ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รถเมล์ไทยจะต้องถูกปฏิรูป

เป็นที่ทราบดีว่าการเดินทางสำหรับในเมืองหลวงที่คนส่วนมากใช้บริการมากที่สุด ก็คือ “รถเมล์” เพราะรถเมล์เข้าถึงพื้นที่ของ กทม. ได้ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ (ตลอดถึงจังหวัดใกล้เคียง) และมีระยะเวลาการให้บริการต่อวันที่ยาวนานหากเทียบกับรถไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบขนส่งเช่นกัน
.
รถเมล์ไทยบริหารจัดการโดย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ชื่อย่อ: ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการจากรัฐบาลพอสมควร
.
จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่กิจการรถเมล์ไทยโดย ขสมก. ให้บริการ เราเห็นพัฒนาการความก้าวหน้าหลายอย่างมาบ้างแล้ว แต่ถึงอย่างไรทุกคนก็ต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า ถึงแม้จะมีการพัฒนา แต่ยังไปไม่ถึงจุดที่รถเมล์ไทยควรจะเป็น
.
ในทางกลับกัน รถเมล์ไทยต่างประสบพบเจอปัญหามากมาย ผมเลยอยากใช้พื้นที่นี้เพื่อสื่อสารให้เห็นถึงปัญหา หลังจากที่ผมดำเนินการหลายช่องทางอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการพัฒนา แต่ถึงจะใช้ช่องทางนั้นอย่างไร ก็ยังไม่เห็นวี่แววแห่งการพัฒนาปรับปรุงแต่อย่างใด ก็เลยเกิดความหดหู่อยู่ไม่น้อย
ปัญหาที่ผมประสบพบเจอ เช่น
.
1. สภาพรถเมล์ที่เก่า ซึ่งมีทีท่าว่าจะไม่ปลอดภัยแก่คนใช้บริการ
2. รถเมล์ในบางสายมีเป็นจำนวนมาก แต่ในบางสายรอแล้วรออีก
3. ในสายไหนที่รถเมล์มีเป็นจำนวนมาก รถเมล์มักจะต้องการผู้โดยสารเป็นที่ตั้ง จนละเลยการเป็นคนขับรถที่ดี มีการขับรถแข่งกันเพื่อแย่งผู้โดยสาร โดยเฉพาะรถร่วมบริการ ในเรื่องนี้เคยร้องเรียนไปแล้วแต่ไม่เคยมีการพัฒนาปรับปรุง
4. ช่องทางการร้องเรียนไม่มีความชัดเจน ไม่มีการเขียนติดไว้ตามรถ เห็นได้จากมีหลายคันที่ไม่มีป้ายหน้ารถว่าคนขับรถชื่ออะไร รถหมายเลขอะไร ส่วนมากจะเห็นแค่ในรถ ขสมก. แต่ไม่มีในรถร่วมบริการ ทำให้เวลาจะร้องเรียนจะเกิดความลำบากมากในการร้องเรียน
5. ความไม่มีตรรกะในการปล่อยรถ คือช่วงเวลาที่ควรจะปล่อยรถออกมาหลายคันอย่างเวลาเลิกงานกลับไม่มี (เข้าใจว่าบางทีปล่อยมาแล้วรถอาจจะติด แต่อย่าลืมว่าคนใช้บริการรถเมล์ก็มีไม่น้อย) แต่ในเวลาทั่วไปบางทีเห็นมาติดต่อกัน 3-4 คันก็มี
6. รถร่วมบริการมักไม่มีวินัยในการขับรถ โดยเฉพาะรถเมล์เล็ก (minibus) ที่จอดไม่ตรงป้าย ผ่าไฟแดง ขับรถเร็วซึ่งเป็นที่น่าหวาดเสียว
7. แอพพิเคชั่นที่ไม่มีประสิทธิภาพ ใช่ได้เฉพาะรถ ขสมก.อย่างเดียว แต่ไม่มีชนิดอื่นๆ และแผนที่ในแอพไม่ตรง ใช้ยากด้วย
8. ไม่มีสำนึกที่ดีในการเป็นผู้ให้บริการ
ฯลฯ
.
นี่เป็นเพียงตัวอย่างปัญหาที่พบเจอบ่อยๆ จากผู้ใช้บริการ
.
ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการพาณิชยกรรม ที่นอกจากให้บริการสาธารณะแล้วจะต้องแสวงหากำไรจากผู้ใช้บริการในการมาดำเนินงานในองค์กรเอง แต่ในการดำเนินการที่ผ่านมา ขสมก. กลับขาดทุนทุกปี และในแต่ละปีรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินอุดหนุนกิจการ ขสมก. เป็นจำนวนมาก ในแง่นี้จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ขสมก.ให้บริการรถเมล์แก่คนกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง การที่รัฐบาลนำภาษีซึ่งเป็นของประชาชนทั่วประเทศมาอุ้ม ขสมก. เช่นนี้มันเหมาะสมแล้วหรือ?
.
มีความพยายามที่จะให้ ขสมก. อยู่ภายใต้การบริหารงานและดูแลของ กทม. แต่เนื่องจากต้องรับภาระหนี้ไปด้วย กทม. เลยไม่เอา
.
และหากพิจารณาดูอีกจะพบว่า การที่ ขสมก. ขาดทุนจำนวนมหาศาลนั้น สาเหตุหลักคือมาจากการบริหารงานของ ขสมก.เอง
เช่น - การจ้างงาน จ้างบุคลาการเป็นจำนวนมากโดยไม่สัมพันธ์กับภาระงาน ทำให้ต้องเสียงบประมาณในการเป็นค่าตอบแทนจำนวนมาก
- รถเมล์สายใดที่คนใช้บริการมากๆ ขสมก. มักจะให้เอกชนมาประมูลไป ซึ่งแทนที่ ขสมก.จะได้กำไรจากการประกอบกิจการจากสายนั้น กลับกลายเป็นว่าเอกชนเป็นฝ่ายได้ซึ่งเป็นจำนวนมากด้วย และขสมก.ก็รับไปแต่สายที่คนขึ้นน้อยๆ
- การไม่มีแผนงานที่ชัดเจนในการบริหารงาน ในบางทีก่อให้เกิดความสินเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เช่น การซื้อทีวีมาติดตามรถเมล์แต่ละคัน ซื้อมานานแล้ว แต่ไม่ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันสักที ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าไหร่ ไม่นับรวมตู้สีส้มหยอดเหรียญที่ไม่มีการใช้งานแต่อย่างใด
- และเรื่องข่าวทุจริตเอื้อฉาวที่ได้ยินมาเป็นระยะ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้างและอะไรในหลายๆ อย่าง
.
ปัญหาเหล่านี้เราทุกคนต่างไม่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และผมเองพยายามจะช่วยให้รถเมล์ไทยอย่างน้อยให้มีระบบการให้บริการที่ดี แต่จะร้องเรียนอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น การตั้งกระทู้นี้ไว้เพื่อจะเป็นช่องทางให้คนในสังคมเกิดสำนึกร่วมกันว่าสิ่งเหล่านี้เราจะต้องมีการพัฒนา เพราะบางทีเราอยู่กับปัญหาจนเกิดความเคยชิน จนไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหา
.
ในกระทู้นี้มีการพาดพิงหน่วยงานไปเต็มๆ แต่เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีในสังคมไทย หวังว่าหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้มาเห็นกระทู้นี้จะมีการดำเนินการอะไรบางอย่างในทิศทางที่ดี ไม่ใช่แค่การแก้ข่าวแล้วปล่อยให้เรื่องจบๆ ไป
.
ขอบคุณพันทิปที่ให้พื้นที่นี้
รถเมล์ไทยจะต้องถูกปฏิรูป!!!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่