังไม่พบอาการระยะยาวที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตามรายงานนี้กล่าวว่า อาการระยะสั้น ที่เรียกกันว่า MSG Symptom Complex นั้นอาจเกิดในคนสองกลุ่ม กลุ่มที่ 1 เกิดกับกลุ่มคนที่มีปฏิกิริยาหลังจากทานผงชูรสในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทานอาหารที่มีผงชูรสในขณะที่ท้องว่าง โดยปริมาณมากนี้ กำหนดไว้ที่ 3 กรัมขึ้นไปต่อมื้อ และอีกกลุ่มที่มีอาการที่เกิดจากผงชูรสคือคนที่มีโรคหอบหืดประจำตัวรุนแรง อาการ MSG Symptom Complex ที่ชี้แจงโดยการศึกษานี้รวมไปถึงอาการ ชา แสบร้อน ผิวตึง ปวดแน่นหน้าอก ปวดหัว คลื่นใส้ หัวใจเต้นเร็ว ง่วงซึม และอ่อนแรง ในกรณีคนเป็นโรคหอบหืดอาจจะมีอาการหายใจลำบากด้วย [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

บางข้อมูล [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ ก็ยังให้ผลไม่ตรงกัน

ปัจจุบัน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ระเบียบของ FDA ระบุว่า เมื่อมีการเติมผงชูรสลงในอาหาร จะต้องมีการระบุชื่อ "ผงชูรส" ไว้ชัดเจนในรายการส่วนประกอบอาหาร แต่มีข้อวิจารณ์กันอย่างแพร่หลายว่า FDA ไม่ได้บังคับให้อุตสาหกรรมอาหารของอเมริกาแจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างชัดเจนถึงการใช้กรดกลูตามิคอิสระอันได้จากขบวนการผลิตอุตสาหกรรม (Processed Free Glutamic Acid) ซึ่งคำว่า ผงชูรส หรือ Monosodium Glutamate (MSG) เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของกลูตามิคอิสระเหล่านี้เท่านั้น ตัวอย่างกรดกลูตามิคอิสระอันได้จากขบวนการผลิตอุตสาหกรรมที่มีคุณลักษณะเหมือนผงชูรส ได้แก่ "Autolyzed yeast" "calcium caseinate" "yeast food" "yeast extract" และ "hydrolyzed soy protein" ที่เมื่อนำไปใส่บนฉลากอาหารแล้ว ผู้บริโภคอาจโดนชักนำให้เข้าใจผิดว่าอาหารชนิดนั้นๆไม่ได้ใส่ "ผงชูรส"

ในประเทศแคนาดา กฎหมายฉลากอาหาร ค.ศ. 1954 กำหนดให้ผงชูรส เป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ต้องระบุไว้บนฉลาก และในทำนองเดียวกัน มาตรฐาน 1.2.4 ของประเทศ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กำหนดว่า ผงชูรสในอาหารต้องได้รับการปิดฉลากอย่างเหมาะสม ได้แก่ "class name" คือ flavour enhancer "name of the food additive" คือ MSG หรือใช้เลขทะเบียนสากล (International Numbering System) คือ 621

สำหรับประเทศไทย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 95 พ.ศ. 2528 กำหนดว่า หากมีการใช้ผงชูรสในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป จะต้องระบุในฉลากด้วยว่า ใช้วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร โมโนโซเดียม กลูตาเมท เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค

ส่วนตัวเป็นคนหนึ่งที่ไวกับอาหารที่ใส่ 'ผงชูรส' ในอาหาร ในญี่ปุ่นเองก็มีข้อกำหนดคล้ายบ้านเรา ขออยู่แบบไม่ 'อูมามิ' แต่กินแล้วสบายใจดีกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่