บันทึกย่อ ธรรมะบรรยาย เรื่อง เหตุปัจจัยของสมาธิ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

จิตมีองค์ธรรมมีมากมาย แต่ในอริยมรรคก็จะมี สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
สติมีความสำคัญมาก เพราะทำให้กิจทั้งปวงสำเร็จได้ ขาดสติ ก็ทำอะไรไม่ได้เลย
ทำอะไรไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวเลยถ้าขาดสติ
สติเป็นตัวจับตัวยึดอารมณ์ เพื่อให้องค์ธรรมอื่นๆรวมทั้งปัญญาได้ทำงานต่อไปได้

วิริยะเป็นตัวเดินหน้า ทำให้กิจการงานก้าวหน้าต่อไปได้
สมาธิ เปรียบเสมือน แท่น โต๊ะทำงาน หรือเวที ที่มีไว้ทำงาน
ถ้าแท่น หรือ เวที ไม่แน่น ไม่มั่นคง ก็ทำงานไม่ได้
แต่ถ้าแท่น หรือเวทีมั่นคง ก็ทำให้ทำงานต่อไปได้ดี

องค์ธรรมอื่นๆ เช่น สัมมาทิฏฐิ ก็หมายถึงความรู้ความเข้าใจ เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นปัญญา
ทิฏฐิที่ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่เรียกว่า ญาณ อาจจะเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ได้
ซึ่งต้องระวัง....

สัมมาสังกัปปะ ความดำริ ก็เป็นไปตามสัมมาทิฏฐิ คิดเห็นอย่างไร ก็ดำริไปทางนั้น
จึงได้กล่าวว่า สัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัยในองค์มรรคทั้งหมด เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ
และเมื่อดำริไป คิดพิจารณาแล้ว เกิดโยนิโสมนสิการ ใช้จิตทำงาน ก็เกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฏฐิอีก

สัมมากัมมันตะ เว้นจากการประพฤติผิด
สัมมาวาจา เว้นการใช้คำพูดที่ผิด
ข้อสังเกต ข้อสังเกตตรงนี้คือ... ในองค์มรรคจะกล่าวถึงการเว้น
แต่ในธัมมจริยา จะบอกให้กระทำในสิ่งที่ตรงข้าม เช่น มีเมตตา
ตรงนี้ก็เพราะ เวลาองค์มรรค์ทั้ง ๘ ทำงาน จะทำงานพร้อมกัน เป็นมัคคสมังคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในขณะที่กำลังปฏิบัติ กายวาจาก็เรียบร้อยอยู่แล้ว ไม่ได้ไปเบียดเบียนอะไร
ส่วนธัมมจริยา เป็นการนำไปปฏิบัติเฉพาะเรื่อง เช่น เมตตากรุณาต่อสัตว์โลก
ไม่ได้เป็นเรื่องขององค์รวมของอริยมรรค
(ตามความเข้าใจก็คือ มันจัดอยู่ในกาลและวาระแตกต่างกัน)

ธรรมะทั้ง ๕ ที่กล่าวมานี้ ก็เป็นการใช้ประโยชน์ที่ควรเน้นในการปฏิบัติธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสถึงความก้าวหน้า เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าปฏิบัติถูกต้อง
เป็นธรรมที่เกื้อหนุนความเจริญงอกงามของในธรรม(อื่น)ต่อไป

โดยจะให้ทุกคนมีพื้นใจเป็นปราโมทย์ สดชื่นเบิกบาน
ถ้าใจมีนิวรณ์ ห่อเหี่ยวหดหู่ เซื่องซึม หรือฟุ้งซ่าน เครียด ไม่อาจจะทำให้ใจใช้งานได้
ไม่ว่าจะทำกิจการใดๆก็ตาม ถ้าจิตมีปราโมทย์ จิตก็พร้อมที่จะมีสมาธิโดยไม่ต้องเรียกร้อง
ทำปัจจัยให้พร้อม ผลก็จะเกิด
การปฏิบัติจึงไม่ควรเครียด เพราะเครียดแล้วก็ทุกข์ จิตดิ้นรน ก็เกิดสมาธิไม่ได้

*******************************************************

เป็นการบันทึกย่อในการฟังธรรมะบรรยายเรื่อง เรื่อง เหตุปัจจัยของสมาธิ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ธรรมกถาแสดงแก่พระนวกะและคณะโยมญาติมิตร
ซึ่งไม่รับรองความถูกผิดทั้งนั้น 555 หาฟังได้ตามคลิปข้างล่างนะจ๊ะ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

อย่างที่ฉันเคยคิดไว้หลายครั้งแล้วว่า ที่ปฏิบัติสมาธิกันไม่ได้ผลนั้น ส่วนใหญ่... ไม่รู้เรื่องอะไรกันเลย
สักแต่ว่านั่งหลับตาแล้วก็... พยายามเอาจิตจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ซึ่งฝืนจากความเคยชินของเราอย่างมากมายมหาศาลบานตะเกียงเพียงเธอหลับตาหา...
ความเคยชินของเราคือ ฟุ้งซ่าน วอกแวก สับสน อลหม่าน ควานหาเรื่อง เฟื่องเรื่องกิเลสและเพศรส
อาจารย์หรือครูที่สอนจึงสำคัญมาก ที่จะต้องสอนให้เรามีจิตน้อมไปในความยินดีแห่งความสงบ..
มีหลายวิธีนะ...
พูดมาถึงตรงนี้ อีกนัยหนึ่งที่ฉันคิดก็คือ... ครูสอนสมาธิไม่ได้เรื่องนั่นเอง สอนกันตามมีตามเกิดหรือยังไงก็ไม่แน่ใจนัก
อย่าไปอ้างสังคม อ้างสิ่งแวดล้อมอะไรกันเลย เรื่องสมาธิเป็นเรื่องของใจ
ทำยังไงให้ใจพร้อมที่จะมีสมาธิ อย่างแรกง่ายๆก็คือ มีฉันทะ ในการเจริญสมาธิ
แค่ข้อนี้มากกว่าครึ่งก็สอบตกแล้ว เจริญสมาธิเพราะจำใจต้องทำ เหมือนกลืนยาขมกัน
ไม่ยินดีที่จะทำจริงๆ จิตหดหู่ไม่ดูไม่แล ไม่เคยแคร์กันเลย
ไม่ได้ทำด้วยใจรื่นเริง ปราโมทย์จะมีได้ไง....?
พอบอกว่าจะไปนั่งสมาธิ จิตมันต้องยินดี มีความร่าเริง เหมือนกับชวนหนุ่มกระทงไปแอ่วสาวบ้านเหนือ

ปราโมทย์ คำๆเดียว บางคนก็อาจจะไม่รู้จักมันเลยก็เป็นได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่