โลกร้อนทำเชื้อร้ายในดินเยือกแข็งขั้วโลกฟื้นคืนชีพ


Smith Collection/Gado/Getty Images
การที่เชื้อโรคร้ายหลายชนิดในปัจจุบันสามารถต้านทานยาปฏิชีวนะได้ แม้เป็นปัญหาที่น่าหวั่นเกรงพอตัวอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่ภาวการณ์ทางสาธารณสุขที่น่าตื่นตระหนกที่สุด เท่ากับการที่ภาวะโลกร้อนจะทำให้น้ำแข็งและชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) ในเขตขั้วโลกละลาย ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจปลดปล่อยเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่หลับไหลในชั้นดินมานานนับพันนับหมื่นปีให้กลับฟื้นคืนชีพและแผลงฤทธิ์ก่อโรคระบาดในหมู่ประชากรมนุษย์อีกครั้งได้

เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เด็กชายวัย 12 ปีผู้หนึ่งซึ่งอยู่ที่คาบสมุทรยามาล ภายในเขตวงกลมอาร์กติกที่หนาวยะเยือกและห่างไกลของไซบีเรีย ต้องตายลงเพราะติดเชื้อแอนแทร็กซ์ ทั้งมีคนในละแวกนั้นอย่างน้อย 20 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะโรคเดียวกันอีกด้วย คาดกันว่าคลื่นความร้อนที่เข้าโจมตีเขตอาร์กติกในฤดูร้อนของปีนั้นทำให้ชั้นดินเยือกแข็งซึ่งปกติจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสอยู่ตลอดปีละลายตัว จนซากกวางเรนเดียร์ที่ตายด้วยโรคแอนแทร็กซ์เมื่อ 75 ปีก่อนซึ่งถูกฝังอยู่ใต้ดิน ออกมาสัมผัสกับอากาศภายนอกและแหล่งน้ำได้
◾ลมร้อนเหมือนไดร์เป่าผม เร่งน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายเร็วขึ้น
◾ปรากฏการณ์แสงบนท้องฟ้าแบบใหม่ได้ชื่อว่า "สตีฟ"
◾แม่น้ำแคนาดาเปลี่ยนทิศใน 4 วัน แทนที่จะใช้เวลานับพันปี

ตามปกติแล้วชั้นดินเยือกแข็งส่วนบนที่มีความลึกราว 50 เซ็นติเมตร จะละลายตัวเป็นประจำอยู่แล้วในฤดูร้อน แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกทำให้อุณหภูมิในเขตวงกลมอาร์กติกเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลกถึง 3 เท่า และทำให้ชั้นดินเยือกแข็งที่ลึกลงไปละลายตัวได้มากขึ้น


Hermes Images/AGF/UIG/Getty Images
ดร. ฌอง-มิเชล คลาเวรี นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยเอกซ์-มาร์แซลล์ของฝรั่งเศสบอกว่า ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวนั้นเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการจำศีลเป็นเวลานานของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เนื่องจากเป็นที่มืดมิดแสงส่องไม่ถึง มีความเย็นยะเยือกและไม่มีอ็อกซิเจน ทำให้เชื้อร้ายที่อยู่ในซากศพของมนุษย์และสัตว์ซึ่งกลบฝังไว้ตื้น ๆ เมื่อในอดีต สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานนับร้อยนับพันปี หรือในบางครั้งอาจเป็นหลายล้านปี โดยไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อไข้หวัดสเปนที่มีการระบาดครั้งใหญ่ในปี 1918 ในหลุมฝังศพหมู่ในเขตทุนดราของอลาสกา และคาดว่ามีเชื้อกาฬโรค รวมทั้งเชื้อโรคที่แพร่ระบาดในศตวรรษที่ 18-19 อยู่ใต้ชั้นดินเยือกแข็งของไซบีเรียหลายชนิดด้วย

ส่วนในช่วงทศวรรษ 1990 ศูนย์วิจัยไวรัสวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพของรัฐ ในเมืองโนโวซิบริสค์ของรัสเซีย ได้ตรวจสอบซากของมนุษย์ยุคหินจากทางตอนใต้ของไซบีเรีย และพบว่ามีร่องรอยของอาการป่วยจากกาฬโรค ทั้งยังพบชิ้นส่วนดีเอ็นเอของไวรัสกาฬโรคอยู่ แม้จะไม่พบตัวเชื้อไวรัสก็ตาม ซึ่งแสดงว่ามีความเสี่ยงที่ซากศพของมนุษย์โบราณเหล่านี้ รวมทั้งฟอสซิลของบรรพบุรุษมนุษย์เช่นนีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซแวน จะนำพาให้เชื้อโรคร้ายในอดีตกลับมาแผลงฤทธิ์ในปัจจุบันได้หากชั้นดินเยือกแข็งละลายตัว


BSIP/UIG/Getty Images
เชื้อแอนแทร็กซ์ สามารถสร้างสปอร์หุ้มตัวได้ จึงทำให้มีชีวิตรอดได้นานหลายสิบปี

การ "ฟื้นคืนชีพ" ของเชื้อเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก โดยเมื่อปี 2005 นักวิทยาศาสตร์ของนาซาพบว่าเชื้อแบคทีเรีย Carnobacterium pleistocenium ซึ่งอยู่ในบ่อน้ำแข็งของอลาสกามานานกว่า 32,000 ปี หรือตั้งแต่ยุคที่ช้างแมมมอธยังมีชีวิตอยู่ สามารถกระดิกตัวและว่ายไปมาได้หลังก้อนน้ำแข็งที่ห่อหุ้มอยู่ละลาย และสองปีต่อมาสามารถทำให้แบคทีเรียที่มีอายุ 8 ล้านปี ซึ่งจำศีลอยู่ใต้ธารน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา กลับมาเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เชื้อเหล่านี้จำศีลอยู่ได้นานเพราะบางชนิดมีการสร้างสปอร์ห่อหุ้มตัว เช่นเชื้อแอนแทร็กซ์ หรือบ้างก็เป็นไวรัสสายพันธุ์ขนาดใหญ่จนสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา ซึ่งไวรัสกลุ่มนี้จะมีความแข็งแกร่งและสามารถรักษาดีเอ็นเอของตนไว้ได้ดีกว่าไวรัสทั่วไป


Hermes Images/AGF/UIG/Getty Images)
นักวิทยาศาสตร์ยังเกรงว่า ชั้นดินเยือกแข็งในเขตขั้วโลกจะไม่ได้ละลายลงเพราะภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่การที่น้ำแข็งในทะเลแถบอาร์กติกละลาย ยังอาจจะทำให้ผู้คนจากโลกภายนอกเข้าถึงดินแดนชายฝั่งทางตอนเหนือของไซบีเรียได้มากขึ้น ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าว อาจดึงดูดให้มีการเข้ามาขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทำเหมืองทองและเหมืองแร่อื่น ๆ ซึ่งการขุดเจาะพลิกชั้นดินเยือกแข็งอย่างมโหฬารของอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคร้ายจากใต้ดินปนเปื้อนออกสู่ดินชั้นบน แหล่งน้ำ และห่วงโซ่อาหารได้

ฺฺBBC/NEWS/ไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่