ไม่ง่ายเหมือนในหนัง!!! นักบิน Apollo 16 บอก ส่งมนุษย์ไปดาวอังคารตอนนี้ ถ้าไม่ตายในอวกาศ ก็กลับมาเป็นมะเร็ง!!!

ไม่ง่ายเหมือนในหนัง!!! นักบิน Apollo 16 บอก ส่งมนุษย์ไปดาวอังคารตอนนี้ ถ้าไม่ตายในอวกาศ ก็กลับมาเป็นมะเร็ง!!!

23 ธันวาคม 2557 - โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    



พลจัตวา ชาร์ล ดุค (Brigadier General Charles Duke) นักบินอวกาศอพอลโล 16



ตัวแทนด้านอวกาศจากสหรัฐฯ ชี้หากส่งมนุษย์ไปดาวอังคารตอนนี้ “ไม่ตายในอวกาศ ก็กลับมาเป็นมะเร็งบนโลก” เพราะเทคโนโลยีป้องกันรังสียังไม่คืบ แถมยานยังสร้างไม่สำเร็จ ต้องใช้งบประมาณพัฒนามหาศาล ลุ้นต่อไปอีก 20 ปีอาจได้เห็น
       
       พลจัตวา ชาร์ล ดุค (Brigadier General Charles Duke) มนุษย์อวกาศในปฏิบัติการอพอลโล 16 (Apollo 16) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการมาส์วัน (Mars One) โครงการของเอกชนที่มีแผนส่งมนุษย์ไปตั้งรกรากอยู่บนดาวอังคาร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับนาซาว่าโครงการดังกล่าวยังคงมีงานวิจัยและพัฒนาดำเนินอยู่เรื่อยๆ แต่เขาเห็นว่ายังไม่สามารถทำอะไรมากได้เพราะขาดสิ่งที่สำคัญคือสุดคือ “งบประมาณ”
       
       เนื่องจากการส่งมนุษย์หรือยานสักลำออกไปสำรวจอวกาศหรือดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากชั้นบรรยากาศของโลกนั้น ดุคระบุว่าต้องใช้ทั้งกำลังกายของนักวิจัย กำลังเงินของผู้ให้การสนับสนุน รวมถึงการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของนักบินอวกาศที่จะเข้ามาร่วมโครงการ เพราะการออกไปอยู่นอกโลกแม้เพียงเสี่ยววินาทีนั่นหมายถึง “ชีวิต”
       
       “การจะส่งคนไปดาวอังคารมันยากมากนะ ต้องวางแผนอย่างดี ต้องมีวิศวกรที่เป็นเลิศ ต้องมีเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับสิ่งมีชีวิตในอวกาศ การไปดาวอังคารไม่เหมือนการเดินทางจากสหรัฐฯ มาประเทศไทยนะ เราจำเป็นต้องพัฒนาทุกอย่างจนถึงเกณฑ์ที่เราตั้งไว้ว่าจะปลอดภัยและอันตรายน้อยที่สุดต่อนักบินของเรา และสิ่งที่เราขาดและต้องการมากที่สุด คือ ผู้นำและเงินทุนมหาศาล ไม่ใช่เพียงผู้นำของนาซา หรือสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้นำจากหลายๆ ประเทศมาร่วมมือกันให้เป็นพลังอำนนาจที่ยิ่งใหญ่ เพราะนี่คือการส่งมนุษย์ตัวเป็นๆ แบบพวกเราขึ้นไปก็ต้องใช้ความร่วมมือจากคนทั้งโลกจึงจะดีที่สุด” ดุคเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
       
       อดีตนักบินอวกาศในโครงการอพอลโลระบุว่า การเดินทางในอวกาศล้วนแต่มีความเสี่ยงที่นักบินอวกาศและผู้เกี่ยวข้องทุกคนรู้ดี การเตรียมพร้อม การมีแผนสำรอง และการมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจว่าภารกิจต้องประสบความสำเร็จ เพราะเขาเองยังเคยทำปฏิบัติการอพอลโลเมื่อ 42 ปีก่อนสำเร็จ ทั้งที่เทคโนโลยียังล้าสมัยกว่าตอนนี้มาก และเขามีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจิตวิญญาณแห่งความอยากของมนุษย์ที่จะไปให้ถึงดาวอังคาร จะเป็นแรงผลักดันชั้นดีที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จ
       
       "อาจจะอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้าแต่ผมเชื่อว่าต้องสำเร็จอย่างแน่นอน" พลจัตวา ชาร์ล ดุคเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ระหว่างมาเยือนไทย
       
       ด้าน อีริค ฟรี (Eric Free) ช่างเทคนิคแห่งศูนย์อวกาศและจรวดสหรัฐ (U.S. Space and Rocket Center) แสดงทัศนะว่า การส่งมนุษย์ขึ้นไปยังดาวอังคารเป็นสิ่งที่ยากและอันตรายมาก เพราะไม่เคยมีมนุษย์คนใดไปมาก่อน และสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ รังสี เพราะการออกไปนอกวงโคจรสิ่งแรกที่จะเจอและต้องเจอแน่ๆ คือรังสีที่มีความเข้มสูงมากในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ แล้วก็จะไปถึงดาวอังคารได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน หรือรวมเวลาไปกลับอยู่ที่ประมาณ 1 ปีครึ่ง
       
       "นั่นเป็นสิ่งที่ต้องคิดและพัฒนาอีกเยอะมาก ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี วัสดุศาสตร์ ตลอดจนความรู้พื้นฐานซึ่งตอนนี้เราอยู่ในสถานะที่ ยังไม่พร้อม อีกอย่างคือ ปัญหาจากสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เพราะคนที่อยู่ในสภาวะนั้นนานๆ กระดูกและกล้ามเนื้อจะสลาย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเพราะการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้พวกเขารอด" ช่างเทคนิคจากศูนย์อวกาศและสหรัฐฯ เผย
       
       ฟรีเผยอีกว่า ขณะนี้มีการทดลองศึกษาแล้วในสถานีอวกาศเพื่อหายาที่ลดปัญหาการสลายของกระดูกและกล้ามเนื้อ และพัฒนายานอวกาศที่มีชิ้นส่วนให้คนอาศัยอยู่ได้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเท่าที่เขาทราบมาก็จะมีส่วนของยานให้คนอยู่ในระยะ 21 วัน 1 ส่วน อยู่ได้ 100 วันอีก 1 ส่วนแล้วก็กำลังมีการศึกษารูปแบบเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าอยู่ของมนุษย์ไปให้ได้มากถึง 500 วัน แต่คาดว่าต้องใช้เวลานานอีกหลายปีจึงจะสำเร็จ
       
       “ที่ผมกังวลมากที่สุดคือ เรื่องของรังสี นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากจริงๆ นอกชั้นบรรยากาศมีทั้งรังสี ทั้งประจุที่เรายังไม่รู้จักมันอีกมากมาย เราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร? เพราะตอนนี้ทั้งชุดอวกาศและยานอวกาศไม่สามารถป้องกันรังสีที่มีความเข้มสูงๆ ได้เลย หรือได้ก็เพียงแค่เล็กน้อยในระยะเวลาสั้นๆ ถ้าหากเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพการส่งยานไปดาวอังคารกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในขณะนี้ ก็มีอยู่ 2 ทางเลือก คือไปไม่ถึงดาวอังคาร หรือกลับมาแล้วมนุษย์อวกาศกลายเป็นมะเร็ง 100%” ฟรีระบุ
       
       ส่วน เจนนิเฟอร์ โครเซีย (Jennifer Crozier) ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์อวกาศและจรวดสหรัฐ กล่าวว่า โครงการที่จะส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร เป็นที่พูดถึงกันมากในสหรัฐฯ และนาซาต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อมาพัฒนาโครงการนี้ เช่นเดียวกับที่สมัยก่อนที่จะมีการส่งอพอลโลไปดวงจันทร์ก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการ มีการทดสอบอะไรหลายๆ อย่างบนสถานีอวกาศ
       
       "ฉันก็ยังไม่ค่อยเห็นอะไรคืบหน้ามากเช่นกัน แต่ฉันเชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยากที่จะคะเนได้ว่าในอีก 20 ปีหน้าโลกของเราจะอยู่ในหน้าตาแบบไหน เพราะบางทีมันก็อาจจะล้ำไปมากจนฉันนึกไม่ถึง แต่ฉันเชื่อมั่นในศักยภาพของนาซาและนักวิจัยที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้เราใช้ แล้วก็เชื่อมั่นว่าอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า มนุษย์จะต้องไปสำรวจดาวอังคารได้อย่างแน่นอน เพราะมนุษย์ไม่มีขีดจำกัดในการทำอะไร ทุกคนมีศักยภาพ ฉันเชื่อแบบนั้น" โครเซียกล่าว

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000140292



อีริค ฟรี (Eric Free) ช่างเทคนิคแห่งศูนย์อวกาศและจรวดแห่งสหรัฐฯ



เจนนิเฟอร์ โครเซีย (Jennifer Crozier) ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์อวกาศและจรวดแห่งสหรัฐฯ









แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่