🍀~มาลาริน~ปริมาณลดฉุดให้ข้าวราคาดีขึ้นๆ...ชาวนาไทยเฮ! ราคาข้าวหอมมะลิพุ่ง ทุบประวัติการณ์ตันละ14,750-17,700บาท


ชาวนาไทยเฮ! ราคาข้าวหอมมะลิพุ่ง ทุบประวัติการณ์ตันละ14,750-17,700บ.




พาณิชย์เผยข่าวดีราคาข้าวปีการผลิต 61/62 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหอมมะลิความชื้น 15 % มีราคาเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์เป็นตันละ 14,750 - 17,700 บาท อานิสงส์จากการส่งออกที่สูงกว่าเป้าหมาย ขณะที่ผลผลิตฤดูกาลใหม่อาจมีปริมาณลดลงจากภาวะภัยแล้ง

22 ต.ค.61 นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสมาคมโรงสีข้าว ผู้แทนเกษตรกร ชาวนาหลายพื้นที่ พบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิสำคัญเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ขณะนี้มีข้าวเปลือกหอมมะลิต้นฤดูออกสู่ตลาด ราคาที่ชาวนาขายได้สูงขึ้นเป็นลำดับจนอยู่ในระดับกว่าตันละ 15,000 บาท และยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสูงกว่าเป้าหมาย ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายสูงขึ้น

ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิความชื้น 15 % มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เป็นตันละ 14,750 - 17,700 บาท ขณะที่ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับตันละ 11,550 – 14,500 บาท ข้าวเหนียวเมล็ดยาว ความชื้น 15% ตันละ 9,000 – 10,800 บาท ปีที่ผ่านมาตันละ 7,200 – 12,000 บาท ข้าวเจ้า 5% ความชื้น 15% ราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7,500 – 7,900 บาท ปีที่ผ่านมาตันละ 7,300 – 7,800 บาท

และยังมีข่าวดีเกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบข้าวที่ตกลงขายให้ประเทศจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อีกกว่า 900,000 ตัน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2561 จึงมั่นใจว่าปี 2561 การส่งออกข้าวของไทยจะสูงกว่า 11 ล้านตันอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

สำหรับมาตรการที่จะนำมาใช้รองรับข้าวในฤดูกาลผลิต 2561/2562 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด รัฐบาลได้เตรียมการรองรับไว้ 3 มาตรการหลักสำคัญ คือ 1.การชะลอจำหน่ายข้าวเปลือกนาปี เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเก็บสตอกโดยรัฐบาลจ่ายค่าฝากเก็บให้เกษตรกรที่เก็บข้าวในยุ้งฉางของตนเอง ตันละ 1,500 บาท หากฝากเก็บในยุ้งฉางของสหกรณ์หรือกลุ่มวิสาหกิจ จะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีกไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เป็นอัตราการจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากครัวเรือนละ 6,000 บาท ในปีที่ผ่านมา 2.ส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้เก็บสตอกข้าวแทนสมาชิกโดยรัฐบาลสนับสนุนทุนในการจัดเก็บอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ต่อปี และ 3. จูงใจให้โรงสีดูดซับผลผลิตข้าวในช่วงต้นฤดูซึ่งผลผลิตออกมาก โดยช่วยเหลือค่าดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่ใช้ในการจัดเก็บร้อยละ 3 ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับจังหวัดแหล่งผลิตประสานให้มีการพบปะเจรจาซื้อขาย ระหว่างกลุ่มชาวนากับผู้ซื้อ ซึ่งมีทั้งลานข้าว โรงสี ผู้ส่งออก ตลอดจนกลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ชาวนามีความมั่นใจว่ามีช่องทางจำหน่ายที่แน่นอน ได้ราคาที่น่าพอใจ อีกทั้งมีความเที่ยงตรงเรื่องการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้น สิ่งเจือปน และเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีละหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 5/2561 โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวช่วงต้นการประชุมว่า สถานการณ์การค้าข้าวขณะนี้ มีการแข่งขันสูง หลายประเทศประสบปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ ส่วนประเทศไทยต้องยอมรับว่าคุณภาพของข้าวลดลง เมื่อเทียบกับคุณภาพข้าวของประเทศต่างๆ ที่ผลผลิตออกมาในรอบนี้  ดังนั้นไทยต้องปรับปรุงคุณภาพให้ตรงกับความต้องการและสามารถรองรับการแข่งขันในตลาดโลก

https://www.naewna.com/business/372015

ดีใจกับชาวนาด้วยนะคะ  จะถึง 20,000 ไหมนะ  ลุ้นๆกันค่ะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่