เปิดงานวิจัย “พลังกอด” บำบัดรักษาโรค !?

เปิดงานวิจัย “พลังกอด” บำบัดรักษาโรค !? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่: 2 ต.ค. 2561 18:24  โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อเร็วๆ นี้มีคลิปที่น่าประทับใจส่งกันตามไลน์และเฟสบุ๊คเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีพยาบาลท่านหนึ่งชื่อ “คุณพรวรินทร์ นุตราวงศ์” ซึ่งมีประสบการณ์กรณีที่สามีของเธอเป็นโรคมะเร็งผ่านการคีโมบำบัดโดยที่หมอระบุว่าคงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ในที่สุดสามีของเธอได้มีชีวิตกว่า 6 ปีแล้ว โดยการกอดของเธอและบอกรักวันละสิบๆ ครั้ง

หลังจากนั้นเธอได้อุทิศตนเป็นจิตอาสาในการรณรงค์ให้ญาติผู้ป่วยกอดผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเชื่อว่าพลังบวกแห่งความรักและความอบอุ่น จะนำไปสู่การฟื้นฟูสุขภาพได้ แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายได้แต่ผู้ป่วยก็จะจากไปด้วยความรักของคนที่ใกล้ชิด

ทั้งนี้การสัมผัสระหว่างมนุษย์โดยเฉพาะคนที่มีความรักหรือผูกพันต่อกันนั้นในการวิจัยหลายชิ้นพบว่ามีผลต่อสุขภาพ และมีโอกาสที่จะช่วยบำบัดได้หลายโรคจริงๆ

วารสาร International Journal of Neuroscience เมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้ทดลองกับผู้ป่วยหลายประเภท ค้นพบว่าการสัมผัสด้วยการนวด ส่งผลทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลลดลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่แสดงให้เห็นว่าความเครียดลดลงเฉลี่ย 31% ในขณะที่เซโรโทนินซึ่งเป็นสารสื่อประสาทตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทภายในสมองซึ่งช่วยควบคุมอารมณ์กลับสูงขึ้นเฉลี่ย 28% เมื่อได้รับการบำบัดด้วยการนวด ในขณะที่โดพามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยส่งสัญญาณภายในสมองซึ่งมีบทบาทในการควบคุมการเคลื่อนไหวและเกี่ยวกับการให้รางวัลของสมองก็สูงขึ้น 31% เมื่อได้รับการนวดบำบัด [1]

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งปรากฏในวารสาร Psychoneuroendocrinology เมื่อปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ทดสอบกับผู้หญิง 67 คน พบว่าผลของการสัมผัสทางกายด้วยพลังบวกของคู่รักช่วยลดความเครียดและทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ในขณะที่การสนับสนุนโดยใช้คำพูดเพียงอย่างเดียวกลับไม่ได้ทำให้ความเครียดลดลงได้ [2]



เช่นเดียวกับงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Biological Psychology เมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งสนใจในเรื่องของผลของการกอดต่อฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ออกซิโตซิน” (oxytocin) เป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ทำหน้าที่กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในหลายชนิด เช่น ช่วยในการเคลื่อนที่ของอสุจิจากในช่องคลอด ช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวขณะคลอด และช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อรอบๆต่อมน้ำนมให้ขับน้ำนมออกมาเลี้ยงลูก ซึ่งสารเหล่านี้จะออกมาได้เมื่อได้รับสัมผัสอันอบอุ่นจากคนรักหรือคนที่ไว้วางใจ

ผลปรากฏจากงานวิจัยในกลุ่มผู้หญิงระยะก่อนหมดประจำเดือน พบว่าชายคนรักหรือสามียิ่งกอดคนรักถี่เท่าใด ก็ทำให้ระดับของฮอร์โมนออกซิโตซินสูงขึ้น ความดันโลหิตลดลง และหัวใจเต้นช้าลงด้วย [3]

สัมผัสด้วยการกอดนั้นยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นก็ออกมาในทำนองเดียวกันว่าช่วยลความเครียด ลดความดันโลหิต ลดอัตราการเต้นของหัวใจเช่นกัน [4][5]

ไม่เพียงแต่เรื่องสัมผัสทางกายเท่านั้นที่ช่วยลดความเครียด ผู้หญิงที่ได้รับกลิ่นชายคนรักก็จะสามารถลดความเครียดได้เช่นกัน [6] [7]

แม้ว่าจะไม่ได้มีงานวิจัยทางคลีนิกอย่างตรงๆว่าพลังของการกอดจะช่วยบำบัดอาการป่วยของผู้ป่วยมะเร็งได้หรือไม่อย่างไร แต่เราพอจะรู้ทางอ้อมได้ว่า “ความเครียดมีความสัมพันธ์ทำให้การเจริญเติบโตของเนื้องอกและการลุกลามแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง” [8]

ดังนั้น เมื่อมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่าการกอดที่มีผลต่อการลดความเครียด เมื่อความเครียดมีผลทำให้มะเร็งเจริญเติบโตแพร่กระจาย บางทีการกอดจากคนที่รักก็อาจจะมีส่วนในการช่วยบำบัดโรคมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่ายังไม่เคยมีการวิจัยในเรื่องนี้มาก่อนเท่านั้น และการบรรยายจากประสบการณ์ตรงของ “คุณพรวรินทร์ นุตราวงศ์” ก็อาจจะเป็นการจุดประกายให้มีการสำรวจและทำวิจัยเรื่องการกอดให้กับผู้ป่วยมะเร็งในอนาคตก็ได้

แต่เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่นิยมการกอด มีความเคอะเขินที่จะกอดกัน ซึ่งแตกต่างจากฝรั่งชาวต่างชาติ คนไทยจึงอาจจะต้องฝึกกอดกันให้มากขึ้น ถี่ขึ้น เพราะเมื่องานวิจัยระบุว่าการกอดทำให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดความดันโลหิต ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ก็เท่ากับว่าการกอดกันก็คือยาอายุวัฒนะขนานหนึ่งนั่นเอง และเป็นยาที่ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว แต่ต้องมอบความรักและพลังบวกให้แก่กันเท่านั้น

ไม่แน่ว่าในอนาคต หมอที่มีความเข้าใจเรื่องนี้อาจจะเขียนใบสั่งยาแนะนำให้ญาติและคู่สมรสของผู้ป่วยกอดผู้ป่วยวันละ 12 ครั้งขึ้นไปก็ได้

ข้อสำคัญที่สุดคนที่รักกัน ถ้าไม่รีบกอดกันให้ความรักกันตอนมีชีวิตอยู่ จะให้ไปกอดกันตอนไหนได้อีกหรือ?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
MGRonline






แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่