TISCO ความเปราะบางจำบัง (โดย อีหล่าน้อย เว็บ Share2Trade)

http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=3795
    ใน 4 ปีที่ผ่านมา หากไม่นับกรณีการปล่อยกู้โครงการซื้อกิจการโรงงานเหล็กของกลุ่มสหวิริยาที่ผิดคาดแล้ว ผลประกอบการของ บริษัทโฮลดิ้งการการเงิน ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ถือว่าเป็นกลุ่มที่เติบโตด้วยผลประกอบการที่เกิดจากฝีมือของทีมงานล้วนๆ บ่งบอกโครงสร้างทางธุรกิจที่ออกแบบมาอย่างสมดุลและเสถียร ไม่แพ้กลุ่มการเงินขนาดกลางและใหญ่เลย
    ธุรกิจใต้ร่มธงของ TISCO ไม่ว่าจะเป็นธนาคารที่เน้นธุรกิจเช่าซื้อเป็นหลัก ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน ล้วนเป็นแขนขาที่เอ่ยถึงแล้วอยู่ในระดับหัวแถวเกือบหมด
    งบการเงินที่ต่ำกว่าคาดของไตรมาสสามจึงเป็นอะไรที่บรรดาขาประจำที่ชอบซื้อหุ้นธนาคารที่มีความเสี่ยงต่ำ พากันแสดงอาการผิดหวังจนปิดไม่มิดกันเลยทีเดียว
    แม้ว่า ตัวเลขกำไรสุทธิและกำไรสุทธิต่อหุ้นจะยังบวกแสดงการเติบโตต่อไป แต่เมื่อมันเป็นกำไรที่ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน หากมาจากกำไรพิเศษเพราะขายเงินลงทุนออกไป ในขณะที่กำไรปกติลดลงชัดเจน ส่งสัญญาณว่าไตรมาสสี่ น่าจะย่ำแย่ลงไปอีก
    รายได้หลักจากดอกเบี้ยรายสุทธิได้ปัจจัยบวกจากการบริหารต้นทุนทางการเงินและฐานสินเชื่อที่สูงขึ้นจากการรับโอนพอร์ตสินเชื่อจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) อีกทั้ง สินเชื่อปรับตัวขึ้นเกินคาด 1.1% QoQ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส หนุนโดยสินเชื่อเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ แต่นั่นเป็นแค่การเติบโตเชิงปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพที่ดูถดถอยลง
    ร้ายกว่านั้น นักวิเคราะห์"ขาทุบ"ยังถือโอกาสปล่อยรายงานทางลบเพิ่มเติมถึงปีหน้าเลยด้วยว่าจะยังคงทรงกับทรุดต่อไปอีก จากการพยากรณ์ว่าปี 2562 เป็นปีของการลดค่าใช้จ่ายทั้ง Opex และการตั้งสำรอง ส่งผลให้ในกำไรปี 2562 ที่น่าจะอยู่ที่ระดับ 7.4 พันล้านบาท เติบโตเพียง 4.5% จากปีนี้ โดยมีมุมมองว่า ถือเป็นปีที่จะเกิดสถานการณ์ท้าทายสำหรับ TISCO เนื่องจาก
    - สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (HP) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ TISCO มีความถนัด ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่สินเชื่อ ของคู่แข่งขยายตัวต่อเนื่อง บ่งบอกถึงการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด
    - ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น กระทบต่อส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย  (NIM)
    - ฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรับ ในปี 2561 สูง เพราะกำไรการขายเงินลงทุน จึงจะลดลงในส่วนนี้ในปีหน้า
    นักวิเคราะห์ยังไม่หนำใจ ยังประเมินต่อไปอีกว่า ปัจจัยหนุนการเติบโตที่สำคัญในปีหน้าของ TISCO จะมาจาก  การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และ การลดต้นทุนปล่อยสินเชื่อลง เนื่องจากปีนี้มีการเพิ่มตั้งสำรองไปค่อนข้างมาก จนกระทั่งมีอัตราส่วนสำรองต่อหนี้สูญ (Coverage ratio) สูงสุดในกลุ่มอยู่แล้ว
    เพียงแต่สิ่งท่จะต้องแลกเปลี่ยนอยู่ที่ว่า การเติบโตของรายได้และกำไรอาจจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
    มุมมองข้างต้น บ่งชี้ว่า แม้เศรษฐกิจไทยอาจจะดีขึ้น (ตามที่รัฐบาลพยายามกล่าวอ้าง) แต่หุ้นกลุ่มธนาคารมีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่ความสามารถทำกำไรจะลดลงได้ หากไม่ละเอียดรอบคอบพอ
    ปัจจุบันที่บ่งชี้อนาคต (โดยไม่แยแสกับอดีต) ตอกย้ำว่า การที่กำไรสุทธิของTISCO ในไตรมาสสาม มีระดับ 1.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนมากถึง15.4% เป็นแค่มายาภาพเท่านั้น เพราะโดยข้อเท็จจริงเป็นการ "ตีโป่ง" ด้วยตัวเลข การขายเงินลงทุนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนมาจาก กำไรพิเศษจากการขายธุรกิจบัตรเครดิต เพื่อนำมาใช้เพิ่มสำรองส่วนเกินให้ดูแข็งแกร่งเฉพาะหน้า ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่ม Coverage ratio เป็น 194% ขณะที่ NPL ยังคงทรงตัวที่ 2.7%
    หากไม่รวมกำไรจากการขายธุรกิจบัตรเครดิต กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า  6.2% แต่เพิ่มขึ้น 2.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน
    ความจำเป็นในการเร่งตั้งสำรองในระดับสูงในปีนี้ รวมเข้ากับประมาณการเติบโตสินเชื่อปีหน้าที่ 2% ในขณะที่การเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปีหน้าจะลดลงมากถึง 8% ตลอดจน อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะลดระดับลงเป็น 4.0% จากแรงกดดันจากฝั่งต้นทุนทางการเงินช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นมากขึ้น ถือว่าลดเสน่ห์ของราคาหุ้น TISCO ลงอย่างมีนัยสำคัญ
    เสน่ห์ที่หดหายของราคาหุ้น ทำให้นักลงทุนอาจจะลืมไปชั่วขณะได้ว่า ในแง่ผลตอบแทนแล้วหุ้น TISCO ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนที่สูงมากระดับหัวแถวของกลุ่มธนาคารกันเลยทีเดียว
    เหตุผลเพราะมีเพียงคนจำนวนน้อยเท่านั้น ที่ซื้อหุ้นนี้แล้วถือ เพื่อรับปันผล
    พื้นฐานจะดีแค่ไหน แต่ถ้าซื้อแล้วถือไว้  ราคาบนกระดานต่ำกว่าราคาต้นทุน ฝันร้ายเกิดขึ้นได้ง่ายมาก
////////////////////////////////////
ขอบคุณบทความจาก
www.facebook.com/Share2Trade/
www.share2trade.com

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่