[CR] IELTS 101 รีวิวสอบไอเอล

ไอเอลเป็นข้อสอบที่ค่อนข้างเฉพาะ ส่วนมากจะเป็น requirement ของคนที่ต้องการจะเรียนต่อ ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ โดยโพสนี้เราจะมาเล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์การสอบของเรา

จริงๆมันควรจะเป็นเรื่อง "มีเวลาสามเดือน แล้วหาเรื่องไปสอบไอเอล" มากกว่า คือเราสองคนตัดสินใจพักจากงานประจำ และใช้เวลาตรงนี้เตรียมตัวสอบกัน พูดถึงแบคกราวคร่าวๆของเราก่อน คือเราทั้งคู่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษในระดับนึง ฟังพูดอ่านเขียนได้ทั่วไป แต่ไม่ใช่ในเชิง academic คนนึงเคยสอบเมื่อสองปีที่แล้ว (คะแนนไม่ค่อยดีแถมหมดอายุเลยต้องสอบใหม่) ส่วนอีกคนไม่เคยสอบเลย

.

เราทั้งคู่เริ่มจากลงคอร์สเรียนไอเอลของสถาบันภาษาที่จุฬาฯเพื่อปรับความเข้าใจและปูพื้นเกี่ยวกับข้อสอบประเภทนี้ ก่อนที่จะวางแผนการฝึกทำข้อสอบด้วยตัวเองต่อไป

วันนี้เราจะมาเล่าเรื่องการปูพื้นเกี่ยวกับข้อสอบให้ฟังก่อน แล้วเดี๋ยวครั้งหน้าจะเล่าแผนการฝึกทำข้อสอบแบบ 3 เดือนรวดให้ฟัง

📚 ทำไมถึงต้องเรียนที่จุฬาฯ?

อย่างแรกเลย คือราคารับได้ อยู่ที่ 8,000 บาท/ 60 ชั่วโมง แต่ต้องทำใจนะว่าเรียนเป็นคอร์สใหญ่ ไม่เหมือนสถาบันเอกชนอื่นๆ ซึ่งราคาก็จะแรงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว อย่างที่สองคือเดินทางสะดวก ได้ทั้ง MRT และ BTS

📚 ข้อควรรู้

คือมันเป็นคอร์สปูพื้นจริงๆ อธิบายว่าข้อสอบประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แล้วเราต้องฝึกสกิลอะไรบ้างเพื่อที่จะทำข้อสอบเหล่านั้น ถ้าพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่แน่น อาจจะรู้สึกว่าไม่ได้อะไรเลยจากการเรียนแบบนี้ 😣

ข้อสำคัญอีกอย่างคือ เพื่อนร่วมคลาส (ซึ่งต้องอาศัยดวง) เพื่อนร่วมคลาสดี มีชัยไปกว่าครึ่ง เพื่อนจะทำให้เรามีความรู้เพิ่มเติมในสาขาที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งเป็นข้อดีมากๆสำหรับพาร์ท speaking & writing

เอาล่ะ เรามาเจาะลึกหลักการสอบไอเอลกันดีกว่า ว่าแต่ละสกิลและแต่ละพาร์ทมีอะไรยังไงบ้าง

.

📚 Listening

หลักๆจะมีทั้งหมด 40 ข้อ 4 พาร์ท พาร์ทละ 10 ข้อ (ทุกข้อคะแนนเท่ากัน) โดยที่พาร์ท 1 - 3 จะมีช่วงที่เทปหยุด พอมีให้เวลาเราอ่านคำถามข้อถัดไปได้ แต่ในพาร์ทสุดท้ายเทปจะพูดยาวต่อเนื่องจนจบเลย

พาร์ท 1.
เป็นบทสนทนาทั่วๆไป เป็นบทพูด 2 คน มักจะเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์ เช่น โทรจองโรงแรม โทรถามข้อมูลทั่วๆไป เน้นการจับข้อมูลหรือข้อความที่สำคัญ เช่น เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ ชื่อ

พาร์ท 2.
บทพูดทั่วๆไป (ผู้พูด 1 คน) เนื้อหามีความหลากหลาย แต่จะเป็นเรื่องทั่วไป ไม่ academic เช่น บรรยายสถานที่เผิดใหม่ในเมือง

พาร์ท 3.
เป็นบทสนทนาที่ academic ส่วนมากจะเป็นบทพูด 2-3 คน เช่น คุยกันเรื่องงานกลุ่ม การบ้าน คุยกับอาจารย์เรื่องโปรเจค

พาร์ท 4.
เป็นบทพูด academic (ผู้พูด 1 คน พูดต่อเนื่อง 10 ข้อ ไม่มีพัก) ส่วนมากจะเป็น lecture ในห้องเรียน

ในส่วนของ Listening จะมีเวลาในการทำข้อสอบ 30 นาที (บวกเพิ่มอีก 10 นาทีเป็นเวลาสำหรับตรวจเช็คและคัดลอกคำตอบลงในกระดาษคำตอบ)

พูดกันตามตรงคือข้อสอบจะเรียงจากยากไปง่าย และด้วยความที่คะแนนเท่ากันทุกข้อ ขอแนะนำให้เก็บคะแนนพาร์ทแรกๆให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถึงแม้ว่าข้อสอบจะบอกว่าตัวเองเป็น Listening แต่ไม่ได้วัดแค่สกิลการฟังเท่านั้น ข้อสอบมีทั้งแบบตัวเลือกและเติมคำ (แต่ทั้งหมดจะต้องเขียนลงบนกระดาษคำตอบ ไม่มีการฝนวงกลม หรือกากบาท) ซึ่งในส่วนนี้ การสะกดสำคัญมากๆ บางคำเราคุ้นเคยกับมันมากๆ แต่พอถึงเวลาเขียน กลับนึกไม่ออกว่าต้องเขียนยังไง นอกจากนี้ยังต้องฝึกสกิลการอ่านด้วย คือก่อนจะเริ่มทำข้อสอบ เราจะต้องอ่านคำถามอย่างละเอียดในเวลาที่จำกัด เพื่อที่จะฟัง จับใจความ และนำคำตอบมาใส่ให้ถูกต้อง

.

📚 Reading

มีทั้งหมด 3 บทความ 40 ข้อ บทความละประมาณ 13-14 ข้อ (ทุกข้อคะแนนเท่ากัน) เท่าที่เราหาข้อมูลมา เค้าบอกว่าข้อสอบเรียงตามลำดับความยากง่าย คือบทความแรกจะง่ายที่สุด ไล่ไปถึงยากที่สุดในบทความสุดท้าย แต่จริงๆความยากง่ายในการอ่านทำความเข้าใจของบทความมันไม่ต่างกันมาก ที่ยากมันคือโจทย์ที่จะถามเราต่างหาก โดยที่บทความแรกๆคำถามก็จะถามข้อเท็จ-จริง ตรงไป ตรงมา แต่บทความหลังๆนั้นจะถามถึงอารมณ์และความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งแค่อ่านเข้าใจก็อาจจะตอบไม่ได้ ต้องมีการคิดวิเคราะห์ด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพาร์ทนี้คือการแบ่งเวลา เรามีเวลาทั้งหมด 60 นาทีสำหรับ 3 บทความ แบ่งง่ายๆคือบทความละ 20 นาที ซึ่งคำแนะนำของเราคือ ไม่ควรใช้เวลาเกิน 20 นาที โดยเฉพาะบทความแรก เพราะมันจะทำให้เรากดดันกับบทความที่เหลือ

สกิลที่ต้องใช้เลยสำหรับพาร์ทนี้คือ skim&scan อันนี้เราว่าอาจจะต้องดูเทคนิคส่วนตัวด้วย ว่าจะเริ่มแบบไหน (เดี๋ยวเราลงลึกเทคนิคส่วนตัวเราอีกโพสนึงนะ) แล้วพาร์ทนี้ เราก็ต้องพึ่งพาการเขียน - spelling อีกแล้ว หน้าตากระดาษคำตอบจะเหมือนกับของ listening เลย ต้องระวังอย่าเขียนคำตอบสลับกันนะ

เนื้อหาของบทความมีความหลากหลายมาก ไม่สามารถจับได้ว่าจะเจอกับอะไร มีทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ปรัชญา หรือบางครั้งก็อะไรไม่รู้อ่านไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งจริงๆต้องทำใจนะ ว่าอาจจะได้บทความที่เราไม่สนใจหรือไม่มีความรู้ แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้อ่านเพื่อความรู้ เราอ่านเพื่อทำข้อสอบ ฉะนั้นอย่าแพนิค

.

📚 Writing

มีทั้งหมด 2 พาร์ท หรือ 2 ข้อนั่นแหละ ให้เวลาทั้งหมด 60 นาที เอาไปแบ่งใช้กันตามความเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะแนะนำให้แบ่ง 20:40 ซึ่งเราเห็นด้วยนะ แต่เราก็พยายามให้มันเป็น 15:45 เพราะเราใช้เวลาคิดคำตอบพาร์ท 2 นานหน่อยกว่าจะเริ่มเขียน รวมถึงน้ำหนักการให้คะแนนจะเน้นไปที่ พาร์ท 2 ซะมากกว่าด้วย (พาร์ท 1 มีคะแนน 1/3 ของคะแนนเต็ม ในขณะที่พาร์ท 2 มีอัตราส่วนเท่ากับ 2/3)

พาร์ท 1.
เป็นการอธิบายข้อมูลที่โจทย์ให้มา ไม่ว่าจะเป็นกราฟเส้น กราฟแท่ง กราฟวงกลม แผนพัง แผนที่ หรือ โฟลวชาร์ต ซึ่งที่ว่ามานี้คือแล้วแต่ดวงเราล้วนๆว่าจะได้โจทย์ไหน ฝึกไปให้ครบทุกอย่าง ถึงเวลาจริงก็ไปลุ้นกันว่าจะเจอโจทย์ไหน ข้อนี้กำหนดว่าจะต้องเขียนอย่างต่ำ 150 คำ

พาร์ท 2.
เป็นการเขียนเรียงความ ซึ่งมีทั้งการให้แสดงความคิดเห็น การหาวิธีแก้ปัญหา (ส่วนใหญ่เป็นปัญหาสังคมกว้างๆ) การโต้แย้งในประเด็นต่างๆ ในพาร์ทนี้ต้องเขียนไม่ต่ำกว่า 250 คำ โดยต้องประกอบไปด้วย 3 พารากราฟหลักๆ คือ Introduction, body, และ Conclusion

เป็นสกิลที่เราคิดว่ายากที่สุดในบรรดาทั้ง 4 สกิล เพราะมีเวลาจำกัดและต้องงัดความรู้ความสามารถทุกอย่างที่มีออกมาใช้ให้มากที่สุด ต้องลับคมความคิดและฝึกฝนการเขียนเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และเป็นอีกหนึ่งสกิลที่ต้องบริหารจัดการเวลาให้ดี

.

📚 Speaking

แบ่งหลักๆเป็น 3 พาร์ท

พาร์ท 1.
เป็นการพูดคุยทั่วไป เช่น การเดินทางไปทำงาน บริเวณที่อยู่อาศัย งานอดิเรก

พาร์ท 2.
เป็นการพูดแบบ non-stop 1.30-2 นาที โดยเราจะมีเวลา 1 นาทีหลังจากเห็นโจทย์ในการเรียบเรียงและจดโน้ตเรื่องที่จะพูด ส่วนใหญ่จะเป็นหัวข้อกว้างๆที่ให้เราแสดงความคิดเห็น เช่น สถานที่ที่อยากไป กีฬาที่ชอบ อาหารที่ชอบ หรือ ประสบการณ์ที่เราเคยพบเจอมา โดยที่โจทย์จะมีคำถามย่อยให้ 2-3 ข้อที่เกี่ยวกับหัวข้อนั้น ซึ่งเราจำเป็นที่จะตอบคำถามนั้นให้หมดโดยที่ให้เรื่องราวมันเชื่อมโยงกัน คำถามย่อยๆก็จะเป็นประมาณ what where when who why how ระหว่างที่พูด เราจะมีโอกาสดูโจทย์ ดูโน้ตของเรา แต่ก็ไม่ควรดูตลอดเนอะ เหมือนให้เป็นการพูด - เล่าให้กรรมการฟัง หลักจากพูดจบ กรรมการอาจจะมีคำถาม follow up ได้

พาร์ท 3.
เป็นการตอบคำถามที่ซับซ้อนขึ้น คล้ายๆข้อสองของ Writing คือแสดงความคิดเห็นกับปัญหา หรือประเด็นสังคม ที่มักจะเชื่อมโยงกับโจทย์ในพาร์ทที่ 2 เช่น สมมุติว่าเราได้เรื่องสถานที่ที่อยากไปในโจทย์พาร์ทที่ 2 คำถามในพาร์ทที่ 3 ก็อาจจะเกี่ยวกับวัฒนธรรมการท่องเที่ยวของคนในประเทศเรา เป็นต้น คำถามในพาร์ทที่สามจะมีประมาณ 4-6 ข้อ

.

ว่าด้วยเรื่องของประเภท IELTS มีแบบ General Training หรือเพื่อการฝึกอบรม กับแบบ Academic คือเพื่อศึกษาต่อ ซึ่งเราสอบแบบ Academic และราคาอัพเดทล่าสุดก็จะมีตามนี้เลย

📚 IELTS on computer 7,500 THB
📚 IELTS regular 6,900 THB (เราสอบแบบนี้ ตอนแรกคิดว่าถ้าคะแนนออกมาไม่ดี จะไปลองสอบแบบ computer แต่คิดว่าคงไม่ต้องเสียตังค์ 7,500 แล้วล่ะ)
📚 IELTS UKVI 8,800 THB
📚 IELTS life skills 6,600 THB

.

เดี๋ยวครั้งหน้าจะมาเล่าเรื่องวิธีการเตรียมตัวและแผนการฝึกของเราตลอด 3 เดือน รวมถึงจะมาเล่าประสบการณ์วันสอบจริง ว่าเราเจอกับอะไรบ้าง แล้วเราจัดการกับมันยังไง ระหว่างนี้ใครมีคำถามข้อสงสัย อยากปรึกษา อยากได้กำลังใจ หรืออะไรก็ตาม ทักทายมาคุยกันได้

เราเชื่อว่าภาษาเป็นสกิลที่ต้องฝึกฝน คนเราพัฒนากันได้ เก่งขึ้นได้จากการฝึกบ่อยๆ ก่อนสอบครั้งนี้ เรายังไม่แน่ใจในผลของการฝึกฝน แต่ตอนนี้เรากล้าพูดได้เต็มปาก ว่า practice makes perfect จริงๆ

ฝากติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเพจ https://www.facebook.com/hareung/
สำหรับเรื่องราวเทคนิคการฝึกฝนด้วยตัวเอง และรีวิววันสอบของ IDP จะทยอยมาลงให้นะ ใครมีคำถามสงสัย อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม ปรึกษาขอกำลังใจ ทักทายเข้ามากันในเพจได้เลยจ้า
ชื่อสินค้า:   IELTS
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่