ภารกิจสู่ห้วงอวกาศลึกอาจทำให้นักบินอวกาศถึงตายได้


NASA
นักบินอวกาศขององค์การนาซาออกปฏิบัติงานที่ด้านนอกของสถานีอวกาศนานาชาติ

ผลวิจัยล่าสุดซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซาระบุว่า การเดินทางเป็นเวลานานเพื่อปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศลึกนั้น มีความเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตกับนักบินอวกาศอยู่สูงมาก เนื่องจากรังสีคอสมิกที่รุนแรงจะทำลายระบบทางเดินอาหารจนเสียหาย โดยไม่สามารถจะรักษาหรือฟื้นฟูได้

ทีมวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (GUMC) ในสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาซึ่งชี้ว่า การเดินทางสู่ห้วงอวกาศลึกหรือแม้แต่การเดินทางไปยังดาวอังคารนั้น จะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ของมนุษย์อวกาศได้รับความเสียหาย จนกระทั่งทำงานผิดปกติและเกิดมะเร็งขึ้นได้ เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในถูกไอออนหนักของธาตุอย่างเหล็กและซิลิคอนซึ่งมีอยู่ในรังสีคอสมิกชนปะทะตลอดเวลา
◾ใช้ชีวิตในอวกาศนาน 1 ปี จะเป็นอย่างไร?
◾ห้องน้ำอวกาศ
◾ญี่ปุ่นเตรียมทดสอบต้นแบบ "ลิฟต์อวกาศ" ครั้งแรกของโลก

ดร. คามาล ดัตตา ผู้นำทีมนักวิจัยบอกว่า "ไอออนหนักที่มีมวลมาก สร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อและดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตได้มากกว่ารังสีเอกซ์หรือรังสีแกมมา ซึ่งเป็นโฟตอนหรืออนุภาคของแสงที่ไม่มีมวล"

"เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถคิดค้นเกราะป้องกันรังสีคอสมิก ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะปกป้องนักบินอวกาศจากไอออนหนักได้ และแม้เราอาจจะใช้วิธีกินยาต้านผลกระทบไม่พึงประสงค์นี้ แต่ก็ยังไม่มีใครลงมือพัฒนาตัวยาดังกล่าวขึ้นมา" ดร. ดัตตา กล่าว

ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยที่ชี้ว่า รังสีคอสมิกในอวกาศสร้างความเสียหายต่อสมองในระดับที่มีนัยสำคัญ ทั้งทำให้ร่างกายของนักบินอวกาศชราภาพลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย แต่การเดินทางในอวกาศระยะสั้นเช่นการสำรวจดวงจันทร์ จะไม่ทำให้นักบินอวกาศได้รับรังสีคอสมิกมากนัก


SPL
ภาพจากฝีมือศิลปินจำลองการปฏิบัติภารกิจของมนุษย์อวกาศบนดาวอังคาร

ทีมวิจัยของ GUMC ได้ทดลองให้หนูกลุ่มหนึ่งได้รับไอออนหนักของธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นอนุภาคแบบเดียวกับที่นักบินอวกาศต้องเจอในระดับต่ำ โดยมีหนูทดลองที่ได้รับแต่รังสีแกมมาอีกกลุ่มหนึ่งเป็นตัวเปรียบเทียบ ซึ่งผลปรากฏว่าหนูทดลองกลุ่มแรกไม่สามารถดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ และเกิดก้อนเนื้อมะเร็งในระบบทางเดินอาหารขึ้นภายในเวลาไม่นาน

"ระบบทางเดินอาหารของคนเรามีการผลัดเซลล์เนื้อเยื่อชั้นบน และสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนอยู่เสมอทุก 3-5 วัน หากกระบวนการนี้ถูกรบกวนก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติและโรคภัยขึ้นได้" ดร. อัลเบิร์ต ฟอร์เนซ จูเนียร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางของนาซาที่ GUMC กล่าวเสริม

ทีมผู้วิจัยเชื่อว่าความผิดปกติจากรังสีคอสมิกในห้วงอวกาศลึกนี้ สามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของคนเราได้เช่นกัน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาทดลองกันโดยละเอียดต่อไป

ฺฺBBC/NEWS/ไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่