ไขข้อข้องใจ ทำไมไฮสปีดเชื่อมสนามบินต้องเป็น PPP

ใครได้อ่านบทความของดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เรื่อง ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน จากมุมมองของคนทำงาน แล้วคิดแบบเดียวกันบ้าง สำหรับประเด็นการลงทุนแบบ PPP (Public Private Partnership หรือ โครงการรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน) เหมือนดร.คณิศยอมรับอยู่กลาย ๆ ว่า โครงการนี้รัฐเอาเปรียบเอกชนอยู่ไม่น้อย โดยรัฐไม่ยอมรับความเสี่ยง เพราะกลัวเหมือนกรณีโฮปเวลล์ จึงผลักภาระให้เอกชนรับความเสี่ยงเองทั้งหมด แต่ก็เพื่อผลประโยชน์ของชาติ และก็ทำให้เข้าใจอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะข้อมูลที่เคยได้รับก่อนหน้านี้จากข่าวรั่วข่าวหลุดทั้งหลาย ที่ทำให้มีคนเสียหายอย่างทั่วถึง ทั้งคนของรัฐและฝ่ายเอกชน ดร.คณิศเฉลยเบื้องหลังการทำงาน ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง

สำหรับเหตุผลในการลงทุนแบบ PPP นั้น เพราะเป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง จึงต้องการดึงเงินจากภาคเอกชน เพื่อจะได้ใช้เงินงบประมาณของรัฐให้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นการช่วยรัฐลดภาระทางการคลังและการเป็นหนี้สาธารณะ โดยเอกชนพอจะมีผลตอบแทนทางการเงินและรัฐได้กำไร

เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการร่วมลงทุนแรกของอีอีซี ซึ่งเป็นการร่วมทุนแบบนานาชาติ ต้องใช้กฎหมายใหม่ ระเบียบใหม่ และประเทศไทยไม่เคยทำโครงการร่วมลงทุนรัฐกับเอกชนที่เป็น “มาตรฐานสากล” มาก่อน จึงต้องระดมคณะทำงานระดับมันสมองของประเทศจากหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันออกแบบ TOR ให้เป็นมาตรฐานสากลให้มากที่สุด แม้จะไม่สามารถทำให้เป็นสากลเต็มรูปแบบได้ แต่ก็ทำให้มากเท่าที่คนไทยจะรับได้


- อย่างประเด็นให้สร้างก่อนผ่อนทีหลัง ก็เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบโฮปเวลล์ ที่เอกชนทิ้งงานจนมีค่าโง่ โครงการนี้จึงต้องกำหนดให้เอกชนสร้างทางรถไฟให้เสร็จก่อน (ใช้เวลา 5 ปี) รัฐบาลจึงจะผ่อนชำระตั้งแต่ปี 6 เป็นต้นไป

ประเด็นนี้ทางเอกชนเสนอว่า หากรัฐทยอยจ่ายเงินค่าก่อสร้างตามงานที่สร้างเสร็จ เช่น สร้างเสร็จ 10% ก็จ่ายเงิน 10% ไปเรื่อย ๆ จนกว่าโครงการจะเสร็จ ทั้งรัฐและเอกชนจะประหยัดเงินดอกเบี้ยได้หลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเอกชนก็พร้อมจะปรับลดราคาให้ เพราะไม่ต้องก่อหนี้สูง (ความเสี่ยงสูง อัตราดอกเบี้ยแพง) และทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทดูดีขึ้นมาก

ดร.คณิศยอมรับว่า เรื่องนี้มีประโยชน์กับรัฐมาก แต่ขัดกับหลักการโครงการที่วางไว้ กรรมการคัดเลือกจึงไม่รับพิจารณา เพราะกลัวจะเหมือนกับกรณีร่วมทุนกับบริษัทโฮปเวลล์

- หรือประเด็นการค้ำประกันทางการเงินหลายชั้น ก็เป็นการผลักภาระความเสี่ยงทางการเงินให้เอกชน โดยเรียกการค้ำประกัน 3 ชั้น คือ ต้องมีทุนเรือนหุ้นสูง มีธนาคารค้ำประกัน และทุกบริษัทที่ร่วมกันมาต้องค้ำประกันแบบลูกหนี้ร่วม (severally) ซึ่งข้อนี้ทางฝั่งภาครัฐได้ประโยชน์ แต่ฝ่ายเอกชนเสียเปรียบมาก เพราะไม่เป็นมาตรฐานสากล บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจึงจะไม่ค่อยมาลงทุน เพราะไม่มีใครอยากเปิดรับความเสี่ยงในอนาคตโดยไม่จำกัด ที่เรียกว่า “ความเสี่ยงปลายเปิด” เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตโครงการนี้จะขาดทุน-กำไรอย่างไร

ในข้อนี้ดร.คณิศยอมรับว่าได้รับคำร้องเรียนจากบริษัทใหญ่เกือบทุกแห่งที่เข้ามาซื้อซอง แต่กรรมการคัดเลือกก็ยังคงยืนยันหลักการไว้

ส่วนเรื่องการนำโครงการนี้ไปเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) นั้น ดร.คณิศบอกว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ที่จะปรับโครงการเช่นนี้ให้เข้าสู่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

- ในประเด็นการไม่ค้ำประกันจำนวนผู้โดยสารนั้น โครงการรถไฟปกติและรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก รัฐบาลจะเข้าไปค้ำประกันจำนวนผู้โดยสาร แต่โครงการนี้ไม่ค้ำประกันผู้โดยสารให้ แต่ให้เอกชนไปคำนวณความเสี่ยงในการดำเนินงานเอาเอง โดยให้ไปคำนวณตัวเงินแล้วเก็บจากรัฐบาลรวมอยู่ในมูลค่าที่ขอรัฐร่วมทุน (เรียกวิธีนี้ว่า Net Cost PPP) ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทำให้มีปัญหากับสถาบันการเงินระหว่างประเทศมาก เพราะเขาสงสัยว่าทำไมไทยไม่ทำ และเมื่อไม่ทำ ดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะแพงกว่าที่มีรัฐค้ำประกันมาก

ประเด็นนี้เองยังทำให้กลุ่ม CPH ถูกพูดถึงมาก ซึ่งความจริงแล้ว มีข้อเสนอว่า หากค้ำประกันผู้โดยสารหรือผลตอบแทนกรณีที่ต่ำกว่าประมาณการของ ร.ฟ.ท. เขาก็พร้อมจะให้ประโยชน์กับรัฐมากขึ้น หากทำไปแล้วได้ผลตอบแทนดีกว่าประมาณการ ซึ่งเป็นทั้ง “การรับและการให้” ไม่ใช่การขออย่างเดียวอย่างที่เป็นข่าว 

ดร.คณิศยอมรับด้วยว่า เรื่องนี้ในทางหลักผลตอบแทนต่อรัฐเป็นเรื่องที่ควรศึกษาเพิ่มเติม แต่เนื่องจากขัดกับเงื่อนไขที่จะไม่มีค้ำประกันใด ๆ กรรมการคัดเลือกจึงไม่รับพิจารณา


หากมองกันแบบแฟร์ ๆ งานนี้ถือว่ารัฐมาเหนือเมฆกว่าเอกชน มองเกมทะลุกลางปล้อง โดยเอาความกลัวจากกรณีโฮปเวลล์เป็นตัวตั้ง ทำให้ต้องรอบคอบมากขึ้นเป็นพิเศษ ชนิดไม่ยอมเสียค่าโง่ซ้ำซาก จนเป็นเหตุให้ระดมมือกฎหมายและการเงินของประเทศมาช่วยกันร่าง TOR ปิดทางเอกชนเรียบร้อยทุกทาง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และกันคนทำงานไว้ไม่ให้ต้องไปนอนเกาพุงเล่นในคุกภายหลัง

แล้วก็ยังทำให้เข้าใจฝ่ายเอกชนอย่างซีพี ที่ก่อนหน้านี้โดนสังคมกระหน่ำว่าเรื่องเยอะ มาตอนนี้ก็ถึงบางอ้อ ที่แท้ก็ฉลาดเป็นกรด มองเกมออกทุกอณูเช่นกันว่ารัฐกำลังทำอะไร จึงพยายามต่อรองให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากมองอย่างเป็นกลาง ก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้และควรต้องทำ เชื่อว่าถ้าเป็นเอกชนรายอื่น ที่มองเกมออก ก็ต้องทำแบบเดียวกัน ก็เงินลงทุนไม่ใช่แค่บาทสองบาท แต่เป็นหลักแสนล้านบาท กว่าจะคืนทุนได้ใช้เวลาตั้งหลายสิบปี เมื่อเห็นช่องโหว่ก็ต้องหาทางปิดเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ดร.คณิศก็เลยต้องโปรยยาหอมขอบคุณเอกชนทุกรายที่เข้ามาร่วมซื้อซองและลงทุนว่า เป็นผู้เสียสละ จะชนะหรือไม่ชนะก็เป็นการช่วยประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะยอมหยิกเล็บเจ็บเนื้อ เข้ามาลงทุนในโครงการนี้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเสียเปรียบอยู่หลายขุม ผลตอบแทนโครงการก็ต่ำมาก ประมาณร้อยละ 5-6 เอง ถ้าไม่ได้เห็นกับประเทศจริง ๆ คงไม่มีใครมาทำ แถมยังดึงพันธมิตรระดับโลกมาร่วมลงทุนได้ด้วย แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความพร้อมมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่ต้องไปกู้ต่างประเทศ หรือเอาบริษัทต่างประเทศมาทำ แล้วให้เขาขนเงินกลับไป ครั้งนี้เราใช้บริษัทไทย ใช้เงินไทย มาทำงานให้ประเทศไทย รัฐบาลไม่ต้องไปกู้ยืมเงินใครด้วย

ถือว่างานนี้ ทั้งรัฐและเอกชนต่างทำหน้าที่ของตัวเองกันอย่างสุดติ่ง ก็ต้องขอชื่นชม ทั้งฝ่ายรัฐ ที่ทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนสุด ๆ จริง ๆ และฝ่ายเอกชน ที่รู้ทั้งรู้ว่า โอกาสขาดทุนสูงมาก เสียเปรียบรัฐทุกประตู แต่ก็ยังใจ-ใจเข้ามาลงทุน จึงต้องขอเอาใจช่วยทั้งสองฝ่าย ให้ทำโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เราประชาชีตาดำ ๆ อย่างเรา จะได้มีรถไฟความเร็วสูงใช้เร็ว ๆ ไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยไม่ต้องแบกหนี้สาธารณะเพิ่ม

*********************** 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่