อาญาสี่ในเรื่องซิ่นลายหงส์ (3)

ขื่อบ้านขางเมืองในอาณาจักรล้านช้าง
นครเวียงจันทน์
ตำแหน่งปกครองและกรมการเมืองของราชอาณาจักรเวียงจันทน์ในสมัยพระเจ้าสุริยวงศามหาธรรมิกราช ซึ่งปรากฏในพระธรรมศาสตร์แบ่งออกเป็น ๑๔ ฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายแผ่นดิน (พระบรมวงศานุวงศ์) มี ๓ พระองค์ คือ เจ้าอุปฮาต เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร
เสนาฝ่ายขวา มี ๑๐ พระยา คือ เมืองแสน เมืองขวา (เมืองของ) เมืองฮาม (เมืองรามหรือเมืองลาม) เชียงเหนือ เชียงสา พันนา สองเมือง นาเหนือ หมื่นหน้า น้ำฮุ่ง (น้ำรุ่งหรือนามฮุง)
่เสนาฝ่ายกลาง มี ๗ พระยา คือ เมืองกาง (เมืองกลาง) พระชุม (พระขุน) พระโยธา ชานนท์ (ซานนท์) สีพัทนาม (ศรีพัทธนาม) สีสมุด (ศรีสมุทร) สีสุนน (สีสุนนท์)
เสนาฝ่ายซ้าย มี ๑๐ พระยา คือ เมืองจัน (เมืองจันทน์) เมืองซ้าย เชียงใต้ เมืองปาก สาขา (สักขา) เมืองคุก พันหลวง อี่ไล (อิไลหรืออีไล) นาใต้ เมืองแพน
พวกทหาร มี ๖ พระยา คือ สุโพ คำมูน (คำมูล) เวียงแก เวียงคำ อุปราชา (อุปฮาซา) หมื่นเสมอใจ (หมื่นเสนอใจ)
พราหมณ์พวกมะโรงสั่งสอนอรรถธรรม มี ๑๐ พระยา คือ ซามนตรี (ซามุนตรีหรือชามุนติ) ซาโนชิต (ชาโนชิต) ซามะฮด (ซามกดหรือชามาตุ) ซาเนด (ซาเนตรหรือชาเนตร) ซาทิพรต (ซาทิพฮดหรือชาทิพรส) ซากำนัน (ชากำนัน) มหาโนชิด (มหาโนซิตหรือมหาโบชิต) ราชวัด (ราชวัตรหรือราชวัธ) อุดทามนตรี (อุทธามนตรีหรืออุทธามุนติ) แสนไชยพงยด (แสนไชพงยศหรือแสนไชยพงศ์ยศ)
หัวหน้าพวกคัพพชุม (พวกเสพ) มี ๓ พระยา คือ พระละคร (พระลครหรือพระละคอน) พลเสพขวา (พลเศิกขวาหรือพลเสิกขวา) พลเสพซ้าย (พลเศิกซ้ายหรือพลเสิกซ้าย)
หัวหน้าพวกมหาดเล็ก มี ๒ พระยา คือ นักพูมิ (นักภูมิ) คำชุมพู (คำซุมพู)
หัวหน้าพวกรักษาผักตู (รักษาประตู) มี ๔ พระยา คือ ซาบรรทม ซามะราช (ซามะรัตหรือซามะฮาช) คำเพียงตา ราชอาสน์
หัวหน้าพวกจำหนวด มี ๔ พระยา คือ พลเดชา (พลเตชา) ซาภักดี ซาหลาบคำ (ซาหลานคำ) วงพุทอน (วงศ์ภูธร)
หัวหน้าฝ่ายรักษากลองหลวง มี ๔ พระยา คือ นักพุชวง (นักพุทธวงศ์) มหาโคตร หมื่นวงศ์ไชยา (หมื่นวงไชยา) อัคฮาด (อัครฮาช)
หัวหน้านายเวรรับแขกเมือง มี ๔ พระยา คือ สีสุทัม (ศรีสุธรรม) แขกขวา แขกซ้าย ซาบูรม (ซาบุฮม)
หัวหน้าฝ่ายคลังหลวง มี ๕ พระยา คือ ราชโกด (ราชโกฐหรือราชโคตร) สีหคลัง (สีหะคังหรือสีหาคลัง) สีสุธอ (สีสุธรรม) แสนจัน แสนยศ
เพียอ่านหนังสือถวาย มี ๔ นาย คือ แปวคุง (แปวดุงหรือแปวคุงคา) ซาพิรม (ซาภิรมย์) แก้วลมออน ลมเถลย
ศักดินาของนครเวียงจันทน์
อัครมหาเสนาบดี ๒ พระยา คือ เมืองแสน เมืองจันทน์ ขันค่าคอ ๑๖๐๐
เสนาบดีจตุสดมภ์ ๔ พระยา คือ เมืองขวา เมืองซ้าย เชียงเหนือ เชียงใต้ ขันค่าคอ ๑๔๐๐
เสนาบดีอัตถสดมภ์ ๘ พระยา คือ เมืองกลาง สุโพ คำมูล เวียงแก เวียงคำ เมืองราม เมืองปาก พระซุม ขันค่าคอ ๑๒๐๐
เสนาบดีชั้นรอง ๒๒ พระยา คือ น้ำรุ่ง เชียงสา พันนา สองเมือง นาเหนือ หมื่นหน้า สาขา เมืองคุก พันหนอง นักพุทวงศ์ อีไล นาใต้ เมืองแพน พโยธา อุปราชา หมื่นเสนอใจ พระละคอน พลเสิกขวา พลเสิกซ้าย มหาโคตร หมื่นวงศ์ไชยา อัคราช ขันค่าคอ ๘๐๐
หัวหน้าพวกมะโรง ๑๐ เพีย ขันค่าคอ ๖๐๐
เจ้าเสนา ๗ เพีย ขันค่าคอ ๖๐๐
นายเวร ๔ เพีย ขันค่าคอ ๖๐๐
จำหนวด ๔ เพีย ขันค่าคอ ๖๐๐
มหาดเล็ก ๒ เพีย ขันค่าคอ ๖๐๐
นายคลัง ๕ เพีย ขันค่าคอ ๖๐๐
นายอ่านหนังสือถวาย ๔ เพีย ขันค่าคอ ๕๐๐
นครจำปาศักดิ์
ในตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ ได้มีการกล่าวถึงบรรดาศักดิ์ลาวโบราณของราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลการจัดระเบียบการปกครองมาจากรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศามหาธรรมิกราชแห่งนนครเวียงจันทน์ ดังความปรากฏไว้ว่า

...พระครูโพนเสม็ด ก็อัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์เข้าสรงมุรธาสนานราชาภิเษกเสร็จแล้ว สมณพราหมณาจารย์ท้าวพระยาทั้งปวงถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรเป็นเจ้าเอกราชครองราชสมบัติตามโบราณราชประเพณีกษัตริย์ในมาลาประเทศ แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงให้ทำระเนียดเสาไม้แก่นสร้างเมืองขึ้นที่ตำบลริมฝั่งศรีสุมังแล้ว เปลี่ยนนามเมืองใหม่ให้เรียกว่านครจำปาบาศักดิ์นาคบุรีศรี และนางแพงบุตรนางเภานั้น เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็รับเข้าไปไว้ในวังเลี้ยงดูทำนุบำรุงเคารพเป็นอันดี แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็จัดแจงราชการบ้านเมืองตั้งเจ้านายและแสนท้าวพระยา พระยาเมืองแสนเป็นเสนาบดีฝ่ายขวา พระยาเมืองขวาปลัด พระยาเชียงเหนือ พระยาเมืองฮาม นามฮุงศรี สองเมืองสมุหบัญชี สุวอกรมหนึ่ง พระยาเมืองจันเป็นเสนาบดีฝ่ายซ้าย พระยาเมืองซ้ายปลัด พระยาเชียงใต้ ศักขา เมืองปาก หมื่นวิสัยสมุหบัญชี พันหนองกรมหนึ่ง พระยาเสระโยธากรมนครบาล พระยาคำมูลปลัด พระยาเวียงคำ เมืองคุก กรมเมืองสมุหบัญชี พระโยหะ อินทกุมพัน ขันธฤๅไชย หารเพ็ชรลัก ไชยบาลกรมหนึ่ง พระยาวิไชยมนเทียรกรมวัง พระยาพะชุมปลัด พุทธวงษ์ พลลักขวา อัคชา มหาวงษ์ หมื่นวงษ์ไชยกรมหนึ่ง พระยารามโฆษาพระคลัง ราชโกฏิ สิหาคลัง แสนยศ ศรีสุทธสมุหบัญชีกรมหนึ่ง กรมนาพระยาจิตตะเสนา พระยาหมื่นเยียปลัด พันนา พระทิพสาลี ทิพมุนตรีกรมหนึ่ง กรมสัสดีพระยาเมืองกลาง พระยาโยธา ราชานน พัฒมาน ศรีสุนนท สุขนันทา แสนจัน ศรีสมุดกรมหนึ่ง นายเวรสาลาพันโนฤทธิ พันโนลาษ ศรีสุธรรม ชาบูฮมกรมหนึ่ง พนักงานรับแขก แขกขวา แขกซ้ายกรมหนึ่ง กรมไพร่หลวง พระละครมหาโฆษ พลลักซ้าย นามราชา หมื่นเสมอใจ กางสงคราม ศรีทิพเนตรกรมหนึ่ง ผู้จำหน่ายของหลวงศรีสมบัติ หอมสมบัติ เพี้ยจ่าย จันทพานิช ยศสมบัติกรมหนึ่ง กรมช่างทองสุวรรณจักคำ สุวรรณวิจิตร สุวรรณปัญญา หลวงสุวรรณ กรมหนึ่ง หกเหล่าพระยาสุโพ พระยาพลเชียงสา เวียงแก อุปราชา เมืองซอง มหาสงครามกรมหนึ่ง สี่ท้าวช้าง นาใต้นาเหนือ หมื่นนาเมืองแพน กรมหนึ่ง กรมแสงสินระแสง พรมเทพ พันลูกท้าวกรมหนึ่ง ช่างเหล็กแสนนามเกียน แสนแก้ว หมื่นอาวุธ พนทะนีกรมหนึ่ง นายมหาดเล็กนักภูมินทร คำชุมภู ขันขวา ขันซ้ายกรมหนึ่ง นายเวรมหาดเล็กคำพีทูล แก้วพิทูล แก้วมาลา แก้วกินรี ลาดปาอิน อินทสริยา กวอินตา อินทวีไชย แก้วดวงดี นามลคร พทักภูบาล สีหาจักรกรมหนึ่ง ตำรวจพลเดชซาภักดี ซาหลาบคำ วงษภูธรกรมหนึ่ง นายประตูแสนแกว่ง แสนวัง แสนคุ้ม เพี้ยสูน มหาวังกรมหนึ่ง พ่อมโรง มหาโนชิต มหามุนตรี ซาโนชิต ซามาต ซาเนตร ซากำนัน ซาทิพฮต ซามุนตรี อุทธามุนตรี แสนไชยกรมหนึ่ง เถ้าแก่ ซาบรรทม ซามะรัต คำเพียงตา ราชอาสกรมหนึ่ง กรมโหรสีมังคละ สิทธิมงคล สีกาชะโยก โสระบัณฑิต โลกวิวร ไลยณุโยกกรมหนึ่ง เป็นตำแหน่งไว้ครบทุกตำแหน่ง ตามอย่างเมืองเวียงจันทน์ แล้วจัดการทำเนียบเมืองตามโบราณราชประเพณีสืบมาแต่ก่อน...
บรรดาศักดิ์ขุนนางในสมัยอาณาจักรลาว
เจ้าพระยาหลวง เทียบชั้นสมเด็จเจ้าพระยา
เจ้าพระยา เทียบชั้นเจ้าพระยา
พระยา เทียบชั้นพระยา
เพีย เทียบชั้นพระ
ท้าว เทียบชั้นหลวง
แสน เทียบชั้นขุน
ที่มาของ เพีย
บรรดาศักดิ์กรมการเมืองชั้น เพีย นี้ ในเอกสารราชการโบราณนิยมเขียนว่า เพีย บ้างก็เขียนว่า เพี้ย หรือ เพียร์ อย่างไรก็ดีหากเขียน เพีย เป็น เพี้ย นี้ นายเติม วิภาคพจนกิจ บุตรพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาแต่เจ้านายในราชวงศ์เมืองอุบลราชธานี เมืองหนองบัวลุ่มภู และจำปาศักดิ์ ได้มีวินิจฉัยว่า ไม่เห็นควรใช้คำว่า เพีย เป็นคำว่า เพี้ย เพราะคำว่า เพี้ย นี้ หมายถึงมูลอ่อนของสัตว์จำพวกวัวควาย ที่ชาวลาวอีสาน ไทยวนเมืองเหนือ นิยมนำไปประกอบอาหารจำพวกน้ำจิ้ม และคำว่า เพี้ย นี้ ชาวอีสานและชาวลาวมักมีการนำมาใช้เป็นสำนวนในเชิงดูถูกดูแคลน เช่น ขี้เพี้ย แปลว่า คนกระจอกงอกง่อย ด้อยความสามารถ คนที่ไม่มีประโยชน์หาสาระมิได้ เป็นต้น ที่มาของบรรดาศักดิ์ชั้นเพียมีหลายแนวคิดดังนี้
๑. เพีย อาจมาจากสำเนียงของคำลาวโบราณ ตรงกับคำว่า พญา หรือ พระยา เมื่อชาวลาวออกเสีย ญา หรือ ยา ขึ้นนาสิก จะออกเสียงรวดเร็วว่า เพีย แต่ในสมัยพระราชอาณาจักรนั้น เพีย เป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่าพระยา ส่วนสมัยล้านช้างฝั่งขวาตกอยู่ใต้การปกครองของสยามนั้น เพียเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนางและบุตรหลานของเจ้านาย โดยไม่สามารถนำมาเป็นบรรดาศักดิ์หรือชั้นยศของเจ้าเมืองได้ เว้นแต่หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายและหัวเมืองลาวสมัยก่อนตกเป็นของสยาม
๒. เพีย อาจมาจากภาษาบาลีว่า เพียร หรือ พีระ หรือ วิริยะ หมายถึงผู้ที่ได้บรรดาศักดิ์ชั้นนี้มักเป็นผู้มีความสามารถพากเพียรในราชการ
๓. เพีย อาจเป็นคำดั้งเดิมในบรรดาศักดิ์ของชาวลาวและอาจไม่ได้มาจากคำว่า พระยา หรือ เพียร แต่อย่างใด
ที่มาของ ซา นำหน้า
คำว่าซา ตรงกับคำว่าชา มาจากคำว่า ฮาซา หรือ ราชา เป็นการเรียกโดยตัดคำว่า รา ออกไปให้สั้นลง ผู้มีราชทินนามคำว่า ซา นำหน้า มักเป็นกรมการเมืองที่รับใช้ใกล้ชิดกับพระฮาซาหรือพระราชาคือเจ้าเมือง คอยรับใช้ภายในท้องพระโรงบ้าง ห้องพระบรรทมบ้าง ภายในหอโฮงหลวงหรือภายในรั้วหอโฮงหลวงนั่นเอง บรรดาศักดิ์ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ซา มีดังนี้
ซานนท์ (ชานนท์หรือราชานน) มาจากคำว่า ราชานนท์
ซามนตรี (ซามุนตรีหรือชามุนติ) มาจากคำว่า ราชมนตรี
ซาโนชิต (ชาโนชิต มหาโนชิด มหาโนซิตหรือมหาโบชิต) มาจากคำว่า ราชาโนชิต
ซามะฮด (ซามกดหรือชามาตุ) มาจากคำว่า ราชามะฮด
ซาเนด (ซาเนตรหรือชาเนตร) มาจากคำว่า ราชาเนตร
ซาทิพรต (ซาทิพฮด ซาทิพฮต หรือชาทิพรส) มาจากคำว่า ราชาทิพรต
ซากำนัน (ชากำนัน) มาจากคำว่า ราชากำนัน
ซาบรรทม มาจากคำว่า ราชาบรรทม
ซามะราช (ซามะรัตหรือซามะฮาช) มาจากคำว่า ราชามะราช
ซาภักดี มาจากคำว่า ราชาภักดี
ซาหลาบคำ มาจากคำว่า ราชาหลาบคำ
ซาพิรม (ซาภิรมย์) มาจากคำว่า ราชาภิรมย์
ซาบูฮม มาจากคำว่า ราชาบรม
ซามาต (ซามาตย์อาซาไนย) มาจากคำว่า ราชามาตย์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่