ไฮสปีด 3 สนามบิน โครงการสุดหิน รัฐร่วมเอกชน

ช่วงนี้มีข่าวการเปิดประมูลโครงการหลัก ๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ออกมาติด ๆ กันหลายโครงการ เลยมักได้ยินคำว่า PPP ถี่ยิบ ตามมาด้วย PPP Net Cost

แล้ว PPP กับ PPP Net Cost คืออะไร ยังไง




PPP หรือ Public Private Partnerships เป็นสัญญาการร่วมลงทุนกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อไว้ให้บริการสาธารณะในระยะยาว โดยมีการตกลงกันในเรื่องของการบริหารงาน บริหารผลประโยชน์ และบริหารความเสี่ยง

ส่วนใหญ่โครงการที่จะร่วมทุนกันแบบนี้ จะเป็นโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงมาก แต่ก็เป็นโครงการที่มีรายได้เข้ามาอยู่ตลอดเวลา เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ (ที่มีรายได้จากการเก็บค่าผ่านทาง) โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ที่มีอยู่ตอนนี้ และโครงการรถไฟความเร็วสูง

เหตุผลหลัก ๆ ที่รัฐร่วมทุนกับเอกชนก็เป็นการให้เอกชนมาช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐ เพราะเอกชนมีความสามารถในการลดต้นทุนได้ดีกว่า มีทั้งเงินทุน ความสามารถในการบริหารจัดการ ความคล่องตัว รวมถึงแรงจูงใจในการทำให้โครงการสำเร็จเร็ว เพื่อลดค่าใช้จ่ายและภาระดอกเบี้ย

สำหรับโครงการหลัก ๆ ในอีอีซีเป็นแบบ PPP Net Cost คือ เป็นการร่วมทุนแบบเอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง ซึ่งเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงจากผลการดำเนินงานทั้งหมด [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้




โครงการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนแล้ว 1 โครงการก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเมื่อไปดูในเงื่อนไขการร่วมทุนแล้ว ถือว่ารัฐได้วางหมากไว้ค่อนข้างหินสำหรับภาคเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินงาน เพราะโครงการแบบนี้นอกจากจะใช้งบลงทุนสูงมากแล้ว ยังได้ค่าตอบแทนที่นำมาคืนทุนที่ลงไปยากมาก และใช้ระยะเวลานานมาก ดังนั้นจึงค่อนข้างหาเอกชนที่มาลงทุนได้ยากเช่นกัน

ที่ว่าหิน ก็เพราะเอกชนต้องแบกรับความเสี่ยงรอบด้านด้วยตัวเอง เช่น

- เงินลงทุน ที่ต้องหาแหล่งเงินทุนเอง รวมทั้งต้องออกทุนในการก่อสร้างเองทั้งก้อนก่อน โดยรัฐจะทยอย(ไม่ใช่จ่ายเป็นก้อนเดียว)จ่ายคืนส่วนที่รัฐต้องจ่ายในภายหลัง คือหลังจากที่เอกชนเริ่มให้เปิดเดินรถให้บริการแล้ว
- เอกชนลงทุนก่อสร้างเอง (ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่รัฐจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนบริหารจัดการ)
- ต้องมีผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์มืออาชีพในการทำรถไฟความเร็วสูงมาแล้ว (อันนี้ชัดเจนว่าต้องการให้ต่างประเทศที่ทำรถไฟความเร็วสูงมาร่วมทุน)
- ต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่รัฐอีกหลายอย่าง (เช่น ค่าเช่าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์)
- รัฐไม่รับประกันจำนวนผู้โดยสาร (หมายความว่า เมื่อเปิดบริการเดินรถแล้ว ถ้าจำนวนผู้โดยสารไม่ถึงเป้า เอกชนต้องรับภาระการขาดทุนเอง รัฐไม่ช่วย ซึ่งจุดนี้ในบางประเทศ หากผู้ใช้บริการน้อย รัฐจะช่วยสนับสนุนรายได้ให้แก่เอกชน)
- และที่พีคสุดคือ ถ้าเอกชนมีกำไรสวยงามจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ก็ต้องแบ่งรายได้ให้แก่รัฐเพิ่มอีกด้วย

ดังนั้น ใครที่มาลงทุนก็ต้องแบกรับภาระและความเสี่ยงหนักหน่อย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มีคนซื้อซองเยอะถึง 31 ราย แต่ยืนประมูลจริงเพียงแค่ 2 ราย คือไปรวม ๆ ตัวกันมายื่นประมูล  


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

อย่างไรก็ตาม มีกรณีศึกษาการร่วมทุนในลักษณะนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมาแล้วในไต้หวัน ซึ่งเอกชนรับสัมปทานการก่อสร้างและเดินรถไฟความเร็วสูงเป็นระยะเวลา 35 ปี โดยต้องหาเงินทุนเองทั้งหมด แต่หลังจากเปิดให้บริการ ผู้โดยสารมีจำนวนน้อยกว่าที่ได้ประมาณการเอาไว้สูงมาก โครงการจึงไปไม่รอด ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เมื่อรัฐต้องการให้โครงการเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างสำเร็จสวยงาม ก็ต้องหาหนทางและแรงจูงใจอื่น ๆ นอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสาร มาให้ภาคเอกชนพอจะมองเห็นหนทางคืนทุนได้บ้าง ภายในระยะเวลาไม่นานเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่ที่ทั่วโลกทำกันแล้วประสบความสำเร็จ อย่างในญี่ปุ่นและอิตาลี ก็คือ การจัดหาพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานี เพื่อให้สิทธิแก่เอกชนในการบริหารจัดการ หรือใช้เป็นพื้นที่ค้าขาย เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ และในกรณีของประเทศไทยก็อาจจะดีหน่อยตรงที่ เอกชนได้สิทธิในการบริหารจัดการถึง 50 ปี ยังพอมีหนทางคืนทุนได้บ้าง


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

จะเห็นคร่าว ๆ แล้วว่า เป็นโครงการที่หินพอสมควร แต่เพื่อผลประโยชน์ของพวกเรา คือ ประเทศชาติและประชาชน คนที่มาลงทุนก็ต้องกล้าได้และกล้าเสีย ที่สำคัญคือต้องเสียสละก่อนพอสมควรจากหลายเงื่อนไขหลายประการในสัญญา เราก็ต้องมาลุ้นมาเอาใจช่วยเอกชนที่มาทำโครงการนี้ให้สำเร็จอย่างงดงามกันต่อไป  

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่