"ก้อยคั่ว" คืออะไรคะ

เราเป็นคน ตจว.ภาคเหนือ ปกติไม่รู้จักอาหารอีสานเท่าไร นอกจากส้มตำ ก่อนหน้านี้สักสิบปี ไปทำงานอยู่ กทม. ก็ได้ทานอาหารอีสานมากขึ้น จนได้รู้จักเมนูนึง เพื่อนสั่งมาให้กิน ถูกปากมาก เวลาสั่ง เราก็จะสั่งว่า "ก้อยคั่วไม่ขม" สารภาพว่า เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร ทำยังไง ใส่อะไรบ้าง (เพราะเป็นคนไม่ทำอาหาร)​ แต่ก็สั่งแบบนี้มาตลอดสิบปี ได้กินอย่างที่ต้องการทุกครั้ง

จนสิบปีผ่านไป ย้ายกลับมาอยู่ ตจว.ภาคกลาง เราก็สั่งเมนูนี้เหมือนเดิม ที่ร้านอาหารอีสาน ร่านส้มตำ

เรา -​ "ก้อยคั่วไม่ขม" ที่นึงค่ะ
แม่ค้า -​ ก้อยหรอ ก้อยใช่ไหม
เรา (เริ่มลังเล)​ -​ ค่ะ ก้อยคั่วค่ะ
แม่ค้า -​ ก้อยดิบใช่ไหม
เรา -​ ไม่ใช่ค่ะ มันสุกอะค่ะ
แม่ค้า -​ ถ้าสุกนั่นเค้าเรียกลาบ ก้อยต้องดิบนะ ปกติสั่งว่าอะไร
เรา -​ สั่งว่าก้อยคั่วค่ะ
แม่ค้า -​ ใส่เลือดหรือเปล่า
เรา -​ไม่ใส่ค่ะ (ซึ่งอันนี้เราพลาด เพิ่งมานึกได้ทีหลังว่าร้านที่เคยสั่งเค้าใส่)
แม่ค้า -​ สุกใช่ไหม
เรา -​ ค่ะ
แม่ค้า -​ นั่นล่ะ เค้าเรียกลาบ ต่อไปสั่งว่าลาบนะ ไม่ใช่ก้อย

แล้วเราก็ได้ลาบเนื้อมาหนึ่งถุง... T.T

จากนั้นก็ได้ไปสั่งอีกร้าน เหตุการณ์คล้ายๆ เดิมเลย สรุปก็ประมาณว่า แม่ค้าบอกว่า ก้อยมันต้องดิบนะ ถ้าสุกมันคือลาบ ไม่ใช่ก้อย

แต่เราอยากกิน "ก้อยคั่ว" อะค่ะ สองร้านที่สั่งไป ก็ดูไม่มึใครเข้าใจคำว่าก้อยคั่วของเราเลย แล้วถ้าเราอยากกินก้อยคั่ว ที่เราเคยสั่งที่ร้านที่ กทม. เราต้องสั่งว่าอะไรหรอคะ มันเป็นอาหารที่เรียกแต่ละภาคไม่เหมือนกันหรือเปล่า ตอนนี้งงและสับสนมาก T.T
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 9
เอาล่ะ สิเว่าสู่กันฟัง เรื่องลาบก้อยซอยห่างทางอีสานพุ่นน่ะ ตั้งใจฟังเด้อ..

ระหว่างลาบกับก้อย มันชัดเจนเรื่องความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว

ลาบ คือการเอาเนื้อสัตว์มาสับ แล้วปรุงรส เขากันเรียกว่า "ลาบ" ไม่ว่าจะสุกหรือดิบ มันก็คือ..ลาบ

ก้อย คือการเอาเนื้อมาซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปรุงรส เขาเรียกกันว่า "ก้อย" ไม่ว่าจะสุกหรือดิบ มันก็คือ..ก้อย

มาลง detail กันให้ชัดว่าเขาเฮ็ดจังได๋ สิได้ถ่องแท้ บู้ย..เว่าฝรั่ง พะนะ !!

ลาบ เอาเนื้อไปสับ นำไปรวนให้สุกแล้วค่อยปรุง เรียกว่าลาบหรือลาบสุก(ส่วนมากจะเรียกแค่ 'ลาบ' ก็เป็นอันรู้กัน)
หากเป็นลาบดิบ ก็เอาเนื้อไปสับแล้วปรุงรสเลย เรียกว่า "ลาบดิบ" หากใส่เลือดไปด้วยก็เรียกว่า "ลาบเลือด" จะใส่ดีขมหรือไม่ใส่ก็ได้..แล้วแต่ชอบ
ทั้งนี้ หากอยากจะกินสุกก็ให้เอาไปคั่ว เรียกว่า "ลาบคั่ว" สีจะออกคล้ำๆกว่าลาบสุกธรรมดา ถ้าเป็นลาบเลือดคั่ว สีของเลือดสุกจะออกดำกว่า

ก้อย เอาเนื้อไปซอย (มีทั้งแบบชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ชิ้นบางชิ้นหนา หรือลูกเต๋าก็มี) เขาไม่เรียกหั่นแต่เรียกกันว่าซอย คุ้นหูสุด..ซอยห่าง
จากนั้นก็นำเนื้อไปปรุง เรียกกันว่า "ก้อย" แล้วมันก็มีหลายชนิดที่แตก product line ไปอีกแล้วแต่ท้องถิ่นจะเรียก แบบสะใจคือ..ก้อยงานบวช
จะใส่ดีขมหรือไม่นั้น มันเหมือนจะเป็นกึ่งบังคับว่าส่วนมากมักจะทำก้อยขม เพราะว่า เนื้อดิบ (ส่วนมากจะเป็นวัวบักจ้อนไม่ใช่โคขุน) มันเหนียวครับ
แล้วมันก็ย่อยยาก แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านไม่รู้ว่าเขาศึกษาจนรู้หรือว่าบังเอิญก็ไม่ทราบ นอกจากปรุงขมให้แซบนัวแล้ว น้ำดีขมๆนั้นมันเป็นตัวช่วยย่อย
จะใส่มากหรือน้อยก็แล้วแต่ใครจะฮาร์ดคอร์แค่ไหน ปรุงขมไปมันก็กัดลิ้นจนแสบ(มันจะย่อยลิ้นซะงั้น ฮ่า!) ขมอ่ำหล่ำ คือขมนวลเนียนแบบพอดีๆ
ส่วนใครที่ไม่กินขมก็สามารถปรุงรสด้วยมะนาวก็ได้ เรียกว่า "ก้อยส้ม" หมายถึงก้อยปรุงเปรี้ยว ส่วนมากมักไม่นิยมในร้านลาบ มักจะแอบกินที่บ้าน
หากสั่งก้อยไม่ขมกินที่ร้านหรือตามงานต่างที่มีสังคมคนหมู่มาก จะโดนล้อตลอดจนชั่วอายุขัย ว่าอ่ะ..ไม่แน่จริง อ่อน! 5 5 5
คราวนี้ หากอยากจะกินสุกก็ให้นำเอาไปคั่ว เรียกว่า "ก้อยคั่ว" สีจะออกดำกว่าลาบเพราะส่วนมากมักจะใส่เลือดกัน ใส่ทั้งแบบแดงล้นจานและแบบไม่ใส่ คำว่าไม่ใส่นี่ก็คือใส่อยู่นะ แต่เป็นแบบไม่เจิ่งน้ำ แค่ให้สีของเนื้อแดงสดขึ้นพองาม คั่วออกมาแล้วกำลังดี

เอาล่ะ พอจะเข้าใจดีแล้วใช่มั้ยครับ ความแตกต่างระหว่างลาบกับก้อย หากร้านที่ไปซื้อกินนั้นเขายังสับสนระหว่างลาบกับก้อยอยู่ ไปร้านอื่นดีกว่า
เพราะร้านแบบนี้ไม่น่าจะอร่อย แม้แต่สิ่งที่เขาทำอยู่ทุกวันเขายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ผมขอทายกึ่งฟันธง สั่งเนื้อย่างร้านนี้อาจจะได้กินเนื้อเชื่อม!

ปล.หากใครอยากจะกินก้อยให้อร่อยแบบเนื้อนิ่ม หากใครยังใหม่ในการกินก้อยที่ยังกล้าๆกลัวๆเรื่องพยาธิล่ะก็ ขอแนะนำโคขุนครับ สุดยอดจริง!
ใช้ส่วนสะโพก รับรองคุณจะได้กินก้อยอร่อยๆเหมือนก้อยในฝัน แล้วไปบอกเพื่อนดังๆเลยว่า ไม่ใช่แค่สเต๊ก ก้อยก็ละลายในปากได้เหมียนกัลลล์ล์!!

                  OK
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่