รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โอกาสและความท้าทายของผู้ลงทุน

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกำลังเปิดประสบการณ์ใหม่ด้านการคมนาคมขนส่งให้กับประเทศไทย หลังจากที่เรามีประสบการณ์กับรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินมาระยะหนึ่งแล้ว

แต่การทำรถไฟความเร็วสูงยากกว่าการทำรถไฟฟ้าในเมืองมาก เพราะถือเป็นวิศวกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และมีความละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การควบคุมระบบอาณัติสัญญาณ ระบบรักษาความปลอดภัย ตัวรถ การบำรุงรักษา การบริหารจัดการ ฯลฯ ซึ่งแต่ละส่วนต้องใช้งบประมาณและความเอาใจใส่อย่างสูง

การทำรถไฟความเร็วสูงให้ประสบความสำเร็จจึงยาก และใช้เวลาคืนทุนค่อนข้างนาน โดยปกติประมาณ 30 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนให้ประสบความสำเร็จ เช่น รัฐบาลลงทุนเอง หรือช่วยลงทุนในด้านโครงสร้าง ที่เป็นส่วนที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อแบ่งเบาความเสี่ยงของภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุน หรือให้เอกชนบริหารจัดการเอง หรือช่วยหาช่องทางให้ผู้เข้ามาลงทุนสามารถคืนทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นการการันตีจำนวนผู้โดยสาร (หมายถึงว่า หากเส้นทางนั้น จำนวนผู้โดยสารใช้บริการน้อยไม่ถึงเป้า รัฐบาลจะช่วย subsidize) หรือการส่งเสริมด้านการทำธุรกิจทีเกี่ยวเนื่องตลอดเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน เป็นต้น


สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นอกจากเอกชนจะต้องลงทุนระบบโครงสร้างเองแล้ว ยังไม่มีการการันตีจำนวนผู้โดยสาร นั่นหมายความว่าเอกชนที่มาลงทุนต้องแบกรับต้นทุนและความเสี่ยงสูงมากตลอดระยะเวลาสัมปทาน จึงหวังพึ่งปริมาณผู้โดยสาร เพื่ออาศัยค่าโดยสารเป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียวไม่ได้

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยยังประเมินว่า ค่าซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3%-5% ของราคาขบวนและระบบรถไฟ ซึ่งเมื่อประเมินตลอดอายุสัมปทาน 30 ปีแล้ว มูลค่าในการซ่อมบำรุงจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าปัจจุบันสุทธิของขบวนและระบบรถไฟเลยทีเดียว แปลว่า เอกชนผู้ลงทุนต้องแบกรับต้นทุนที่สูงมากอีกอย่างหนึ่ง

ดังนั้นหากจะให้โครงการไปรอด มีผู้สนใจเข้ามาลงทุน รัฐก็ต้องหาหนทางช่วยให้ผู้เข้ามาลงทุนมีช่องทางสร้างรายได้อื่นเพิ่ม เพื่อชดเชยรายได้จากค่าโดยสาร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศทำกัน

สำหรับโครงการนี้ รัฐบาลได้กำหนดไว้ใน TOR ให้มีการพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน ซึ่งอยู่ในทำเลที่สามารถพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ และสถานีศรีราชา เพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้เอกชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งทางราง

  
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ชี้ว่า รายได้จากค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และรายได้อื่น ๆ เช่น การให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟ ค่าโฆษณา ถือเป็นรายได้หลัก 3 ส่วนของรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ โดยรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรม จะช่วยเพิ่มรายได้จากการเดินรถไฟ และเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ เช่น บริเวณ Hang Hua และ Lohas ในฮ่องกง รวมถึงฝรั่งเศสและอิตาลี

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจึงมาพร้อมโอกาสและความท้าทายให้กับผู้ลงทุนและประเทศ แต่ในมุมของนักลงทุน ความท้าทายมักสร้างโอกาสที่ดีเสมอ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมโครงการนี้จึงมีเอกชนรายใหญ่ทั้งในประต่างประเทศให้ความสนใจมาซื้อซองประมูลจำนวนไม่น้อย ซึ่งในด้านหนึ่งก็บ่งบอกถึงศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่