....สัพเพเหระ ไก่กา อาราเร่ ว่าด้วยตำแหน่ง "พรญา,พญา, พระยา, เพีย"..../วัชรานนท์

กระทู้สนทนา
หลังจากกระทู้ที่แล้วว่าด้วยตำแหน่ง "ขุนนาง" ในอยุธยา  ผมได้ตั้งข้อสังเกตุไปว่าตำแหน่งและศักดินานั้นน่าจะมีมาก่อนสมัยพระบรมไตรโลกนาถ  ผู้ที่ตั้งกฏหมายว่าด้วยเรื่องนี้เป็นรูปธรรมขึ้นมา   พร้อมยกตัวอย่างพระญาติของพระองค์เองที่พงศาวดารทั้งทางเหนือและไทยเราเรียกว่า "พระยายุทธิษเฐียร"

และผมก็ได้เปิดประเด็นให้เพื่อที่อยากจะถกว่า  นักประวัติศาสตร์จากหลายสำนักมักจะพูดว่าตำแหน่ง "เจ้าพระยา" พึ่งจะมาใช้หรือนิยมเอาตอนช่วงอยุธยาตอนปลาย ธนบุรีแล้วก็รัตนโกสินทร์    ซึ่งได้ผมทิ้งปริศนาให้ชวนถกกรณีแต่งตั้งเจ้าพระยาสูรศรีไปครองเมืองพิษณุโลกในรัชสมัยพระณเรศวร   เพื่อชี้ให้เห็นว่าตำแหน่ง "เจ้าพระยา" มีมาก่อนอยุธยาตอนปลายแล้ว?   คุณ "ศรีสรรเพชญ์" คนดังแห่งห้องประวัติศาสตร์ให้เกียรติมาร่วมแจม   แจงละเอียดยาวเลยว่า "ไผเป็นไผ" ระดับ "เจ้าพระยา" ในยุคอยุธยาตอนต้น  อิ่มความแปร้กับความรู้    อนึ่ง  แม้ผมจะเคยอ่านผ่านตามาบ้างตำแหน่ง "พรญา"    แต่ "เจ้าพรญา" ไ่ม่เคยผ่านตา   ข้อเขียนของคุณ  คุณศรีสรรเพชญ์จึงต่อยอดความรู้ให้ไปอีกชั้นหนึ่ง

ตำแหน่ง  "พรญา"  "พญา"  "พระยา"  และ "ออกญา"   ออกจะใช้สลับกันหลายที่อยู่บ้าง   จึงไม่แปลกที่จะมีความสับสนตรงนี้  แต่เท่าที่สังเกตุมา (ประสบการณ์ส่วนตัว)   "พรญา" มักจะถูกใช้ในยุคอยุธยาต้นๆ คาบเกี่ยวคาบดอกระหว่างยุครุ่งเรืองของอยุธยาและยุคเสื่อมของสุโขทัย   ในยุคของสมเด็จเจ้าสามพระยาที่โปรดให้ "พรญาแพรก"  หรือต่อมา "เจ้าพรญาแพรก" ไปปกครองเขมร    หรือกรณีที่มอบหมายให้สอง "พรญา" (ผมจำชื่อไม่ได้ ตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ)อำนวยการขนย้ายสิ่งมีค่าและประติมากรรมจากกัมพูชามายังอยุธยา     ในกรณีของ "พรญาแพรก" นั้น   ผมไม่ทราบแน่ชัดว่าท่านเป็น "พรญา" ที่อยุธยามาก่อนแล้วจึงมาถูกเรียก "เจ้าพรญาแพรก" ในภายหลัง(จากที่ปกครองเขมรแล้ว)

คหสต. การล่มสลายของอาณาจักรสุโขทัยนั้น   เป็นการ "ค่อยๆ ถูกกลืน" จากฝ่ายอาณาจักรอยุธยา   หนึ่งในกลยุทธ์นั้นก็คือการ "ลดชั้น" พระมหากษัตริย์ของอยุธยาจาก "พ่อขุน" หรือจะกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือการ "ลดชั้น" จาก "สมมุติราช" ให้มาเป็นแค่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่    ตำแหน่งที่รองรับ "อดีตพระมหากษัตริย์" ของสุโขทัยก็คือ "พรญา" หรืออาจจะ "เจ้าพรญา" นี่เอง


ส่วนคำว่า "ออกญา" (คำเขมร) นั้น   มักจะปรากฏในจดหมายเหตุของชาวต่างชาติเสียมาก   อันนี้เราต้องยอมรับว่าตำราประวัติศาสตร์  นิตยสารประวัติศาสตร์    เราแปลมาจากหนังสือ  จดหมายเหตุ  และบทวิเคราะห์ของชาวต่างชาติไม่น้อย  ผมเองตอนนี้ก็อ่านบทวิเคราะห์จากชาวต่างชาติอย่างเดวิด ไวแอท  เครก  มาบ้าง  ถือว่าเป็นการฉีกมุมมองไปอีกรูปหนึ่ง


นอกจากคำว่า   "พรญา"  "พญา"  "พระยา"  และ "ออกญา" แล้ว     หนังสือประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว (ล้านช้าง) เรียกอาณาจักรอยุธยาของเราว่า "เมืองล้านเพีย"   จากเหตุการณ์ที่พระเจ้าฟ้างุ้มยกทัพลงมาเขตชานเมืองของอาณาจักรอยุธยา (แถวลพบุรี) ซึ่งถือเป็นช่วงต้นของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาใหม่ๆ  แล้วส่งพระราชสาสน์เข้ามาอยุธยาท้ารบ   มีการเรียกอาณาจักรอยุธยาว่า "ล้านเพีย"     จากตรงนั้น  ก็มีการสัณนิษฐานไปว่า  คำว่า "เพีย" น่าจะมาจากคำว่า "พญา" หรือ "พระยา"   ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยามีขุนนางระดับพระยาเยอะแยะทั้งในราชสำนัก  และทั้งครองเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวง   เหมือนๆ ที่เรียกอาณาจักร "ล้านช้าง" (ลาว เพราะสมัยนั้นมีช้างป่าเยอะ)  หรือ "ล้านนา" (เชียงใหม่ เพราะมีที่นากว้างใหญ่ไพศาล)  ประมาณนั้น


ต้องขออภัยที่พิมพ์ตกๆ หล่นๆ บ้างและไม่ได้อ้างอิงหลักฐานอะไร   เขียนจากความจำ   เขียนในรูป "หางเครื่อง" หรือ "เกริ่น" รอคุณซีเอ็นซีเคมาร่ายรายละเอียดเรื่องเจ้าพระยาให้เป็นวิทยาทาน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่