5 ผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยที่คุณอาจไม่รู้


PA
การวิจัย ระบุว่า ครีมกันแดดอาจมีส่วนทำให้เกิดปะการังฟอกขาว

ปาเลา ซึ่งเป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ห้ามใช้ครีมกันแดด เพื่อปกป้องแนวปะการังของประเทศ นี่อาจจะเป็นครั้งแรกสำหรับผู้คนจำนวนมากที่เพิ่งได้ยินว่าครีมกันแดดส่งเสียที่รุนแรงต่อปะการังได้

นักวิจัยเชื่อว่า ส่วนประกอบทางเคมี 10 ชนิดที่พบในครีมกันแดด มีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างสูง และอาจทำให้ปะการังเสี่ยงต่อการฟอกขาวได้ไวมากขึ้น

แต่ครีมกันแดดไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันในครัวเรือนเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ นี่คือผลิตภัณฑ์อีก 5 อย่างที่คุณอาจจะไม่รู้มาก่อนว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ยาเม็ดคุมกำเนิด


Getty Images
ขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกนี้มากนัก แต่มันกลับทำให้สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติลดน้อยลง การศึกษาของสวีเดนในปี 2016 ได้พบหลักฐานถึงข้อเสียที่ผิดปกติของยาเม็ดคุมกำเนิด

ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของลีนา นิโคเลริส ที่มหาวิทยาลัยลุนด์ ระบุว่า ฮอร์โมนเอทินิล-เอสตราไดออล (ethinyl-estradiol หรือ EE2) ซึ่งเป็นเอสโตรเจนสังเคราะห์ที่อยู่ในยาเม็ดคุมกำเนิด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านพฤติกรรมและพันธุกรรมของปลาบางชนิด

เมื่อถูกปล่อยลงสู่น้ำในรูปของของเสีย EE2 จะเปลี่ยน "สมดุลทางพันธุกรรม" ในปลา อย่าง แซลมอน, เทราต์ และโรช ซึ่งมีตัวรับเอสโตรเจนมากกว่าในมนุษย์

การศึกษาพบว่า EE2 ทำให้ปลาเหล่านี้หาอาหารได้ยากขึ้น

"การศึกษาก่อนหน้านี้เผยให้เห็นว่า ปลาเหล่านี้เผชิญปัญหาด้านการให้กำเนิดด้วยเช่นกัน" นิโคเลริส กล่าว

"นี่อาจนำไปสู่การทำให้ประชากรปลาทั้งหมดหายไปได้ และผลที่ตามมาก็คือระบบนิเวศทั้งระบบ"

อะโวคาโด


Reuters
ข่าวร้ายสำหรับคนที่ชื่นชอบอะโวคาโด

อะโวคาโดอาจเป็นส่วนประกอบของอาหารมื้อเช้าที่คุณโปรดปราน แต่มันส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

เครือข่ายวอเตอร์ฟุตพรินต์ (Water Footprint Network) ซึ่งรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ คำนวณว่า ต้องใช้น้ำราว 272 ลิตรสำหรับปลูกอะโวคาโด 1 ผล ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในภูมิภาคที่ปลูกอะโวคาโดได้

ในปี 2011 การสืบสวนของเจ้าหน้าที่ทางการที่ดูแลเกี่ยวกับน้ำของชิลี พบว่า ตัวอย่างอะโวคาโดอย่างน้อย 65 ตัวอย่างจากฟาร์มต่าง ๆ มีการผันน้ำและใช้ทรัพยากรน้ำอื่น ๆ อย่างผิดกฎหมายเพื่อใช้ปลูกอะโวคาโด

นั่นเป็นสาเหตุทำให้เกิดภัยแล้งขึ้น และทำให้ชาวบ้านต้องใช้น้ำอย่างประหยัด

สับปะรด


Getty Images
ผลไม้ที่หาซื้อได้ตามซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป และมีรสเปรี้ยวชนิดนี้ เทสโกระบุว่า สับปะรดได้แซงหน้าอะโวคาโดในการเป็นผลไม้ที่ขายดีที่สุดในสหราชอาณาจักรเมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้กำลังมีการปลูกสับปะรดเพิ่มมากขึ้นในอัตราที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในหลายพื้นที่ของโลก

ในคอสตาริกา หนึ่งในประเทศที่ผลิตสับปะรดมากที่สุดในโลก มีการแผ้วถางป่าหลายพันเฮกเตอร์ เพื่อปลูกสับปะรด

สมาพันธ์นักอนุรักษ์ของคอสตาริกา ระบุว่า ป่าทั้งผืนหายไปเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศอย่างไม่อาจแก้ไขได้

สับปะรดถูกปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นการปลูกพืชเพียงชนิดเดียวจำนวนมาก และจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้

แชมพู


PA
น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่ใช้งานได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก แต่การใช้น้ำมันปาล์มอย่างแพร่หลายได้นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก

ในรายงานปี 2018 กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เตือนว่า การปรับพื้นที่ป่าเขตร้อนและป่าพรุ ให้เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จะเป็นการปล่อย "คาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล เป็นการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายสายพันธุ์ เช่น อุรังอุตัง"

ขณะที่คุณอาจจะรู้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดมีน้ำมันปาล์มผสมอยู่ เช่น ช็อกโกแลต, เนยเทียม, ไอศกรีม ขนมปัง และขนมปังกรอบ แต่มีคนจำนวนไม่มากที่รู้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนอีกหลายชนิดมีน้ำมันปาล์มผสมอยู่เช่นกัน

ยกตัวอย่าง แชมพู น้ำมันปาล์มถูกใช้ในรูปของครีมบำรุงเพื่อช่วยรักษาน้ำมันตามธรรมชาติของเส้นผมไว้ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกสารเคมีชะล้างออกไปหมดได้

น้ำมันปาล์มยังพบในผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่าง เช่น ลิปสติก ผงซักฟอก สบู่ล้างมือ และยาสีฟัน

ผลิตภัณฑ์ปรับอากาศ


Getty Images
ในช่วงที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับอันตรายในสหราชอาณาจักรมาโดยตลอด แต่คุณทราบไหมว่า ผลิตภัณฑ์ปรับอากาศอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้?

รายงานปี 2016 จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ (Royal College of Physicians) เตือนว่า ผู้คนไม่เพียงแต่ต้องระมัดระวังมลพิษทางอากาศที่อยู่นอกบ้านเท่านั้น แต่ยังต้องระวังเรื่องคุณภาพของอากาศที่แย่ภายในบ้านด้วย ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนในชีวิตประจำวัน เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับปรับอากาศ

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนประกอบของสารเคมีที่ชื่อว่า ลิโมนีน (limonene) ซึ่งปกติถูกใช้ในการสร้างกลิ่นส้ม และใช้ในอาหารด้วย

ตัวมันเองไม่ใช่สารเคมีที่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่เมื่อถูกปล่อยเข้าสู่อากาศแล้ว มันอาจกลายเป็นปัญหาได้

การทดลองที่ทำโดยรายการ Trust Me, I'm a Doctor ของบีบีซี พบว่า เมื่อลิโมนี ทำปฏิกิริยากับโอโซนที่อยู่ในอากาศ จะทำให้เกิดฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ขึ้น

การสัมผัสกับฟอร์มาลดีไฮด์ทุกวัน อาจมีส่วนต่อการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหืดหอบ และการเจ็บป่วยอื่น ๆ

นอกจากนี้ในทศวรรษ 1980 ยังพบการเชื่อมโยงระหว่างฟอร์มาลดีไฮด์และการเป็นมะเร็งด้วย และนับตั้งแต่ปี 2011 ฟอร์มาลดีไฮด์ก็ถูกขึ้นบัญชีเป็น สารก่อมะเร็งในมนุษย์
BBC/NEWS/ไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่