อีอีซีรุดหน้า เตรียมเปิดเอกชนลงทุนในโครงการหลัก: สนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง

ดูเหมือนว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะมีความคึกคักและคืบหน้าอย่างมากและรวดเร็ว ทั้งในส่วนงานจากภาครัฐและการลงทุนจากภาคเอกชน

ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ระเบียบกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (PPP) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) น่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเผยแพร่หลักเกณฑ์ เงื่อนไข รายละเอียดที่ชัดเจนได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งรูปแบบของ PPP อาจเป็นได้ทั้งการให้สัมปทาน การให้ลงทุนเต็ม 100% รูปแบบของกิจการร่วมค้า (joint venture) หรือแม้แต่การให้เอกชนลงทุนก่อสร้างแล้วส่งต่อให้รัฐบริหารดูแล ซึ่งต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละโครงการ [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้




ในส่วนของการร่วมทุนในโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา, โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่รวมถึงการเชื่อมต่อ 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา, โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 คาดว่าจะเริ่มร่างขอบเขตงาน (TOR) ได้ในปลายปี 2560 นี้ และเปิดประมูลได้ในช่วงต้นปี 2561

ปัจจุบันรัฐได้เตรียมพื้นที่ที่จะประกาศเป็น “เขตส่งเสริมพิเศษ” ที่เอกชนรอลงทุนอยู่ 4 แห่ง ได้แก่

1. สนามบินอู่ตะเภา
2. เขตนวัตกรรมระเบียง เศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง
3. เขตนวัตกรรมดิจิทัล (Eastern Economic Corridor of Digital Park: EECd) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
4. สมาร์ทพาร์ค ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้หลายวิธีในการกระตุ้นการลงทุน แม้แต่การเชิญนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างชาติมาดูโครงการอีอีซี ซึ่งนักลงทุนจากญี่ปุ่นก็สนใจมาลงทุนเพิ่มเติม หลังจากที่เคยลงทุนมาแล้ว ในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือเมื่อต้นปีนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง  




เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็ได้เปิดผลศึกษาโครงการอีอีซีว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ถือได้ว่าเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ดีที่สุดของรัฐบาลนี้ โดยกฎหมายอีอีซีสามารถตอบโจทย์การพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ได้ตรงจุดที่สุด เป็นรูปธรรม และมีพื้นที่เป้าหมายชัดเจน รวมทั้งในพื้นที่อีอีซียังเป็นฐานอุตสาหกรรมที่สำคัญเดิม สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมได้หลายด้าน และยังมีมาตรการสนับสนุนนอกเหนือจากมาตรการทางภาษีอีกหลายด้าน จึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูง


เมื่อพิจารณาจากหลาย ๆ องค์ประกอบ ทั้งการเร่งดำเนินงานของภาครัฐ ความสนใจในการลงทุนของภาคเอกชน หรือแม้แต่ผลศึกษาของทีดีอาร์ไอ ที่ออกมาในแนวทางที่สอดคล้องกัน จึงเพิ่มความมั่นใจไปได้ว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นโครงการที่มีเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่น่าสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่